นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ครั้งที่ 8/2564

 ฟังเสียงบรรยาย
 หยุดเสียงบรรยาย

วันจันทร์ที่ 20 กันยายน 2564 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมกุลาดำ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (Zoom Cloud Meetings)

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ครั้งที่ 8/2564 โดยมี ดร.สุทธินี ลิ้มธรรมมหิศร ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ รวม 28 เรื่อง 59 ประเด็น ได้แก่ ปัญหาราคาตกต่ำ การเลี้ยง สารตกค้าง การตลาดค่าธรรมเนียม ใบอนุญาต มาตรฐาน การส่งออก การนำเข้า แหล่งทุน APD กฎหมาย CITES ปัจจัยการผลิต โดยชนิดสัตว์น้ำสำคัญ ได้แก่ กุ้งทะเล ปลากะพงขาว กุ้งมังกร หอยทะเล จระเข้ กุ้งก้ามกราม ปลาตะพัด และปลาสวยงาม และอยู่ระหว่างดำเนินการ 12 ประเด็น ดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จ (ปิดประเด็นแล้ว) 48 ประเด็น คิดเป็นความสำเร็จร้อยละ 81.36 และที่ประชุมได้มีการเร่งรัดและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานต่าง ๆ ดังนี้

- โครงการเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตและการตลาดกุ้งทะเลเพื่อการบริโภคภายในประเทศ ปี 2561 โดยคณะกรรมการบริหารโครงการฯ มีมติให้กรมประมงขอขยายระยะเวลาการดำเนินงานโครงการเป็นสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2564 ซึ่งกรมประมงได้ดำเนินการเสนอเรื่องไปยัง คบท. แล้ว เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564

- การส่งออกปลากะพงขาวไปสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยทางหน่วยงาน GACC ของจีน ขอให้กรมประมงจัดส่งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบการควบคุมโรค และระบบตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งขณะนี้ กตส.อยู่ระหว่างดำเนินการการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะแจ้งไปยัง GACC ภายในสิ้นเดือนตุลาคม 2564

- การปรับปรุงระเบียบกรมประมงว่าด้วยการขอหนังสือรับรองสุขภาพสัตว์น้ำเพื่อการส่งออกนอกราชอาณาจักร โดยที่ประชุมขอให้ กพส. เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2564 เพื่อที่จะได้รายงานผลสำเร็จและปิดประเด็นในการประชุมของคณะอนุกรรมการฯ ในครั้งหน้า

- โครงการลดต้นทุนการผลิตกุ้งทะเลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในอุตสาหกรรมกุ้งทะเลอย่างยั่งยืน ปี 2564 โดยมีบริษัทหรือผู้ประกอบการสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ 36 บริษัท ผ่านการรับรอง 17 บริษัท อยู่ระหว่างการพิจารณา 13 บริษัท มีเกษตรกรที่สนใจได้ประสานงาน หรือร่วมจัดทำแผนดำเนินการกับบริษัทฯ รวม 263 ราย จัดทำแผนแล้วเสร็จ 25 ราย ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรได้เข้าถึงข้อมูลและคลายความสงสัย ที่ประชุมขอให้เน้นความสำคัญของการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเพื่อให้เกษตรกรได้รับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึงและมากที่สุด และมอบ กพช.พิจารณากำหนดให้มีประธานคณะทำงานในแต่ละภาคที่จะเป็นผู้ขับเคลื่อนในระดับภาค หรือการจัดทำเวทีชี้แจงต่างๆ ให้กับเกษตรกร โดยที่ทำงานร่วมกับ ธ.ก.ส. และสมาคม/ชมรม

- โครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจระเข้และผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ซึ่งอยู่ระหว่างปรับปรุงรายละเอียด และขอให้ขยับช่วงเวลาในการประชาสัมพันธ์เชิญชวนเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ จากกำหนดการเดิม 1 พฤศจิกายน 2564 เป็น 1 ตุลาคม 2564 และขอให้ กพจ. ประสานการทำงานกับ ธ.ก.ส. และ บสย. อย่างใกล้ชิด และให้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินการให้กรมฯทราบทุกวันจันทร์ เนื่องจากต้องรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินกาไปยังกระทรวงฯ และคณะรัฐมนตรีด้วย

- การจัดทำฐานข้อมูลปลาตะพัด โดย กบม. ได้ดำเนินการจัดทำรายละเอียดฐานข้อมูลแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงหน้าจอแสดงผลและเพิ่มเติมหมายเลขไมโครชิปปลาตะพัดที่ได้จากการเพาะพันธุ์ในประเทศ

- การแก้ไขปัญหาราคากุ้งตกต่ำ โดยการระบุส่วนผสมบนฉลากอาหารสัตว์น้ำ โดย กพอ. ได้ดำเนินการจัดประชุมหารือระหว่างเกษตรกรและสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์น้ำไทย เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ซึ่งได้ข้อสรุปแนวทางการระบุสัดส่วนวัตถุดิบในฉลากอาหารที่เป็นแนวทางสากล มีความชัดเจน เพื่อให้เกิดความมั่นใจในคุณภาพอาหารที่นำไปใช้ในการเลี้ยงกุ้งทะเลต่อไป

- การตรวจสอบคุณภาพสินค้า ปัจจัยการผลิต โดย กพอ. ได้มีการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ในรูปแบบคลิปวิดีโอ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านทางเว็บไซต์กรมประมง YouTube และ Facebook รวมถึงได้จัดส่งสื่อประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ประกอบการด้านอาหารสัตว์น้ำต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และ กรป.ได้ดำเนินการตรวจสอบร้านค้าปัจจัยการผลิตในจังหวัดต่าง ๆ ในเดือนสิงหาคม จำนวน 14 จังหวัด 165 ร้านค้า ซึ่งยังไม่พบการกระทำความผิด

- การช่วยเหลือด้านการตลาดกุ้งก้ามกราม โดยเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564 กรมประมงโดยสำนักงานประมงจังหวัดสุพรรณบุรี ได้จัดจำหน่ายผลผลิตของเกษตรกรในจังหวัดสุพรรณบุรีในลักษณะพรีออเดอร์ (Preorder) และประสานไปที่กองทัพอากาศเพื่อขอพื้นที่เพื่อเป็นจุดจำหน่ายและกระจายสินค้าให้กับเกษตรกร เป็นเงิน 461,820 บาท เป็นสินค้ากุ้งก้ามกราม 766 กิโลกรัม มูลค่า 225,600 บาท กุ้งขาว 376 กิโลกรัม มูลค่า 69,640 บาท ปลาสลิดแดดเดียว จำนวน 671 กิโลกรัม มูลค่า 124,520 บาท และไส้กรอกปลาชะโด จำนวน 280 กิโลกรัม มูลค่า 42,000 บาท และขอให้ กพจ.ประสานตลาดในลักษณะที่เป็นการต่อเนื่อง เพื่อความชัดเจนในการช่วยเหลือเกษตรกรกุ้งก้ามกรามต่อไป

- การจัดตั้งคณะทำงานจัดทำโครงการเพื่อเสนอขอใช้เงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร โดย กพช. ได้ดำเนินการแล้ว โดยได้เสนอนายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย พิจารณาลงนามในคำสั่งแล้วเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 ทั้งนี้ กพช. จะเร่งจัดประชุมคณะทำงานฯ ต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาระบบขนส่งไปรษณีย์ไทยในรูปแบบ Cold Chain พร้อมทั้งรับฟังปัญหา และมอบข้อเสนอแนะให้แก่เจ้าหน้าที่แต่ละหน่วย เพื่อเร่งรัดให้การดำเนินโครงการต่าง ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรภาคประมงของไทยได้ทันต่อสถานการณ์

 แชร์เนื้อหา : ส่ง email แชร์ X ส่ง Line แชร์ Facebook