เมืองคอน!!! ประมงพื้นบ้านยื่นหนังสือ หนุนภาครัฐเดินหน้า "ปากพนังโมเดล"

 ฟังเสียงบรรยาย
 หยุดเสียงบรรยาย

เมืองคอน!!! ประมงพื้นบ้านยื่นหนังสือ หนุนภาครัฐเดินหน้า "ปากพนังโมเดล"

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 เวลาประมาณ 13.00 น. กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเดินทางมาจากอำเภอสิชล อำเภอขนอม อำเภอปากพนัง อำเภอหัวไทร อำเภอท่าศาลา และอำเภอเมือง นัดรวมตัวบริเวณลานตะเคียนของศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยผู้แทนชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อด้วยความชื่นชม ต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนงานตามแผนปฏิบัติการ “ปากพนังโมเดล” จังหวัดนครศรีธรรมราช อย่างจริงจังและต่อเนื่อง จนเป็นที่ประจักษ์ แสดงเจตนารมณ์ในการแก้ปัญหาเป็นลำดับขั้นตอนอย่างชัดเจน ทั้งการประชาสัมพันธ์ การให้ความรู้เรื่องกฏหมาย การเปิดโอกาสให้นำเครื่องมือผิดกฎหมายมาคืนโดยเข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนเครื่องมือ เพื่อส่งมอบเครื่องมือประมงผิดกฏหมายให้แก่ราชการ และรับเครื่องมือประมงถูกกฏหมายส่วนหนึ่งไปใช้ประกอบอาชีพ ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำความผิด วันนึ้จึงเป็นนิมิตรหมายอันดีที่ชาวประมงพื้นบ้านมารวมตัวเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อน เป็นกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานต่อไป ในการรักษาท้องทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์

จากนั้น นายพรศักดิ์ ศักดิ์ธานี ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วยนายตระกูล หนูนิล ป้องกันจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้นำกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน เข้ายื่นหนังสือขอสนับสนุนและชื่นชมการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ “ปากพนังโมเดล” จังหวัดนครศรีธรรมราช ถึงนายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีนายถาวรวัฒน์ คงแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้รับหนังสือ และหนังสือถึงอธิบดีกรมประมง โดยมีนายพรศักดิ์ ศักดิ์ธานี ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้รับหนังสือ ณ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัด 
ในการนี้ นายศรเดช คำแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้อ่านหนังสือเปิดผนึกต่อสื่อมวลชน เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการยื่นหนังสือครั้งนี้ โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1. เรื่องผลกระทบจากแผนปฏิบัติการปากพนังโมเดลทางเครือข่ายขอยืนยันว่าไม่กระทบกับชาวประมงพื้นบ้านที่ใช้เครื่องมือถูกกฎหมายแต่ประการใด และอยากให้มีคำสั่งตรวจสอบเครื่องมือประมงผู้ที่ได้รับผลกระทบว่าใช้เครื่องมือชนิดใดเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ 2. ขอให้ภาครัฐสนับสนุนข้าวสารครัวเรือนละ 50 กิโลกรัมในช่วงฤดูมรสุม (เดือนพฤศจิกายน ถึงมกราคม) สำหรับประเด็นนี้ทางเครือข่ายไม่ขัดข้องแต่ประการใดหากรัฐบาลหรือจังหวัดจะช่วยเหลือในช่วงที่การประมงไม่สามารถออกทำการประมงได้ แต่ต้องกระจายให้กับชาวประมงพื้นบ้านครอบคลุมทั้ง 6 อำเภออย่างเท่าเทียมกัน ไม่ควรเลือกปฏิบัติเพราะตามพระราชกำหนดประมง ฉบับปี พ.ศ 2558 มาตรา 21 (2) ป้องกันมิให้สนับสนุนการทำประมงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าสนับสนุนด้วยบุคลากร น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องมือทำการประมง หรือสิ่งของอื่นใด และ 3. ขอให้เร่งสั่งการคุ้มครอง ประธานกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูพันธุ์หอยแครง “นายประยุทธ แซ่ลิ้ม” หลังจากที่มีกลุ่มประมงที่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมายเข้าใจผิดคิดว่าเป็นสายให้กับเจ้าหน้าที่บุกจับกุม ทำให้ขณะนี้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติได้ต้องหลบๆ ซ่อนๆ เพื่อปกป้องชีวิต ทั้งนี้ เครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดนครศรีธรรมราช ขอเป็นกำลังใจให้กับความตั้งใจของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทุกคนในการนำความอุดมสมบูรณ์กลับคืนสู่อ่าวปากพนัง เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ขยายพันธุ์ และที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อนที่สำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราชและภาคใต้

หลังจากรับหนังสือและส่งมอบให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราชเร่งดำเนินการ นายถาวรวัฒน์ คงแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมบันทึกภาพและรับมอบอาหารทะเลคุณภาพ ซึ่งได้มาจากการทำประมงถูกกฏหมายและปลอดสารปนเปื้อนจากกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน ทั้งนี้ ได้กล่าวขอบคุณพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านที่ประกอบอาชีพประมงถูกกฎหมาย และสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ด้วยดีตลอดมา ทั้งนี้ได้กำชับให้ป้องกันจังหวัดนครศรีธรรมราช บันทึกปากคำและตรวจสอบรายละเอียด “นายประยุทธ แซ่ลิ้ม” ประธานกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูพันธุ์หอยแครง เพื่อให้การคุ้มครองและดูแลความปลอดภัย

นายพรศักดิ์ ศักดิ์ธานี ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ที่ผ่านมาจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยการอำนวยการของนายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ดำเนินการปราบปรามเครื่องมือประมงผิดกฏหมายอย่างต่อเนื่องตามแผนปฏิบัติการ “ปากพนังโมเดล” สอดคล้องกับการขับเคลื่อนตามแผนของศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ส่งผลทรัพยกรทางทะเลมีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านจับสัตว์น้ำได้มากขึ้น ตัวอย่างอ่าวปากพนังที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างเห็นได้ชัดคือ ชาวประมงพื้นบ้านสามารถเก็บหอยแมลงภู่โดยไม่ใช่เครื่องมือประมง สร้างรายได้ประมาณวันละ 300-500 บาท แต่หากมีเครื่องมือประมงผิดกฎหมายลงมาคราดหอย ก็จะทำลายระบบนิเวศน์ จึงเชิญชวนให้ชาวประมงร่วมประกอบอาชีพประมงถูกกฏหมายเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล และแหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำที่ยั่งยืน

ภาพ/ข่าว : คณะทำงานประชาสัมพันธ์การเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช

 แชร์เนื้อหา : ส่ง email แชร์ X ส่ง Line แชร์ Facebook