ในช่วงระหว่างวันที่ 14 - 18 กรกฎาคม 2568 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย

 ฟังเสียงบรรยาย
 หยุดเสียงบรรยาย

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง มอบหมายให้นายชลธิศักดิ์ ชาวปากน้ำ ผู้อำนวยการกองประมงต่างประเทศ (หัวหน้าคณะผู้แทนไทย) พร้อมด้วย สิบตำรวจตรี ณัฐพล อ่องมะลิ นักวิชาการกองประมงต่างประเทศ เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุม INFOFISH Special Governing Council Meeting 2025 และการประชุม INFOFISH Technical and Advisory Board Meeting ครั้งที่ 38 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 - 18 กรกฎาคม 2568 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย

โดยการประชุม INFOFISH Special Governing Council Meeting 2025 ระหว่างวันที่ 14 - 15 กรกฎาคม 2568 คณะผู้แทนไทยได้ร่วมพิจารณาประเด็นการหารือเร่งด่วนขององค์กร INFOFISH ซึ่งประกอบด้วย

1. การดำเนินการขององค์กรเพื่อลดปัญหาและอุปสรรคในการขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ในประเทศมาเลเซียของเจ้าหน้าที่ INFOFISH ที่มิใช่สัญชาติมาเลเซีย

2. การปรับปรุงกฎระเบียบ INFOFISH Staff Regulation โดยนำ Rules Governing the Appointment of Professional Staff มารวมไว้ด้วยกัน เพื่อให้การบริหารงานด้านบุคลากรมีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ

3. การกำหนดและเร่งกระบวนการสรรหา Director, INFOFISH ซึ่งตำแหน่งว่างอยู่เป็นเวลานาน โดยมุ่งหวังให้กระบวนการดังกล่าวแล้วเสร็จและสามารถแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งได้ในการประชุม INFOFISH Governing Council Meeting ครั้งที่ 39 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 - 27 พฤศจิกายน 2568 ณ สหพันธรัฐมาเลเซีย

สำหรับการประชุม INFOFISH Technical and Advisory Board Meeting ครั้งที่ 38 ระหว่างวันที่ 16 - 18 กรกฎาคม 2568 คณะผู้แทนไทยได้ให้คำมั่นในการสนับสนุนความร่วมมือกับ INFOFISH และประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเป็นเจ้าภาพร่วมกับ INFOFISH ในการจัดประชุม The 5th International Technical Conference and Exposition on Tilapia ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 - 6 พฤศจิกายน 2568 ณ ราชอาณาจักรไทย โดยการประชุมดังกล่าวจะเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสำหรับการเพาะเลี้ยงปลานิล รวมถึงการวิเคราะห์สถานะ ทิศทาง โอกาส และแนวโน้มของอุตสาหกรรมปลานิลตลอดห่วงโซ่การผลิต

โอกาสนี้ คณะผู้แทนไทยยังได้ร่วมผลักดันให้ INFOFISH จัดกิจกรรมการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการตลาดสินค้าสัตว์น้ำ อาทิ การพัฒนาและปรับปรุงผลผลิตและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำให้สอดคล้องกับตลาดโลก การวิเคราะห์ทิศทางและแนวโน้มของการค้าสินค้าสัตว์น้ำ การวิเคราะห์ผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่าง ๆ และการเข้าถึงและการแสวงหาตลาดสินค้าสัตว์น้ำใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่กิจกรรมการฝึกอบรมในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งจะช่วยลดข้อจำกัดด้านงบประมาณและก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิกโดยรวมได้มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ คณะผู้แทนไทยยังได้เสนอต่อที่ประชุม เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการขอให้ INFOFISH สนับสนุนการจัด การประชุมเชิงปฏิบัติการ Workshop on "Identification of Sharks and Rays Listed under CITES and Utilization of Their Parts for Commercial Purposes" เพื่อพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ประเทศสมาชิกในการตรวจสอบชิ้นส่วนของฉลามและกระเบนที่นำเข้าและส่งออกให้มีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามหลักการอนุรักษ์ของ CITES รวมถึงการแสดงเจตจำนงในการเข้าร่วมกิจกรรมฝึกอบรมภายใต้โครงการ Seaweed Development Project ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสาหร่ายของไทยต่อไป

#กรมประมง

#กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

 แชร์เนื้อหา : ส่ง email แชร์ X ส่ง Line แชร์ Facebook