บุคคลในภาพ นายประเทศ ซอรักษ์ (รองอธิบดีกรมประมง)
วันที่ 22 กรกฎาคม 2568 ณ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง มอบหมายให้ นายประเทศ ซอรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง พร้อมด้วย นางสาวชุติมา โพธิ์ขุน นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ และนายปานปัณณ์ วรนุช นักวิชาการประมงชำนาญการ กองประมงต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมด้านประมงของอาเซียน ครั้งที่ 17 (The 17th Meeting of the ASEAN Fisheries Consultative Forum: AFCF) ประกอบด้วย
1. การลงแรงประมงและระบบการจัดการเชิงพื้นที่
2. การประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน
3. การเสริมสร้างและฟื้นฟูทรัพยากร
4. ผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศต่อภาคการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
5. ความร่วมมือเพื่อการต่อสู้กับปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม
6. การตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์จากภาคการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และ
7. ข้อกำหนดของกฎหมายว่าด้วยการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำเพื่อคุ้มครองสัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนมของสหรัฐอเมริกา (Marine Mammal Protection Act: MMPA)
สำหรับ AFCF เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมกันประชุมแลกเปลี่ยนการทำงานด้านการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของแต่ละประเทศ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นในการนำเสนอหรือผลักดันประเด็นต่าง ๆ ให้เข้าสู่กลไกการหารือของอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปในอนาคต
ในการประชุมครั้งนี้ ผู้แทนไทยได้นำเสนอแนวทางการดำเนินงานของประเทศไทยในประเด็นสำคัญ อาทิ การบริหารจัดการความสามารถในการทำการประมงให้เหมาะสมกับทรัพยากร การส่งเสริมการประมงพื้นบ้านและการมีส่วนร่วมของชุมชน การดำเนินมาตรการปิดอ่าวและฟื้นฟูทรัพยากร การปรับตัวภาคการเพาะเลี้ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดผลกระทบต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม ตลอดจนการยกระดับระบบตรวจสอบย้อนกลับและการมีส่วนร่วมในความร่วมมือระหว่างประเทศในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ประเทศไทยยังได้เสนอแนวคิดการจัดทำแพลตฟอร์มข้อมูลกลางของอาเซียน เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลโครงการหรือกิจกรรมด้านการแก้ไขปัญหา IUU Fishing อย่างเป็นระบบอีกด้วย
#กรมประมง
#กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์