วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม 2567 เวลา 9:00 น. ณศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมสัตว์น้ำชายฝั่ง จังหวัดสงขลา ตำบลเขารูปช้างอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง พร้อมด้วยนายประเทศ ซอรักษ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม นายจรูญศักดิ์ เพชรศรี ผู้ตรวจราชการกรม นายอำนวย คงพรหม ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล นายเดชา ปรัชญารัตน์ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย และนายวิชิต ไชยสาลี ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดสงขลา โดยท่านอธิบดีฯ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันประมงสัมพันธ์ 2567 และเข้าร่วมแข่งขันกีฬา "เปตอง" อีกด้วย สำหรับงาน "แข่งขันกีฬาประมงสัมพันธ์" จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่จังหวัดสงขลา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานสังกัดกรมประมงในพื้นที่จังหวัดสงขลา สตูลปัตตานี ยะลา นราธิวาส และจังหวัดใกล้เคียง
ได้ร่วมแข่งขันกีฬาระหว่างหน่วยงาน เพื่อเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ของบุคลากรภายในหน่วยงาน
นอกจากนี้ ท่านอธิบดีฯ ยังได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีทำลายเครื่องมือประมงผิดกฎหมายในพื้นที่ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและด้านจิตวิทยามวลชนให้กับกลุ่มชาวประมงที่ร่วมอนุรักษ์และใช้เครื่องมือประมงถูกกฎหมาย โดยเป็นการทำลายเครื่องมือประมงที่ยึดได้จากการกระทำผิดของเรือประมง จำนวน 153 คดี ได้แก่
ลอบพับได้ หรือไอ้โง่ จำนวน 40 คดี 1,996 ลูก
อวนรุนติดกับเครื่องยนต์ จำนวน 73 คดี 101 ปาก
อวนลากคันถ่างถ่วงลูกหิน จำนวน 40 คดี 58 ปาก
พร้อมร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในธรรมชาติ และปลูกต้นไม้เป็นที่ระลึกให้กับหน่วยงาน
จากนั้นได้เข้าตรวจเยี่ยมการเพาะพันธุ์ปลา กระบอกดำ กะพงขาว และปลาตะกรับ ที่ดำเนินการภายในศูนย์ฯ เพื่อผลิตเเละจำหน่ายให้เเก่กษตรกรในพื้นที่จังหวัดสงขลาเเละเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งการเพาะพันธุ์ปลากระบอกดำ ปลาตะกรับ ปลากระพงขาว เป็นกิจกรรมการเพาะพันธุ์ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยปลากะพงขาวเป็นปลาที่ทางศูนย์ฯเพาะพันธุ์ได้เป็นแห่งแรกของโลก ตั้งเเต่ปี พ.ศ 2516 และได้มีการพัฒนาจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้เกิดการแข่งขันได้ โดยได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลญี่ปุ่น ผ่านหน่วยงาน JICA เพื่อดำเนินการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ปลากะพงขาว ให้มีความต้านทานโรค ทนทานต่อการลดลงของออกซิเจน และโตดี เพื่อให้ผลผลิตที่ผลิตได้จากกรมประมงเป็นที่ต้องการของเกษตรกร เเละสามารถแก้ปัญหาการสูญเสียจากโรคเเละสภาพเเวดล้อมได้
ในส่วนของปลาตะกรับและปลากระบอกดำ ซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจตัวใหม่แห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ศูนย์ได้ประสบความสำเร็จในการเพาะปลากระบอกดำครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2536 แต่ยังไม่สามารถเพาะพันธุ์ให้ได้ปริมาณมากได้จนกระทั่งปี 2561 ทางศูนย์ได้รวบรวมพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติ มาขุนในโรงเพาะฟัก และมีการศึกษาพัฒนาการเพาะพันธุ์ควบคู่กับการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันสามารถเพาะพันธุ์ปลากระบอกดำจากพ่อแม่พันธุ์ได้ โดยพ่อแม่พันธุ์ทุก 250-300 ตัว จะสามารถ ผลิตลูกปลาขนาด 2-3 เซนติเมตรได้รุ่นละ 30,000-50,000 ตัว ทุกๆ 2 เดือน และดำเนินการจำหน่ายให้แก่เกษตรกร ในราคาตัวละ 2.5 บาท
ในส่วนของการเพาะเลี้ยงปลาตะกรับครั้งแรกของประเทศไทย เริ่มเมื่อปี 2551 โดยปัจจุบันมีพ่อแม่พันธุ์ที่เลี้ยงได้จากการขุนในโรงเพาะฟัก 350-400 ตัว สามารถผลิตลูกปลาขนาด 1 - 1.5 เซนติเมตรได้รุ่นละ 20,000-50,000 ตัว ใช้ระยะเวลาการอนุบาล 2 เดือนต่อรุ่นและจำหน่ายสู่เกษตรกรราคาตัวละ 3 บาท
#กรมประมง
#กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์