เทคนิคการเลี้ยงกบ

 ฟังเสียงบรรยาย
 หยุดเสียงบรรยาย

กบ ตามธรรมชาติกบจะหากินอยู่ตามลำห้วย หนอง บึง และท้องนา กบจะกินปลา กุ้ง แมลง และสัตว์ขนาดเล็กเป็นอาหาร แต่เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันมีอัตราประชากรมนุษย์เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ปริมาณความต้องการในการบริโภคเพิ่มขึ้น สำหรับการเลี้ยงกบนั้นเป็นที่สนใจของเกษตรกรเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะกบเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย ใช้เวลาน้อย ลงทุนน้อยดูแลรักษาง่าย และจำหน่ายได้ราคาคุ้มกับการลงทุน โดยเฉพาะในปัจจุบันมีตลาดต่างประเทศที่ต้องการสินค้ากบเปิดกว้างขึ้น กบนาที่เป็นผลผลิตของเกษตรกร
เมืองไทยจึงมีโอกาสส่งจำหน่ายไปยังต่างประเทศ และสาเหตุหนึ่งที่มีผู้หันมาเลี้ยงกบกันมากขึ้นเนื่องจาก ปริมาณกบที่อยู่ตามแหล่งธรรมชาติมีจำนวนลดน้อยลง เพราะแหล่งที่อยู่อาศัยของกบถูกเปลี่ยนแปลงเป็น ที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ทำให้กบทางธรรมชาติหมดไป

การให้อาหารกบ

อัตราการให้อาหารที่เลี้ยงในลักษณะคอก มีบ่อน้ำตรงกลาง เป็นคอกขนาด 4x4 เมตร ปล่อยกบ 1,000 ตัว ให้อาหารดังนี้ 
1) กบอายุ 50 วัน ให้อาหารสด 400 กรัมต่อวัน 
2) กบอายุ 60 วัน ให้อาหารสด 600 กรัมต่อวัน 
3) กบอายุ 90 วัน ให้อาหารสด 1.5 กิโลกรัมต่อวัน 
4) กบอายุ 120 วัน ให้อาหารสด 3 กิโลกรัมต่อวัน และ 
5) กบอายุ 150 วัน ให้อาหารสด 4 กิโลกรัมต่อวัน ในการเลี้ยงกบจำเป็นต้องคอยคัดขนาดของกบให้มีขนาดเท่ากันลงเลี้ยงในบ่อเดียวกัน มิฉะนั้นกบใหญ่จะรังแกกบเล็ก ซึ่งจะทำให้ต้องตายทั้งคู่ ทั้งตัวที่ถูกกินและตัวที่กิน

เทคนิคการเลี้ยงกบนา
รูปแบบการเลี้ยง ในปัจจุบันการเลี้ยงกบเชิงพาณิชย์ เกษตรกรผู้เลี้ยงกบจะนิยมเลี้ยงอยู่ คือ

"การเลี้ยงกบในบ่อดิน"

การเลี้ยงกบในบ่อดิน ใช้พื้นที่ประมาณ 100-200 ตารางเมตร ภายในบ่อลึกประมาณ 1 เมตร บางแห่งอาจทำเกาะกลางบ่อเพื่อเป็นที่พักของกบและให้อาหาร ส่วนพื้นที่รอบๆ ขอบบ่อภายในล้อมด้วย อวนในล่อนสูงประมาณ 1 เมตร ปล่อยให้หญ้าขึ้นเพื่อให้กบใช้เป็นที่หลบอาศัย ขอบบ่อด้านในที่ล้อมด้วย อวนในล่อน ด้านล่างจะใช้กระเบื้องหรือแผ่นสังกะสีฝังลึกลงดินประมาณ 50 เซนติเมตร เพื่อป้องกันศัตรู บางชนิด เช่น หนูขุดรูเข้าไปกินลูกกบได้ อัตราการปล่อยเกษตรกรจะปล่อยลูกกบลงเลี้ยงประมาณ 30,000 ตัว/บ่อ (100 ตารางเมตร) ลักษณะการเลี้ยงแบบนี้มีข้อดีคือ การจัดการง่าย ต้นทุนต่ำได้ผลผลิตต่อพื้นที่สูงแต่มีข้อจำกัด
คือ เป็นการเลี้ยงแบบหนาแน่น สภาพในบ่อจะไม่ค่อยสะอาด เนื่องจากมีของเสียตกค้างอยู่ภายในบ่อ ผลผลิตกบที่ได้จะจำหน่ายภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่

"การเลี้ยงกบในคอก"

สามารถจับกบได้ทุกโอกาส ไม่ว่าจะจับหมดทั้งคอก หรือมีการจำหน่ายปลีก โดยมีกระบะไม้และทำเป็นช่องเข้าออกในด้านตรงกันข้ามวางอยู่หลายอันบนพื้นดินภายในคอก ซึ่งกบจะเข้าไปอาศัยอยู่ เมื่อถึงเวลาจะจับกบก็ใช้กระสอบเปิดปากไว้รออยู่ที่ช่องด้านหนึ่งแล้วใช้มือล้วงเข้าไปในช่องด้านตรงข้าม กบจะหนีออกอีกช่องทางหนึ่งที่มีปากกระสอบรอรับอยู่และเข้าไปในกระสอบกันหมด เป็นการกระทำที่สะดวก กบไม่ตกใจและบอบช้ำ

"การเลี้ยงกบบนกระชัง"

กระชังที่ใช้เลี้ยงเกษตรกรนิยมใช้อวนในล่อนเนื่องจากต้นทุนถูก ขนาด ของกระชังนิยมขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 4 เมตร และสูง 1.5 เมตร จะแขวนอยู่ในบ่อดิน ขนาด 1-3 ไร่ หรือ แหล่งน้ำต่างๆ โดยจะแขวนจะให้กระชังจมอยู่ในน้ำประมาณ 50 เซนติเมตร แล้วใส่วัสดุ เช่น แผ่นโฟมเนื้อ แน่นลอยอยู่ในกระชัง เพื่อใช้เป็นที่ให้กบขึ้นมาอาศัยและวางถาดอาหาร การเลี้ยงกบในกระชังหากมีปัญหา มีนกมากินลูกกบ เกษตรกรจะต้องทำฝาปิดกระชังโดยใช้อวนในล่อนด้วย อัตราปล่อยลูกกบจะนิยมปล่อย 50-100 ตัว/ตารางเมตร อัตราความหนาแน่นจะมีผลต่ออัตรารอดตายของกบ เนื่องจากสภาพการเลี้ยงใน กระชัง ซึ่งเป็นพื้นที่แคบ หากปล่อยกบในความหนาแน่นมากเกินไป อาจทำให้กบเป็นโรคและตายได้ ลักษณะการเลี้ยงแบบนี้มีข้อดี คือ จะได้ผลผลิตกบที่มีคุณภาพ สามารถส่งออกไปจำหน่าย ตลาดต่างประเทศได้ เนื่องจาก สามารถจัดการสภาพแวดล้อมของการเลี้ยงได้ เช่น การเปลี่ยนถ่ายน้ำในบ่อ ที่ใช้เลี้ยงกบ เพื่อให้น้ำมีคุณภาพที่เหมาะสมต่อการเลี้ยง แต่มีข้อจำกัด คือ ต้นทุนการจัดการจะสูงเนื่องจาก ต้องใช้แรงงานในการดูแลมากกว่าการเลี้ยงกบในบ่อดิน

"การเลี้ยงกบในบ่อปูนซีเมนต์"

การเลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์ การเลี้ยงแบบนี้เกษตรกรนิยมเลี้ยงกันมากในปัจจุบัน เพราะดูแลรักษาง่าย และสามารถควบคุมคุณภาพของผลผลิตกบได้ โดยมีการพัฒนารูปแบบให้สามารถทำความสะอาดได้สะดวกมากขึ้น เช่น ปูพื้นบ่อด้วยกระเบื้องปูพื้นผิวเรียบ ทำให้มีการสะสมของเชื้อโรคที่พื้นบ่อ น้อยลง ขนาดบ่อที่เกษตรกรนิยมใช้ คือ กว้าง 3-4 เมตร ยาว 4-5 เมตร และมีความสูงประมาณ 1.2 เมตร ก่อด้วยอิฐบล็อก เทพื้นด้วยซีเมนต์ขัดมัน หรือปูพื้นด้วยกระเบื้องผิวเรียบ มีความลาดเอียงเล็กน้อย เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้หมด หลังคาบ่ออาจใช้กระเบื้องลอนคู่มุงบ่อประมาณ 25-50% ของพื้นที่บ่อ หรือจะใช้ม่านบังแสงที่ใช้ในเรือนเพาะชำต้นไม้ เพื่อป้องกันแสงแดดไม่ให้ส่องลงมามากเกินไป บ่อซีเมนต์ที่ใช้เลี้ยงกบ เกษตรกรนิยมอยู่ 2 แบบ คือ

1. บ่อแบบพื้นลาดเอียง ลักษณะภายในบ่อจะเทพื้นลาดเอียงประมาณ 25 องศา เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้ดีและใช้วัสดุลอยน้ำจำพวกโฟมเนื้อแน่นพิเศษ หรือใช้ไม่ไผ่ทำเป็นแคร่ หรือวัสดุอื่นๆวางอยู่ที่ผิวน้ำ เพื่อให้กบขึ้นมาอาศัยและวางถาดอาหาร

2. บ่อแบบที่มีเกาะกลาง ลักษณะบ่อเป็นแบบเดียวกับแบบแรก แต่มีเกาะซีเมนต์อยู่ตรงกลาง โดยตัวเกาะจะอยู่ห่างจากผนังบ่อ ประมาณ 50-70 เซนติเมตร เกาะตรงกลางควรมีการขัดผิวให้มัน
เพื่อให้กบขึ้นมาพักผึ่งแดดและวางถาดอาหาร แต่ลักษณะบ่อแบบนี้จะทำความสะอาดยากกว่าบ่อแบบแรก

บ่อซีเมนต์ใหม่ๆ ควรจะมีการล้างปูนซีเมนต์เสียก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ปูนกัดผิวหนังของกบทำให้เป็นแผลติดเชื้อได้ วิธีการล้างควรทำดังนี้ ให้ใช้หยวกกล้วยหั่นเป็นท่อนๆ ใส่ลงในบ่อซีเมนต์ที่เติมน้ำในระดับที่ต้องการทิ้งไว้ 7-14 วัน โดยเปลี่ยนหยวกกล้วยทุกวันหรือควรใช้สารส้ม ประมาณ 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ1 ลูกบาศก์เมตร แช่ทิ้งไว้ 3-4 วัน และระบายน้ำทิ้งและทำซ้ำอีกครั้งจนมั่นใจ หลังจากนั้นตากบ่อให้แห้งก่อนที่จะทำการเลี้ยงต่อไป สำหรับอัตราปล่อย ควรปล่อยกบในอัตรา 50 ตัว/ตารางเมตร แต่ถ้าเป็นบ่อที่ใช้ระบบน้ำผ่านตลอดเวลา ก็สามารถปล่อยกบในอัตรา 100 ตัว/ตารางเมตรลักษณะการเลี้ยงแบบนี้ จะมีข้อดีและข้อจำกัดเหมือนกับการเลี้ยงกบในกระชัง เหมาะสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงกบที่มีพื้นที่จำกัด หรือไม่ประสงค์จะขุดบ่อเพื่อรักษาสภาพพื้นที่ดินไว้เหมือนเดิม

การเพิ่มประสิทธิภาพของอาหาร หรือเลือกใช้วัสดุอาหารที่ใช้เลี้ยงกบนาแล้วกบโตเร็ว และมีต้นทุนต่ำ ซึ่งในเรื่องนี้ มีผลการศึกษางานวิจัยของนักวิชาการประมง หลายๆ แนวทาง ดังนี้

1. การใช้น้ำมันปลาเสริมในอาหารเม็ดสำเร็จรูปเลี้ยงกบนา
นำอาหารเม็ดสำเร็จรูปสำหรับปลาดุก(โปรตีน 32%) ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด มาเคลือบเม็ด อาหาร ด้วยการฉีดพรม (spray) น้ำมันปลาที่ผิวเม็ดอาหาร ปริมาณ 2% ของน้ำหนัก แล้วนำไปผึ่งลมให้ แห้ง ประมาณ 30 นาที แล้วนำไปเก็บไว้ในห้องที่สะอาดและแห้ง การเตรียมอาหารใช้เลี้ยงกบนาจะเตรียม ในปริมาณที่จะใช้ให้หมดภายใน 3 วัน เนื่องจากประสิทธิภาพของอาหารจะลดลง

2. การใช้โปรตีนข้าวโพดทดแทนปลาป่นในการเลี้ยงกบนา 
นำโปรตีนข้าวโพด กากน้ำตาล ยีสต์ และแป้งหมาก มาผสมรวมกัน ใส่น้ำจนสามารถกวนได้สะดวก ทำการกวนอาหารทุกๆ 1 ชั่วโมง จนครบ 12 ชั่วโมง แล้วทิ้งไว้อีก 12 ชั่วโมง จึงนำมาใช้ผสมกับวัตถุดิบที่ เหลือ แล้วนำไปทำการอัดเม็ดด้วยเครื่องทำอาหาร จะได้อาหารที่มีลักษณะเป็นเส้นยาว นำอาหารไปอบให้แห้งด้วยเครื่องอบที่อุณหภูมิ 60 °C เป็นเวลา 10-12 ชั่วโมง อาหารแห้งที่ได้จะนำมาหักเป็นท่อนสั้นๆ ขนาด 2-3 มิลลิเมตร ก่อนเก็บใส่ถุงพลาสติก นำไปเก็บรักษาโดยการแช่แข็งที่อุณหภูมิ -20 °C จนกว่าจะนำไปใช้เลี้ยงกบต่อไป

3. การเพิ่มคุณค่าทางอาหารกบนา มีรายงานว่า การใส่ยีสต์มีชีวิตในอาหารสัตว์ ยีสต์สามารถเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนเซลล์ในการเพาะอาหารและระบบทางเดินอาหารของสัตว์ได้ การเสริมยีสต์ที่ระดับ 4 เปอร์เซ็นต์ ในอาหาร เป็นระดับที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของกบนาและเสริมให้มีระบบภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นในกบนาส่วนประกอบของอาหารกบนาที่เสริมยีสต์ระดับ 4 เปอร์เซ็นต์ ปลาป่น 35% กากถั่วเหลืองป่น 9.5%ปลายข้าว25% รำละเอียด6 % สารเหนียว (α-starch) 6% น้ำมันถั่วเหลือง1น้ำมันปลาทะเล2% น้ำมันปาล์ม2.5% ยีสต์ (Saccharomyces cerevisiae) 4% วิตามินและแร่ธาตุรวม2 %วิตามินซี 0.1% แกลบบดละเอียด 6.9 % วิธีการเตรียมอาหาร นำส่วนประกอบอาหารกบนาตามตารางข้างต้น มาผสมให้เข้ากันแล้วเติมน้ำประมาณ 30% ของ น้ำหนักอาหาร จากนั้นนำมาอัดเม็ดด้วยเครื่องบดเนื้อที่มีรูหน้าแว่นขนาดเส้นผาศูนย์กลาง 5 มิลลิเมตรอาหารที่ได้มีลักษณะเป็นเส้นยาว นำมาผึ่งลมตากให้แห้งและหักเป็นท่อนๆ ขนาดความยาวประมาณ 0.2- 0.3 เซนติเมตร แล้วนำไปใช้เลี้ยงกบ

นอกจากเกษตรกรมีความรู้ด้านการเลี้ยงกบแล้ว ยังจะต้องมีความรู้ด้านการจัดการฟาร์มกบด้วย การจัดการฟาร์มจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงสัตว์น้ำ หากเกษตรกรสามารถจัดการฟาร์มที่ดี การเลี้ยงกบก็จะประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะการเลี้ยงกบจะใช้เวลาในการเลี้ยงประมาณ 2 เดือนครึ่งถึง 3 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สั้น การจัดการจะต้องรอบคอบ เช่น ขนาดของลูกกบที่จะปล่อยลงเลี้ยง ต้องมีการคัดให้มีขนาดเท่าๆกัน เพราะว่ากบตัวใหญ่จะกินกบตัวเล็ก ซึ่งข้อนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะจะทำให้กบมีอัตรารอดสูง ทำให้การเลี้ยงประสบผลสำเร็จ ข้อสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ความสะอาดของบ่อและน้ำที่ใช้เลี้ยงกบ เพราะมีผลต่อสุขภาพและการเจริญเติบโตของกบ โดยต้องมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกๆวัน เช้า-เย็นโดยเฉพาะวันไหนที่มีฝนตกต้องรีบเปลี่ยนถ่ายน้ำทันที เนื่องจากน้ำในบ่อจะมีฤทธิ์เป็นกรดซึ่งจะทำให้กบเป็นแผลตามลำตัวได้ง่าย

แหล่งที่มา : กรมประมง

 แชร์เนื้อหา : ส่ง email แชร์ X ส่ง Line แชร์ Facebook