วันที่ 15 ตุลาคม 2564 เวลา 09.30 น. ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.กษ. ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัด กษ. และคณะผู้บริหาร กษ.และหน่วยงานในสังกัด ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดตรัง พัทลุง และสงขลา ระหว่างวันที่ 15 - 17 ตุลาคม 2564 โดยในช่วงเวลา 09.30 น. ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง ณ อ.เมือง จ.ตรัง พร้อมมอบหนังสืออนุญาตให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ให้แก่เกษตรกร และปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงแหล่งน้ำธรรมชาติ
โดยในส่วนของกรมประมง นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมประมง นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง และคณะเจ้าหน้าที่กรมประมงได้จัดเตรียมพันธุ์สัตว์น้ำ จำนวนทั้งสิ้น 1,205,000 ตัว เพื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ โดยพันธุ์สัตว์น้ำที่ปล่อย ประกอบด้วย ปลากระแห (ปลาลำปำ) จำนวน 50,000 ตัว ปลายี่สกเทศ จำนวน 50,000 ตัวปลาสร้อยนกเขา จำนวน 50,000 ตัว ปลาสร้อยลูกกล้วย จำนวน 50,000 ตัว ปลาซิวควาย จำนวน 5,000 ตัว และลูกพันธุ์ปลาบ้า (ปลาสุลต่าน) ภายใต้โครงการโรงเพาะฟักเคลื่อนที่ (Mobile hatchery) จำนวน 1,000,000 ตัว
อีกทั้งยังมีบริการประชาชน โดยจัดเตรียมพันธุ์แหนแดง เพื่อนำไปใช้เพาะพันธุ์และเป็นอาหารปลาลดต้นทุนการผลิต จุลินทรีย์น้ำเพื่อนำไปเป็นหัวเชื้อและใช้สำหรับบำบัดน้ำเสียในบ่อปลา และพันธุ์ปลาสวยงาม เพื่อแจกให้เกษตรกร จำนวนรายละ 1 ชุด รวม 50 ราย
ทั้งนี้ ปลาสร้อยนกเขา ( Osteochilus vittatus) ประชาชนในพื้นที่จังหวัดตรัง เรียกว่า ปลาขี้ขมลำเพ็ง ปลาสร้อยลูกกล้วย (Labiobarbus leptocheilus) ประชาชนในพื้นที่จังหวัดตรัง เรียกว่า ปลาขี้ขมทัด,ปลาขี้ขมย่านไทร ปลาซิวควาย (Rasbora myersi) ปลาทั้ง 3 ชนิดนี้เป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดตรัง อดีตเคยมีชุกชุมตามแหล่งน้ำต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดตรัง ประชาชนนิยมรับประทาน เป็นปลาที่ขึ้นชื่อของจังหวัดตรัง ร้านขายข้าวแกงในพื้นที่นิยมนำมาทำแกง เช่น แกงคั่วปลาขี้ขม ปลาขี้ขมทอดขมิ้น แกงคั่วปลาซิว ปลาซิวทอดขมิ้น ปลาซิวตากแห้ง ฯลฯ แต่ปัจจุบัน สภาพแหล่งน้ำต่างๆ ตื้นเขิน แหล่งวางไข่ถูกทำลาย ทำให้ปลาทั้ง 3 ชนิดนี้ ลดจำนวนลงมาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดตรัง กรมประมง จึงได้รวบรวมพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติ มาเพาะขยายพันธุ์และปล่อยลงแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดตรัง เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำต่อไป