เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน 2567 ณ ท่าเทียบเรือ ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จังหวัดสมุทรปราการ
อธิบดีกรมประมง มอบหมายให้ นางสาววันทนา เจนกิจโกศล รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องมือประมง กองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล ร่วมส่งคณะนักวิจัยจากกรมประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ออกเดินทางไปยังพื้นที่นอกชายฝั่งทะเลอ่าวไทยห่างจากจังหวัดปัตตานีประมาณ 120 กิโลเมตร เพื่อสำรวจด้านทรัพยากรและสมุทรศาสตร์ ในโครงการศึกษาวิจัยการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลเพื่อการประมงจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม ระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน – 22 กรกฎาคม 2567 รวมระยะเวลา 30 วัน ด้วยเรือสำรวจ MV.SEAFDEC ของศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การสำรวจวิจัยร่วมในครั้งนี้เป็นการดำเนินการเพื่อสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมและมีความเป็นไปได้ในการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลด้วยวัสดุขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมประมง, บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) โดยสำนักงานฝ่ายฝึกอบรม เพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางการใช้ประโยชน์ของขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมส่วนที่ไม่ได้สัมผัสปิโตรเลียมที่สิ้นสุดการใช้งานแล้วแต่ยังมีโครงสร้างมั่นคงแข็งแรง และทนทาน มาจัดสร้างเป็นแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล (ปะการังเทียม) ในบริเวณพื้นที่ที่เหมาะสมในเขตทะเลลึกเพื่อเพิ่มพูนทรัพยากรสัตว์น้ำ เป็นการสร้างระบบนิเวศที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย หลบภัย ของสัตว์น้ำ ฟื้นฟูและทดแทนทรัพยากรสัตว์น้ำที่ถูกใช้ประโยชน์จากการทำประมง ทั้งยังส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนต่ออาชีพประมง และเกิดความยั่งยืนต่อทรัพยากรประมงต่อไป
#กรมประมง