จากกรณีเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน จังหวัดสมุทรปราการ ร้องเรียนกรมประมงผ่านสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กรณีออกประกาศปิดอ่าวไทยเพิ่มเติมหลังจากได้ประกาศปิดอ่าวครั้งแรกระหว่าง 15 ก.พ.-15 พ.ค.ของทุกปี สำหรับการปิดอ่าวครั้งที่ 2 ในรอบปีนี้ กรมประมงได้ห้ามใช้เครื่องมือประมงบางชนิดจับสัตว์น้ำใน 2 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงแรกระหว่างวันที่ 15 มิ.ย.-15 ส.ค. บริเวณอ่าวไทยตอนในด้านตะวันตก และ ช่วงที่สอง ระหว่างวันที่ 1 ส.ค.-30 ก.ย. ในฝั่งอ่าวไทยตอนในด้านเหนือ
ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านหลายจังหวัดประสบปัญหาความเดือดร้อน ไม่สามารถออกทำการประมงได้
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ได้ชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่า แต่เดิมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกมาตรการเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรในบริเวณอ่าวไทย จำนวน 2 ฉบับ คือ ประกาศฉบับแรก ลงวันที่ 24 มกราคม 2550 เรื่อง กำหนดห้ามใช้เครื่องทำการประมงบางชนิดทำการประมงในฤดูปลามีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวในวัยอ่อน ในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และ
สุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึง 15 พฤษภาคม ของทุกปี เพื่อเป็นการสงวนพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ปลาทู” ให้สามารถวางไข่และเลี้ยงตัววัยอ่อน
ส่วนประกาศที่ สอง คือประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2556 เรื่อง ห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิด ในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทราสงคราม สมุทราสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ในระยะเวลาที่กำหนด ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน – 31 กรกฎาคม เพื่อให้ลูกปลาทูที่ว่ายขึ้นมาในอ่าวไทยรูปตัว ก ซึ่งเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ อยู่รอดและสามารถเจริญเติบโตจนถึงเวลาพร้อมจะวางไข่ โดยประกาศฯ ดังกล่าวมีผลบังคับเพียง 3 ปี ตั้งแต่ ปี 2557 -2559
แต่ในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ปลาทูที่จับได้ในบริเวณอ่าวไทยมีปริมาณลดลงอย่างมาก จากในปี 2557 มีผลผลิตปลาทูในอ่าวไทยถึง 93,425 ตัน แต่ในปี 2559 ผลผลิตปลาทูลดลงคงเหลือเพียง 22,227 ตัน ซึ่งลดลงกว่าร้อยละ 76 ทำให้ช่วงปลายปี 2559 ได้มีทั้งนักวิชาการ ชาวประมงทั้งพาณิชย์และพื้นบ้าน ต่างตั้งข้อสังเกตุว่า “ปลาทูหายไปไหน ” และกรมประมงได้จัดหารือร่วมกันตัวแทนชาวประมงทั้งประมงพาณิชย์และพื้นบ้านเพื่อกำหนดมาตรการให้เหมาะสมกับสภาวการณ์การทำประมงในปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และลดความเดือดร้อนของชาวประมงไปพร้อมๆ กัน และเห็นชอบร่วมกันในการออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2560 ซึ่งมีการกำหนดห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิดในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรีในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งแบ่งพื้นที่และช่วงเวลาบังคับใช้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 พื้นที่บริเวณอ่าวไทยตอนในฝั่งตะวันตกบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร บังคับใช้ในช่วงเวลาวันที่ 15 มิถุนายน – 15 สิงหาคม
และ ส่วนที่ 2 พื้นที่บริเวณอ่าวไทยตอนในด้านเหนือบางส่วนของจังหวัดสมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี บังคับใช้ในช่วงเวลาวันที่ 1 สิงหาคม -30 กันยายน
ประกาศฯ ฉบับนี้ได้มีแบ่งพื้นที่และช่วงเวลาในการประกาศปิดอ่าวฯ เป็น 2 พื้นที่ เพื่อให้สามารถดูแลลูกปลาทูที่ว่ายขึ้นมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อลดความเดือนร้อนของชาวประมงพื้นบ้านสามารถขยับไปทำการประมงในเขตพื้นที่ที่ไม่ได้มีการประกาศปิดอ่าวฯ ได้ นอกจากนี้ ยังได้มีการยกเว้นให้เรือกลที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นเรือประมงพื้นบ้าน สามารถทำการประมงในช่วงปิดอ่าวได้ โดยชาวประมงพื้นบ้านในบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบก็อาจปรับเปลี่ยนไปใช้เครื่องมือทำการประมงประเภทอื่นที่ไม่ต้องห้าม เนื่องจากการทำประมงพื้นบ้านกฎหมายยังมิได้กำหนดให้ต้องขอรับใบอนุญาตทำการประมงแต่อย่างใด จึงสามารถปรับเปลี่ยนไปได้ตามฤดูกาล ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นการคุ้มครองวงจรการเจริญเติบโตของชีวิตปลาทูได้ในระยะยาว
และจากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ชาวประมงทั้งพื้นบ้านและพาณิชย์ ในบริเวณอ่าวไทยตอนกลาง ต่างร่วมมือ ร่วมใจในการกำหนดมาตรการเพิ่มขึ้นจากประกาศฯ ฉบับแรก ทั้งการห้ามทำการประมงด้วยเครื่องมือหรือขนาดตาที่จับพ่อแม่พันธุ์ปลาทู หรือ ไม่ทำการประมงโดยใช้แสงไฟล่อในพื้นที่ห่างจากฝังน้อยกว่า 7 ไมล์ ต่อจากช่วงปิดอ่าวออกไปอีก 45 วัน ส่งผลให้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมามีการสำรวจพบฝูงลูกปลาทูจำนวนมากบริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และกำลังอพยพขึ้นมาเจริญเติบโตในบริเวณอ่าวไทยตอนใน และลูกปลาทูดังกล่าวจะถูกดูแลตามประกาศที่กล่าวถึง เพื่อให้ลูกปลาทูดังกล่าวเจริญเติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์เพื่อกลับไปวางไข่ในบริเวณอ่าวไทยตอนกลางอีกครั้ง
อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า อยากขอความร่วมมือให้พี่น้องชาวประมงทุกท่านได้เสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อร่วมกันสร้างผลผลิตให้ทรัพยากรสัตว์น้ำกลับคืนความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับการประกอบอาชีพประมงได้อย่างยั่งยืนต่อไป
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
4 สิงหาคม 2560