ผลการฟื้นฟูทรัพยากรปลาทูในบริเวณอ่าวไทย

 ฟังเสียงบรรยาย
 หยุดเสียงบรรยาย

ปัจจุบันทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศไทยได้ลดจำนวนลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้ เครื่องมือการทำประมงมีศักยภาพสูงขึ้นและทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำมากขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง จึงได้มีมาตรการเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูปลาที่มีไข่ และเลี้ยงตัวในวัยอ่อน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 15 ก.พ. – 15 พ.ค. ของทุกปี ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร  และสุราษฎร์ธานี

                สำหรับในปีนี้ทางกรมประมงได้บังคับใช้มาตรการอย่างเข้มข้น โดยพบว่าระหว่างในช่วงการบังคับใช้มาตรการปิดอ่าวมีปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะ “ปลาทู” และจากการที่เจ้าหน้าที่กรมประมงได้ควบคุมเฝ้าระวังการทำการประมงมาอย่างต่อเนื่องส่งผลให้การประกาศปิดอ่าวปี 60 พบผู้กระทำความผิดลดน้อยลงโดยจะสังเกตได้จากผลคดีในปี 2560  จึงชี้ให้เห็นว่ามาตรการดังกล่าวสามารถช่วยฟื้นฟูสัตว์น้ำในท้องทะเลได้เห็นผลอย่างชัดเจน 

                อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างยั่งยืน  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมีประกาศ ลงวันที่ 
9 กุมภาพันธ์ 2560 เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง วิธีการทำการประมง และพื้นที่ทำการประมง ที่ห้ามใช้ทำการประมง ในที่จับสัตว์น้ำบางแห่งซึ่งห้ามใช้เครื่องมืออวนทุกชนิดที่ใช้ประกอบเรือกลทำการประมง โดยประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทำการประมงในเขตระยะ 7 ไมล์ทะเล นับจากแนวชายฝั่งทะเลในพื้นที่บางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ยกเว้นการทำประมงด้วยเครื่องมืออวนช้อน ครอบ และยกปลาหมึก ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการบังคับใช้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2560 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2560  เพื่อป้องกันให้ทรัพยากรปลาทูได้มีโอกาสเจริญเติบโต ก่อนถูกจับมาใช้ประโยชน์เวลาอันควร

                และล่าสุดกระทรวงเกษตรฯ จึงได้มีประกาศลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 เพิ่มเติมอีก 1 ฉบับ เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง วิธีการทำการประมง และพื้นที่ทำการประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำบางแห่งของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. 2560  เพื่อให้การอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำมีประสิทธิภาพโดยครอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้น  โดยประกาศฉบับนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 16 พ.ค.- 30 มิ.ย. 60

 แชร์เนื้อหา : ส่ง email แชร์ X ส่ง Line แชร์ Facebook