นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกกรมประมงร่วมแถลงข่าวกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในประเด็นผลกระทบน้ำท่วมกับภาคการเกษตรด้านการประมง

 บุคคลในภาพ  นายบัญชา  สุขแก้ว (อธิบดีกรมประมง) 
 ฟังเสียงบรรยาย
 หยุดเสียงบรรยาย

วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมกุลาดำ ชั้น 7 อาคารจุฬาภรณ์ กรมประมง นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกกรมประมงร่วมแถลงข่าวกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในประเด็นผลกระทบน้ำท่วมกับภาคการเกษตรด้านการประมง ผ่านระบบการประชุมทางไกลออนไลน์ Zoom Cloud Meetings

นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง จนเกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ ซึ่งได้สร้างความเดือดร้อนและความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนรวมถึงเกษตรกร โดยเฉพาะในภาคการประมง กรมประมงในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบอุทกภัยเป็นอย่างดี จึงได้ดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการประมง” หรือ “ศปภ.ปม.” เพื่อติดตาม วิเคราะห์ สถานการณ์และผลกระทบด้านการประมง ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งปฏิบัติการร่วมกันอย่างเข้มข้น บูรณาการทุกภาคส่วนอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องเกษตรกรได้อย่างรวดเร็ว ทันท่วงที และให้การช่วยเหลือเกษตรกรให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

กรมประมงจึงได้จัดทำแผนเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัยด้านการประมง ซึ่งมี 3 ระยะ ได้แก่

1. การดำเนินการก่อนเกิดภัย เพื่อเตรียมความพร้อม ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยกับเกษตรกรผู้เพาะ

เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พร้อมทั้งให้คำแนะนำด้านวิชาการ วางแผนการจับสัตว์น้ำที่มีขนาดเหมาะสมขึ้นมาจำหน่าย และการเฝ้าระวังโรคสัตว์น้ำที่มากับอุทกภัย

2. การให้ความช่วยเหลือขณะเกิดภัย โดยมอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกรม ดำเนินการติดตามและสำรวจความเสียหาย รวมถึงสั่งการให้หน่วยงานของกรมประมงที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ติดตาม เฝ้าระวัง พร้อมทั้งจัดเรือตรวจการประมง รถยนต์ และเจ้าหน้าที่เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย รวมถึงเข้าร่วมปฏิบัติงานกับแผนฉุกเฉินในพื้นที่

3. การให้ความช่วยเหลือหลังเกิดภัย โดยใช้เงินทดรองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 โดยให้ดำเนินการช่วยเหลือเป็นเงินแก่ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบภัยพิบัติ ดังนี้ 1. เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล หรือหอยทะเล อัตราการช่วยเหลือไร่ละ 11,780 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่ 2. เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงปลา หรือสัตว์น้ำอื่น อัตราการช่วยเหลือไร่ละ 4,682 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่ และ 3. เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง หรือบ่อซีเมนต์ อัตราการช่วยเหลือตารางเมตรละ 368 บาท ไม่เกินรายละ 80 ตารางเมตร ทั้งนี้ กรณีเงินงบประมาณไม่เพียงพอสามารถใช้เงินทดรองราชการในอำนาจของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป

สำหรับความเสียหายด้านประมงในขณะนี้ จากการสำรวจพบพื้นที่คาดว่าจะได้รับความเสียหายแล้ว 231 อำเภอ 39 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง ลำพูน แพร่ พะเยา ตาก เพชรบูรณ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร สุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี นครราชสีมา เลย ชัยภูมิ ขอนแก่น อุบลราชธานี อำนาจเจริญ หนองบัวลำภู ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ มหาสารคาม ยโสธร กาฬสินธุ์ สระบุรี ลพบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร ปราจีนบุรี สระแก้ว ราชบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ตราด และจันทุบรี พื้นที่เสียหายรวมกว่า 54,607 ไร่ และจำนวนกว่า 48,136.88 ตารางเมตร แบ่งเป็น เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง กุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล หรือหอยทะเล 1,223.71 ไร่ เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอื่นที่เลี้ยงในบ่อดิน นาข้าว หรือร่องสวน 53,383.29 ไร่ และเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอื่นที่เลี้ยงในกระชัง บ่อซีเมนต์ หรือที่เลี้ยงในลักษณะอื่นที่คล้ายคลึงกัน 48,136.88 ตารางเมตร รวมเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งหมด 39,264 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายไม่น้อยกว่า 721,148,180 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 19 ตุลาคม 2564) ซึ่งเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมประมงหากได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยในพื้นที่ สามารถขอรับความช่วยเหลือได้โดยให้หน่วยงานกรมประมงภายในจังหวัดพิจารณาดำเนินการให้ความช่วยเหลือต่อไป

ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2564 จนถึงปัจจุบัน กรมประมงได้จัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ประสบภัยเพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยได้นำรถบรรทุกยกสูงและเรือตรวจการประมงประเภทเรือท้องแบนและเรือยางขนาด 13-19 ฟุตจำนวน 16 ลำ พร้อมเจ้าหน้าที่ประจำเรือ 4-5 นายต่อลำ ออกปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเขตพื้นที่น้ำท่วม ที่รถบรรทุกทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างต่อเนื่องในพื้นที่ 12 จังหวัด โดยมีการอพยพประชาชนผู้ป่วย เด็กและคนชรา ในพื้นที่ประสบภัยสู่พื้นที่ปลอดภัย มีการนำส่งเสบียงอาหาร น้ำดื่ม และสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เข้าไปแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ยังอยู่ในพื้นที่

รองอธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า เนื่องจากในระยะนี้ยังมีพายุฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการ พยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงนี้ไปจนถึงวันที่ 23 ตุลาคม 2564 ยังมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ ให้ระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ซึ่งทางกรมประมงเตรียมพร้อมดำเนินการตามแผนรับสถานการณ์อุทกภัยด้านการประมงอย่างเต็มที่ และขอให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด หมั่นดูแลสุขภาพสัตว์น้ำอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถติดต่อขอรับคำแนะนำได้ที่ สำนักงานประมงอำเภอ สำนักงานประมงจังหวัด ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงในพื้นที่ หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ กลุ่มช่วยเหลือเกษตรกร และชาวประมง กรมประมง โทรศัพท์หมายเลข 0 2558 0218 และ 0 2561 4740

 แชร์เนื้อหา : ส่ง email แชร์ X ส่ง Line แชร์ Facebook