วันอังคารที่ 26 ตุลาคม 2564 เวลา 10.00 น. นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานในพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำโครงการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำเพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ในแม่น้ำตรัง ณ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำตรัง ถ้ำเขาสามบาตร หมู่ที่ 4 ตำบลนาตาล่วง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง โดยมี นายไพบูลย์ โอมาก รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พร้อมด้วยนายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง นายธเนศ พุ่มทอง ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด นางสาวอรุณี มานะกล้า รักษาราชการแทนประมงจังหวัดตรัง นางสุวรรณดี ขวัญเมือง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดตรัง หัวหน้าส่วนราชการ พี่น้องประชาชนในจังหวัดตรังให้การต้อนรับและร่วมกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำฯ จำนวน 1,500,000 ตัว ประกอบด้วย กุ้งก้ามกราม ขนาด 2-3 นิ้ว จำนวน 200,000 ตัว กุ้งก้ามกรามระยะ Post larva จำนวน 1,000,000 ตัว ปลาตะเพียนขาว จำนวน 150,000 ตัว และปลากระแห จำนวน 150,000 ตัว เพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีนให้กับพี่น้องประชาชนในจังหวัดตรังและพื้นที่ใกล้เคียง และเพื่อเป็นการสืบสาน รักษา ต่อยอด การอนุรักษ์ทรัพยากรและเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติให้มีความอุดมสมบูรณ์ สร้างจิตสำนึกในการดำรงรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในระบบนิเวศ ต่อไป
‘แม่น้ำตรัง’ มีต้นกำเนิดจากเทือกเขานครศรีธรรมราชด้านตะวันตก จากน้ำตกโยง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช และจากเทือกเขาพนมเบญจา จังหวัดกระบี่ และบรรจบกับลำน้ำที่มาจากเทือกเขาบรรทัด จังหวัดพัทลุง ก่อให้เกิดน้ำตกที่ขึ้นชื่อหลายแห่ง เช่น น้ำตกเขาช่อง น้ำตกปากแจ่ม ในพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด เป็นต้น
‘แม่น้ำตรัง’ เป็นแม่น้ำสายสำคัญของจังหวัดตรัง มีความยาวประมาณ 123 กิโลเมตร เมื่ออยู่ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เรียกว่า แม่น้ำหลวง เมื่อไหลเข้าเขตจังหวัดตรัง เรียกว่า แม่น้ำตรัง ในช่วงที่ไหลผ่านอำเภอเมืองตรัง เรียกว่า คลองท่าจีน เดิมใช้เป็นเส้นทางคมนาคม จากดินแดนภายในจังหวัดติดต่อไปยังทะเลที่ปากน้ำกันตัง กล่าวกันว่า ในสมัยโบราณสามารถเดินเรือไปได้ถึงทุ่งสง เดิมแม่น้ำสายนี้มีความกว้างราว 50 เมตร แต่ปัจจุบันบางแห่งเหลือความกว้างเพียง 30 เมตร
แม่น้ำนี้ไหลผ่านท้องที่จังหวัดตรัง 5 อำเภอ คือ อำเภอรัษฎา อำเภอห้วยยอด อำเภอวังวิเศษ อำเภอเมืองตรัง และอำเภอกันตัง แล้วไหลลงทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ที่ปากน้ำกันตัง อำเภอกันตัง แม่น้ำตรัง มีลำน้ำสาขาในจังหวัดตรัง ที่สำคัญ 8 สายได้แก่ คลองชี คลองท่าประดู่ คลองกะปาง คลองมวน คลองยางยวน คลองลำภูรา คลองนางน้อย และคลองสว่าง
‘แม่น้ำตรัง’ ในอดีตมีความอุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์สัตว์น้ำหลากหลายชนิด เช่น พันธุ์ปลาท้องถิ่น พันธุ์ปลาเศรษฐกิจ และกุ้งก้ามกราม ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำตรัง ส่วนใหญ่มีอาชีพตกกุ้ง และจับปลาขายสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งจะสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี กุ้งที่ตกได้จะมีขนาดตั้งแต่ 9-10 ตัวต่อกิโลกรัม ๆ ละ 800 บาท ขนาด 11-15 ตัวต่อกิโลกรัม ๆ ละ 600 บาท ขนาด 30-35 ตัวต่อกิโลกรัม ๆ ละ 220 บาท แต่ปัจจุบันสภาพนิเวศน์วิทยาในแม่น้ำตรังเปลี่ยนแปลงไป แหล่งวางไข่ของสัตว์น้ำถูกทำลาย ทำให้จำนวนสัตว์น้ำลดลง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดตรัง กรมประมง จึงได้รวบรวมพันธุ์สัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ รวมทั้งกุ้งก้ามกราม มาเพาะขยายพันธุ์ และปล่อยลงสู่แม่น้ำตรังต่อไป