นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) ครั้งที่ 1/2564

 ฟังเสียงบรรยาย
 หยุดเสียงบรรยาย

วันพุธที่ 22 กันยายน 2564 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมพะยูน ชั้น 7 อาคารจุฬาภรณ์ กรมประมง นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) ครั้งที่ 1/2564 ผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด บริษัท มารีนโกลด์ โปรดักส์ จำกัด บริษัท ห้องเย็นโชติวัฒน์หาดใหญ่ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีเวลท์ โฟรเซ่น ฟู้ด จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีเพรช อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย นายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย นายกสมาคมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย นายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งจันทบุรี ที่ปรึกษาสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทอง จำกัด ประธานชมรมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสงขลา และผู้แทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งภาคกลาง โดยมีผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด เป็นฝ่ายเลขานุการการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์ปัจจุบัน และปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตกุ้งทะเลตลิดห่วงโซ่การผลิต ดังนี้

1. ความก้าวหน้าการปลดล้อคการนำเข้ากุ้งทะเลจากประเทศอินเดียและประเทศเอกวาดอร์ ซึ่งกรมประมงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานประเมินระบบการควบคุมโรคในกุ้งทะเลมีชีวิตและวัตถุดิบกุ้งทะเลของประเทศต้นทางที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อประเมินระบบฯ ของประเทศต้นทาง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาอนุญาตนำเข้า ซึ่งที่ประชุมคณะทำงานฯ ได้พิจารณาแบบสอบถามและเอกสารแนบประกอบแบบสอบถามจากของประเทศต้นทาง (อินเดีย และเอกวาดอร์) แล้ว เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564 โดยการประเมินระบบการควบคุมโรคของอินเดีย อยู่ระหว่างสอบถามข้อมูลและให้จัดส่งเอกสารเพิ่มเติม ส่วนเอกวาดอร์ คณะทำงานฯ ได้พิจารณาประเมินเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างจัดเตรียมเอกสารแจ้งเอกวาดอร์ทราบต่อไป

2. ความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายแปลงระบบขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air cargo) โดยอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมการดำเนินงาน ซึ่งฝ่ายเลขาจะรายงานความก้าวหน้าให้คณะกรรมการทราบเป็นระยะ ๆ

ที่ประชุมได้มีการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์การผลิต การเคลื่อนไหวของราคา ปริมาณการนำเข้า และปริมาณการส่งออก โดยคาดการณ์ว่ากุ้งทะเลไทยยังมีอนาคตสดใสโดยพิจารณาจากสถิติข้อมูลการนำเข้าทั้งในเชิงปริมาณและเชิงมูลค่าที่เพิ่มขึ้น และสถานการณ์ของประเทศคู่แข่งและประเทศคู่ค้าที่ยังให้ความสำคัญกับคุณภาพ มาตรฐานสินค้า และกระบวนการผลิตกุ้งทะเลของไทย โดยคาดการณ์ว่า ปี 2564 จะมีปริมาณผลผลิตกุ้งทะเลทั้งปีเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 5% และมูลค่าคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 7-10% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยตลาดหรือประเทศคู่ค้าสำคัญที่น่าจับตามอง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาแผนการผลิต - การใช้ผลผลิตในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 - มกราคม 2565 และกำหนดราคาขั้นต่ำที่ห้องเย็นรับซื้อจากเกษตรกร และกำหนดวันที่เริ่มประกาศและดำเนินการ เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางและทิศทางการผลิตกุ้งทะเลในระดับฟาร์ม การบริหารจัดการผลผลิตกุ้งทะเลที่ผลิตได้ พร้อมทั้งร่วมกันกำหนดสัดส่วนการผลิตกุ้งทะเลภายในประเทศและการนำเข้าจากต่างประเทศ กำหนดราคาจำหน่ายหรือราคารับซื้อผลผลิตกุ้งทะเล ดำเนินการเพื่อผลักดันให้การผลิตกุ้งทะเลมีมาตรฐานตามเกณฑ์ที่สากลยอมรับ รวมถึง ประสานกับหน่วยงานภาครัฐและคณะกรรมการอื่น ๆ เพื่อพัฒนาและร่วมมือแก้ไขปัญหาการผลิต และการตลาดในการผลิตกุ้งทะเลและการส่งออกผลิตภัณฑ์

 แชร์เนื้อหา : ส่ง email แชร์ X ส่ง Line แชร์ Facebook