วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมปลาลัง ชั้น 7 อาคารกองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล กรมประมง
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการด้านความหลากหลายและด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง ครั้งที่ 7/2564 เพื่อพิจารณาการขออนุญาตนำเข้าปูขนมีชีวิต (Eriocheir sinensis) เพื่อจำหน่ายในร้านอาหารสำหรับการบริโภค
ซึ่งที่ประชุมได้มีการนำข้อมูลอย่างรอบด้านมาประกอบการพิจารณา เพื่อกำหนดเงื่อนไขหากอนุญาตให้มีการนำเข้าเรื่องจากเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่น อาทิ ช่วงระยะเวลาและปริมาณการนำเข้า วิธีการจัดเก็บเพื่อการบริโภค การรับรองมาตรฐานความปลอดภัย เป็นต้น
ปูขนจีน พบการแพร่กระจายในคาบสมุทรเกาหลีและประเทศจีน สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศหนาวและน้ำเย็นจัด มีวงจรชีวิตอาศัยในทะเลสาบที่มีน้ำสะอาด และเย็นจัด เป็นสัตว์น้ำกลุ่ม Catadromous อาศัยและหากินอยู่ในแหล่งน้ำจืดเป็นส่วนใหญ่ของวงจรชีวิต แต่วางไข่และผสมพันธุ์ในแหล่งน้ำกร่อย หรือทะเล สามารถวางไข่ได้ ครั้งละ 250,000-1,000,000 ฟอง ขึ้นอยู่กับขนาดของแม่ปู ตัวอ่อนของปูจะอาศัยในบริเวณน้ำกร่อยและอพยพไปในพื้นที่น้ำจืดเมื่อโตขึ้น กินพืช สาหร่าย แมลงขนาดเล็ก หอย ปลา กุ้งฝอยเป็นอาหาร ปูขนจีนเป็นสัตว์น้ำที่นิยมในการประกอบอาหาร เนื่องจาก หายาก ราคาแพง มีจำหน่ายเฉพาะช่วงฤดูหนาวเท่านั้น เนื่องจากช่วงเวลานี้ปูจะสะสมอาหารมาก เนื้อแน่น จึงทำให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคจำนวนมาก โดยมีราคาการจำหน่ายในประเทศไทยอยู่ที่ 500-800 บาท
ปูขนจีน จัดเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นที่รุกราน มีรายงานผลกระทบในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีแผนในการจัดการและควบคุมการแพร่กระจายของปูขนจีนอย่างเร่งด่วน โดยไม่อนุญาตให้นำเข้าสัตว์น้ำชนิดนี้ ห้ามค้า ขนส่ง เคลื่อนย้าย และห้ามนำปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ เนื่องจากพบมีการแพร่กระจายในบริเวณ West Coast Great Lakes Chesapeake Bay และชายฝั่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกาและแคนาดา และพบผลกระทบในการรบกวนระบบบำบัดน้ำ อุดตันระบบทางผ่านปลา ระบบสูบน้ำของโรงสูบน้ำ และระบบโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำ (Cohen and Weinstein 2001) เป็นเจ้าบ้านของพยาธิใบไม้ในปอด และพบรายงานการแก่งแย่งอาหารและที่อยู่อาศัยกับสัตว์น้ำพื้นเมือง และมีความทนทานต่อสภาพน้ำเสีย มีการขุดโพรงทำให้เกิดการพังทะลายของตลิ่งและทำให้สภาพนิเวศเปลี่ยนแปลง (U.S.Fish & Wildlife Service, 2020) นอกจากการแพร่ระบาดในทวีปอเมริกาเหนือแล้วยังพบการแพร่ระบาดเกือบทุกประเทศในทวีปยุโรป เช่น ประเทศเยอรมัน ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม รัสเซีย สาธารณรัฐเช็ก ฝรั่งเศส อังกฤษและไอร์แลนด์ เป็นต้น