วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 134 ชั้น 3 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือผ่านระบบประชุมทางไกล Zoom Cloud Meetings
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมประมง เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ครั้งที่ 5/2564 โดยมีนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในการประชุม ซึ่งที่ประชุมรับทราบผลการออกใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ ปีงบประมาณ 2564 (ข้อมูล 1 ต.ค. 63 - 31 ก.ย. 64) การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มผลิตลูกกุ้งขาวแวนนาไมปลอดโรค (มกษ.7432-2558) และได้มีมติเห็นชอบเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเล และประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไปของประเทศ ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวครอบคลุมข้อกำหนดฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเลในสกุลพีเนียส ลิโตพีเนียส และเมตาพีเนียส เช่น กุ้งกุลาดำ กุ้งแชบ๊วย กุ้งขาวแวนนาไม ตั้งแต่ขั้นตอนการเลี้ยง การจับ จนถึงหลังการจับก่อนการขนส่งออกจากฟาร์ม เพื่อให้ได้ผลผลิตกุ้งที่มีคุณภาพดี ปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยคำนึงถึงสุขภาพและสวัสดิภาพสัตว์ ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
2. เห็นชอบร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การแสดงฉลากสินค้าเกษตร และประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไปของประเทศ ซึ่งมาตรฐานนี้ครอบคลุมการแสดงฉลากของสินค้าเกษตร ทั้งที่เป็นอาหารและที่ไม่ใช่อาหาร ซึ่งบรรจุในหีบห่อสำหรับผู้บริโภค (สินค้าประมงมีชีวิต) หรืออยู่ในภาชนะบรรจุที่ไม่ได้จำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภค (สินค้าประมงมีชีวิตที่ไม่ใช้เป็นอาหาร) แต่มาตรฐานนี้ไม่ครอบคลุมการแสดงฉลากของสินค้าเกษตรที่อยู่ในรูปแบบบัลก์ (bulk) ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่ไม่ได้บรรจุหีบห่อ และสินค้าเกษตรนั้นสัมผัสโดยตรงกับพื้นผิวสัมผัสของพาหนะที่ใช้ขนส่งสินค้าเกษตรและบรรยากาศ เช่น สินค้าเกษตรที่บรรทุกในท้ายรถบรรทุกแบบเทกอง
3. เห็นชอบการจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร และการแต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการพิจารณามาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง ห่วงโซ่การควบคุมผลิตภัณฑ์กุ้งทะเลจากการเพาะเลี้ยงอย่างยั่งยืน (Chain of Custody for Shrimp Product from Sustainable Aquaculture) และองค์ประกอบคณะกรรมการวิชาการพิจารณามาตรฐานสินค้าเกษตร ซึ่งมาตรฐานนี้ครอบคลุมหลักเกณฑ์การปฏิบัติในระบบบริหารจัดห่วงโซ่การผลิตและแปรรูปกุ้งทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์กุ้งทะเลได้มาจากกุ้งทะเลที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน โดยครอบคลุมข้อกำหนด การชี้บ่ง แยกแยะ ตามสอบวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ เพื่อป้องกันการปะปนและปนเปื้อนกับสินค้ากุ้งทะเลที่ไม่ได้มาจากการเพาะเลี้ยงอย่างยั่งยืนในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทาน และมีเนื้อหาสอดคล้องตามข้อกำหนดของ Global Sustainable Seafood Initiative (GSSI) ซึ่งจะทำให้มาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองมาตรฐานกุ้งทะเลของไทย ได้รับการยอมรับ เพิ่มโอกาสในการแข่งขันในตลาดโลกให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการไทย โดยองค์ประกอบคณะกรรมการฯ มีอธิบดีกรมประมงหรือผู้ที่อธิบดีฯ มอบหมาย เป็นประธานกรรมการ
4. เห็นชอบการปรับปรุงคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับดูแล ระบบแจ้งเตือนความปลอดภัยอาหารและอาหารสัตว์สำหรับประเทศไทย โดยมีอธิบดีกรมประมงหรือผู้แทน เป็นอนุกรรมการ