ณ แคมป์ปลาเอินกรมประมง บ้านน้ำไพร ตำบลสังคม อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย

 ฟังเสียงบรรยาย
 หยุดเสียงบรรยาย

วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน 2564 ณ แคมป์ปลาเอินกรมประมง บ้านน้ำไพร ตำบลสังคม อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง พร้อมคณะผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดในจังหวัดภาคอีสาน นักวิชาการประมง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ประมง ร่วมเดินทางเพื่อเยี่ยมชมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการในกิจกรรมเพาะขยายพันธุ์ปลาเพื่อคงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงในแม่น้ำโขง โดยมีนายทองรถ อ่างมัจฉา ชาวบ้านเจ้าของที่ดิน ดร.สุทัศน์ เผือกจีน ประมงจังหวัดหนองคาย และนายอนุพงษ์ สนิทชน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดหนองคายให้การต้อนรับ

แคมป์ปลาเอิน เป็นกิจกรรมการเพาะพันธุ์ปลาเอิน หรือ ปลายี่สกไทย ที่กรมประมงจัดให้มีขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งแคมป์ที่นี่เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวประมงท้องถิ่นและชาวบ้านในพื้นที่ให้การต้อนรับและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยการเพาะพันธุ์ในแต่ละปีกรมประมงจะรับซื้อปลายี่สกไทยเพศผู้และเพศเมียมีชีวิตที่ชาวประมงท้องถิ่นจับได้จากแม่น้ำโขง ซึ่งมีขนาดน้ำหนักตั้งแต่ 10 กิโลกรัมขึ้นไป นำมาตรวจสอบความสมบูรณ์เพศโดยการสังเกตจากลักษณะทางกายภาพภายนอกและตรวจสอบความสมบูรณ์ของไข่และน้ำเชื้อภายในตัวแม่และพ่อปลาโดยใช้เทคนิควิธีทางวิชาการ และทำการเพาะพันธุ์ด้วยวิธีการฉีดกระตุ้นเพศเมียด้วย Luteinizing Hormone-Releasing Hormone analogue (LHRHa) 15 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ Domperidone 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (น้ำหนักปลาเพศเมีย 14 กิโลกรัม) ฉีดฮอร์โมนบริเวณช่องท้อง ส่วนปลาเพศผู้ ปีนี้มีขนาด 5 กิโลกรัม ฉีดฮอร์โมน LHRHa ที่ความเข้มข้น 15 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ยกเว้นหากปีใดตัวผู้มีน้ำเชื้อดีจะไม่ฉีดฮอร์โมน หลังจากนั้นรอจนไข่แก่เต็มที่ จึงทำการรีดไข่ปลาผสมกับน้ำเชื้อปลายี่สกไทยเพศผู้ นำไข่ที่ได้รับการผสมแล้วกลับไปใส่ถังเพาะและอนุบาลลูกปลาและปล่อยคืนกลับสู่แม่น้ำโขงต่อไป เป็นการคงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงในแม่น้ำโขง เกิดการใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน

 แชร์เนื้อหา : ส่ง email แชร์ X ส่ง Line แชร์ Facebook