วันจันทร์ที่ 13 กันยายน 2564 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมยี่สก ชั้น 2 อาคารจุฬาภรณ์ กรมประมง นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เป็นประธานการประชุมเตรียมการสำหรับการประชุมความร่วมมือด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำระดับโลก (The Global Conference on Aquaculture: GCA+20) ผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย ดร.ถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง ดร.สุทธินี ลิ้มธรรมมหิศร ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง นายยงยุทธ ปรีดาลัมพะบุตร ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง นายณัฐพงค์ วรรณพัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ดร.ลัดดาวัลย์ ครองพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์น้ำ (ผู้แทน กพอ.) ดร.ศรีจรรยา สุขมโนมนต์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยและพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์ (ผู้แทน กพก.) ผู้แทนกองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ ผู้แทนกองนโยบายและยุทธศาสตร์การประมง นางนฤนารถ ภัคพงศ์โยธิน หัวหน้ากลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ (ผู้แทน สลก.) นางสาวอาทินันท์ อินทรพิมพ์ กงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยมี ดร.พลพิศิลป์ สุวรรณชัย ผู้อำนวยการกองประมงต่างประเทศ เป็นฝ่ายเลขานุการการประชุม
การประชุมความร่วมมือด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำระดับโลก หรือ Global Conference on Aquaculture (GCA+20) มีกำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุก 10 ปี โดยมีประเทศเจ้าภาพ ร่วมกับ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การข่ายงานศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแห่งเอเชียและแปซิฟิก (NACA) ร่วมกันจัดงาน โดยในปีนี้สาธารณรัฐประชาชนจีนรับเป็นประเทศเจ้าภาพ โดยกำหนดจัดประชุมในระหว่างวันที่ 22-24 กันยายน 2564
เนื่องด้วยประเทศไทยได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุม GCA+20 และทางผู้จัดการประชุม (สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยกระทรวงเกษตรและกิจการชนบทแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (MARA) ร่วมกับ FAO และ NACA) ได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีฯ ในวันที่ 24 กันยายน 2564 เพื่อร่วมกล่าวสุนทรพจน์ร่วมกับรัฐมนตรีหรือผู้แทนจากอีก 20 ประเทศ ซึ่งจากข้อมูล ณ วันที่ 9 กันยายน 2564 มีรัฐมนตรีฯ หรือผู้แทนระดับรัฐมนตรีจากประเทศต่าง ๆ ที่ได้ตอบรับการเข้าร่วมประชุมแล้ว จำนวน 16 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา สหภาพยุโรป ฟิจิ กาน่า อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ เกาหลี ฟิลิปปินส์ ซิราลิโอน แทนซาเนีย ไทย ตุรกี อุกันดา และ สหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตอบรับเข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีฯ เป็นที่เรียบร้อย
โดยที่ประชุมได้พิจารณามอบหมายผู้แทนหลักรับผิดชอบในการประชุมและเข้าร่วมการประชุมในรูปแบบออนไลน์ภายใต้หัวข้อการประชุมที่สำคัญ 9 หัวข้อ (Thematic Review: TR) ดังนี้
1. ระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (TR 1: Aquaculture systems)
2. เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (TR 2: Innovation in aquaculture)
3. การปรับเปลี่ยนระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TR 3: Transforming aquaculture to achieve SDGs)
4. อาหารและการให้อาหารสัตว์น้ำ (TR 4: Aquaculture feed and feeding) มอบผู้แทนกองวิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์น้ำ เป็นผู้แทนหลัก
5. การพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ (TR 5: Aquatic genetic resources and seed supply)
6. ความปลอดภัยทางชีวภาพและการจัดการสุขภาพสัตว์น้ำ/พืช/สาหร่าย (TR 6: Biosecurity: reducing the burden of disease)
7. การวางแผนเชิงนโยบายด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (TR 7: Dynamics of aquaculture governance)
8. ขอบเขตของมนุษย์และสังคมต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (TR 8: Social and human dimensions of aquaculture)
9. ห่วงโซ่คุณค่าและการเข้าถึงตลาดผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทย (TR 9: Value chains and market access for aquaculture products)