วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน 2564เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 123 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง พร้อมด้วยนายธเนศ พุ่มทอง ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด และนายณัฐพงค์ วรรณพัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ร่วมประชุมคณะกรรมการบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อภาคการเกษตรจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศแม่น้ำโขง ครั้งที่ 2/2564 โดยมีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานกรรมการ เป็นประธานการประชุม
โดยที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์และความก้าวหน้าการดำเนินการต่างๆ ดังนี้
1. การจัดกิจกรรมการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ จำนวน 500,000 ตัว ณ ฝายน้ำฮวย ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย ซึ่งกรมประมงร่วมกับภาคประชาชน (สมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัด ภาคอีสาน หรือ คสข.) เพื่อแสดงให้เห้นถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและส่วนราชการ ในการพัฒนาพื้นที่บริเวณแม่น้ำโขง
2. การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาฯ ระดับทระทรวง และระดับจังหวัด รวม 4 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาการประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาการเกษตรในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน คณะอนุกรรมการเพื่อพัฒนาพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนด้านการเกษตร ระดับจังหวัด และคณะอนุกรรมการเพื่อพัฒนาพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนด้านการประมง ระดับจังหวัด
3. การจัดทำเอกสารฉบับร่าง แผนพัฒนาด้านการประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2566-2570
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการเห็นชอบให้เพิ่มจำนวนผู้แทนองก์กรชุมชน/ผู้ทำการประมงในพื้นที่ เป็นอำเภอละ 4 ท่าน ตามที่ภาคประชาชน หรือ คสข. เสนอ
สำหรับการที่ คสข. เสนอขอให้ปรับปรุงแก้ไข มาตรา 62 มาตรา 63 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และแนวทางปฏิบัติในกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง นั้น ที่ประชุมมีความเห็นให้ คสข. ทำหนังสือยื่นต่อหน่วยงานรับผิดชอบ (กรมประมง) เพื่อที่จะได้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของกรมประมง ตามลำดับต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อให้ทรัพยากรประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในบริเวณพื้นที่แม่น้ำโขงได้รับการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมเพื่อความยั่งยืนและรองรับการเปลี่ยนแปลง นายอลงกรณ์ พลบุตร ได้เน้นย้ำการขับเคลื่อนตามนโยบายการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานรากโดยส่งเสริมให้เกษตรกรมีการแลกเปลี่ยนความรู้ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทําให้มีอํานาจต่อรอง และเป็นประโยชน์ในการท่องเที่ยวเชิงเกษตร สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในชุมชน รวมทั้งพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ สามารถ ช่วยเหลือสมาชิกเกษตรกร เอื้อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ ทั้งสังคม ชุมชน วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติให้เข้มแข็งและยั่งยืน สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคการเกษตรของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อไป
#กรมประมง #กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์