กรมประมง และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมหารือการจัดทำโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำในทะเล

 ฟังเสียงบรรยาย
 หยุดเสียงบรรยาย

เมื่อวันจันทร์ที่ 2 กันยายน 2567 นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง ลงพื้นที่ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งภูเก็ต (ศพช.ภูเก็ต) จังหวัดภูเก็ต ร่วมกับคณะผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อประชุมหารือและศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นสำหรับดำเนินโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำในทะเล โดยจากการประเมินในเบื้องต้น พบว่าศพช.ภูเก็ต เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการดำเนินโครงการฯ โดยกรมประมง และ กฟผ. มีแนวคิดจะร่วมกันดำเนินโครงการวิจัยพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำทะเลชายฝั่ง ซึ่งคาดว่าจะใช้พื้นที่ในการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำในทะเลประมาณ 2 - 3 ไร่ กำลังการผลิตประมาณ 100 - 150 กิโลวัตต์ โดยหน่วยงานของกรมประมงที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินการจัดทำความร่วมมือกับ กฟผ. ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2567 นี้

ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของวงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งในการขับเคลื่อนการเข้าสู่สังคมแห่ง “คาร์บอนต่ำ” ที่เป็นกระแสในปัจจุบัน และเป็นแนวโน้มความต้องการของตลาดในอนาคตอันใกล้อีกด้วย

จากนั้น ในวันอังคารที่ 3 กันยายน 2567 รองอธิบดีกรมประมง ได้ลงพื้นที่ ณ สถานีพลังงานทดแทนพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ต เพื่อเยี่ยมชมและรับฟังการบรรยายเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม รวมถึงระบบควบคุมการทำงานของกังหันลม ซึ่งบริเวณแหลมพรหมเทพเป็นที่ติดตั้งกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้าเป็นแห่งแรกของ กฟผ. และกังหันลมนี้ได้ผลิตไฟฟ้ามาตั้งแต่

ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งพลังงานลมถือเป็นอีกหนึ่งพลังงานสะอาดที่น่าสนใจ สำหรับพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพื่อนำไปใช้ทดแทนพลังงานจากฟอสซิล ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และเป็นสาเหตุสำคัญของสภาพภูมิอากาศของโลกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลง หรือ “ภาวะโลกเดือด“

#กรมประมง

 แชร์เนื้อหา : ส่ง email แชร์ X ส่ง Line แชร์ Facebook