กุ้งไทยคุณภาพปลอดภัยไร้สารตกค้าง

 ฟังเสียงบรรยาย
 หยุดเสียงบรรยาย

การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลในประเทศไทยได้มีการพัฒนาและขยายตัวอย่างรวดเร็วมาตั้งแต่ปี 2528 จนปัจจุบันไทยเป็นผู้นำในการส่งออกสินค้ากุ้งทะเลของโลก และสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศปีละกว่าหลายหมื่นล้านบาท
โดยมีศักยภาพในการแข่งขันทั้งด้านการผลิต การแปรรูป และการส่งออกสูงกว่าผู้ส่งออกรายอื่น ๆ ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่อุตสาหกรรมกุ้งทะเลของไทยให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) ในทุกขั้นตอน ตลอดห่วงโซ่การผลิต นับตั้งแต่การเพาะเลี้ยง ไปจนถึงการแปรรูป ที่ส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local content) เป็นหลัก

 

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงให้ความสำคัญและเข้มงวดกับการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลตั้งแต่ในระดับฟาร์ม ทั้งการบริหารจัดการสภาพบ่อเลี้ยง และการใช้ยาและสารเคมีเพื่อให้กระบวนการผลิตกุ้งทะเลเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และผลผลิตกุ้งทะเลมีคุณภาพ ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง โดยมีการสุ่มตรวจปัจจัยการผลิตในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีแผนการตรวจยาและสารเคมีทั้งในฟาร์ม และร้านค้าปัจจัยการผลิตอย่างสม่ำเสมอ มีการเฝ้าระวังและติดตามการใช้ยาและสารเคมีในระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีระบบตรวจสอบย้อนกลับตลอดสายการผลิตมาใช้เป็นเครื่องมือในการสืบค้นแหล่งกำเนิดของกุ้งทะเล รวมทั้ง ให้ความเข้มงวดในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์กุ้งทะเลที่ส่งออกด้วย 

 

ทั้งนี้ กรมประมง ได้มีประกาศเพื่อควบคุมการใช้ยาและสารเคมีในการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มยาและสารเคมีที่ไม่อนุญาตให้ใช้ และกลุ่มยาและสารเคมีที่อนุญาตให้ใช้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

กลุ่มยาและสารเคมีที่ไม่อนุญาตให้ใช้ ได้แก่

Ø คลอแรมฟินิคอล (Chloramphenicol)

Ø ไนโทรฟิวราโซน (Nitrofurazone)

Ø ไนโทรฟิวแรนโทอิน (Nitrofurantoin)

Ø ฟิวราโซลิโดน (Furazolidone)

Ø ฟิวแรลทาโดน (Furaltadone)

Ø มาลาไคท์ กรีน (Malachite Green)

Ø เอนโรโฟลซาซิน (Enrofloxacin)

Ø เจนเทียลไวโอเลท (Gential violet or crystal violet)

 

กลุ่มยาและสารเคมีที่อนุญาตให้ใช้ แต่ต้องไม่ตกค้างในเนื้อกุ้ง ได้แก่

Ø ออกซีเตตราซัยคลิน (Oxytetracycline)

Ø ซาราโฟลซาซาซิน (Sarafloxacin) 

Ø ออกโซลินิค แอซิด (Oxolinic acid)

Ø โทลทราซูริล (Toltrazuril) 

Ø เตตราซัยคลิน (Tetracycline)

Ø ซัลฟาไดเมททอกซีน – ออร์เมทโธพริม  (Sulfadimethoxin-Ormethoprim)

Ø ซัลฟาไดเมททอกซีน-ไตรเมทโธพริม (Sulfadimethoxine-Trimethoprim)

Ø ซัลฟาไดเมททอกซีน  (Sulfadimethoxine)

Ø ซัลฟาโมโนเมททอกซีน (Sulfamonomethoxine)

Ø ซัลฟาไดอาซีน (Sulfadiazine)

Ø ไตรเมทโธพริม (Trimethoprim)

Ø ออร์เมทโธพริม (Ormethoprim)

 

อย่างไรก็ตาม  ในการใช้ยาและสารเคมีที่อนุญาตให้ใช้จะต้องใช้อยู่ในปริมาณและวิธีการที่เหมาะสม ภายใต้การตรวจสอบจากกรมประมง ซึ่งจะมีการวิเคราะห์สารตกค้าง หากพบการฝ่าฝืนใช้ยาและสารเคมีต้องห้าม หรือพบสารตกค้างเกินกว่าที่กำหนดจะถูกดำเนินการเพิกถอนใบรับรอง และไม่สามารถยื่นขอรับรองได้ในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 180 วัน รวมทั้งถูกขึ้นชื่อเผยแพร่บนเว็บไซต์ และในกรณีอยู่ในระหว่างการยื่นขอการรับรองจะไม่ได้การรับรองและไม่สามารถยื่นขอรับรองได้ในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 180 วัน  และจะถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย โดยบทมาตรการดังกล่าวมีไว้เพื่อควบคุมดูแลการใช้ยาและสารเคมีให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

 

อธิบดีกรมประมง กล่าวขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการในการ “ไม่ขาย ไม่ใช้ และไม่ซื้อ” ยาหรือสารเคมีต้องห้าม รวมทั้ง  มีการใช้ยาหรือสารเคมีที่อนุญาตอย่างถูกต้อง เพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรม
กุ้งไทย และเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคในมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารของกุ้งไทย

 

 

                                                                                                                        ฝ่ายประชาสัมพันธ์    4  ตุลาคม  2559

                                                                                    

 แชร์เนื้อหา : ส่ง email แชร์ X ส่ง Line แชร์ Facebook