กรมประมง เปิดอบรม “ทิศทางการจัดการประมงทะเล เสียงสะท้อนจากคนรักษ์ทะเล” อธิบดีบัญชา...ดึงวิทยากรญี่ปุ่นร่วมแชร์กลยุทธ์การจัดการประมงอย่างยั่งยืน

 บุคคลในภาพ  นายบัญชา  สุขแก้ว (อธิบดีกรมประมง) 
 ฟังเสียงบรรยาย
 หยุดเสียงบรรยาย

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดอบรมหลักสูตร “ทิศทางการจัดการประมงทะเล เสียงสะท้อนจากคนรักษ์ทะเล” เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 ณ ห้องประชุมกุลาดำ ชั้น 7 อาคารจุฬาภรณ์ กรมประมง โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและต่างประเทศร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ เพื่อร่วมกันวางแนวทางการจัดการที่เหมาะสม และตอบสนองต่อทิศทางการจัดการทรัพยากรประมงในระดับสากล โดยอบรบแบบ onsite และระบบประชุมออนไลน์ Zoom Cloud Meetings

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดว่า...ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการทำประมงเกินศักยภาพของทรัพยากรประมง (Overfishing) ซึ่งส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของระบบนิเวศและความมั่นคงทางอาหารของภาคการประมงโดยรวม เป็นเหตุให้ประเทศไทยได้ดำเนินการปฏิรูประบบการบริหารจัดการประมงอย่างจริงจัง ผ่านการประกาศใช้ พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจัดการจากระบบเสรี มาเป็นระบบ “จำกัดสิทธิ” มุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม ตามหลักวิทยาศาสตร์เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว ภายใต้กรอบกฎหมายใหม่นี้ กรมประมงได้จัดทำ แผนบริหารจัดการประมงทะเล (Fisheries Management Plan: FMP) มาแล้ว 2 ฉบับ ได้แก่ FMP ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2558–2562 และFMP ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2563–2565 และได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นนโยบายและแผนบริหารจัดการประมง พ.ศ. 2566–2570 ซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยนโยบายและแผนฯ ฉบับดังกล่าว มีเป้าหมายหลักในการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล และส่งเสริมศักยภาพการประมงไทยทั้งในประเทศและนอกน่านน้ำอย่างมีระบบ ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศทางทะเล ภาวะโลกร้อน และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่หลากหลายของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

เพื่อให้การบริหารจัดการประมงทะเลของไทยอยู่บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมและมีทิศทางที่เหมาะสม กรมประมงจึงจัดโครงการฝึกอบรม “ทิศทางการจัดการประมงทะเล เสียงสะท้อนจากคนรักษ์ทะเล” เพื่อเปิดเวทีให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคการประมงทะเล ทั้งผู้เกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบาย นักวิชาการ ชาวประมงพื้นบ้าน ชาวประมงพาณิชย์ และชาวประมงนอกน่านน้ำ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ ประสบการณ์ มุมมอง และข้อเสนอแนะที่สะท้อนจากการปฏิบัติจริง เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการจัดการประมงที่เหมาะสมและสอดรับกับแนวโน้มการบริหารจัดการทรัพยากรประมงในระดับโลก การฝึกอบรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.มัทซึอิชิ ทาคาชิ ฟริส จากมหาวิทยาลัยฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการประมงทะเลในระดับสากล ร่วมเป็นวิทยากรและบรรยายพิเศษในหัวข้อต่าง ๆ ได้แก่ หลักการจัดการประมงในระดับสากล ระบบการจัดการประมงในประเทศญี่ปุ่น และผลสำเร็จของการจัดการประมงระดับพื้นที่ พร้อมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้และแนวคิดด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนจากประสบการณ์ในประเทศญี่ปุ่นและนานาชาติ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกรณีศึกษาที่สามารถนำมาปรับใช้ในบริบทของประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเลอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืนต่อไปในอนาคต

การจัดอบรมในครั้งนี้จึงนับเป็นก้าวสำคัญของกระบวนการส่งเสริม “การมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม” โดยเปิดโอกาสให้ “คนรักษ์ทะเล” จากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้ทรัพยากรทางทะเลโดยตรง หรือผู้มีบทบาทในการกำหนดนโยบาย ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการจัดการประมงของประเทศไทยให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลง และขับเคลื่อนไปสู่ความสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์อย่างแท้จริง กรมประมงเชื่อมั่นว่า เสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนร่วมในครั้งนี้ จะเป็นข้อมูลสำคัญในการขับเคลื่อนการจัดทำแผนการบริหารจัดการประมงทะเลไทยในอนาคต…อธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้าย

 

 แชร์เนื้อหา : ส่ง email แชร์ X ส่ง Line แชร์ Facebook