นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง มอบหมายให้นางสาวสัมพันธ์ ปานจรัตน์ ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนพัฒนาการประมง ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วยพร้อมด้วย นายธีระพงษ์ อภัยภักดี ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการเรือประมงและการทำการประมง เป็นผู้แทนสำรอง เข้าร่วมการประชุมภาคีสมาชิก ครั้งที่ 12 (The 12th Meeting of the Parties: MoP12) ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการทำการประมงในพื้นที่มหาสมุทรอินเดียตอนใต้ (Southern Indian Ocean Fisheries Agreement: SIOFA) ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 4 กรกฎาคม 2568 ณ สาธารณรัฐมอริเชียส
ซึ่ง MoP เป็นการประชุมภาคีสมาชิกภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการทำการประมงในพื้นที่มหาสมุทรอินเดียตอนใต้ (Southern Indian Fisheries Agreement, SIOFA)
นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกรมประมงเข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ ได้แก่ กองบริหารจัดการเรือประมงและการทำการประมง กองตรวจสอบเรือประมง สินค้าสัตว์น้ำ และปัจจัยการผลิต กองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล กองประมงต่างประเทศ และกองกฎหมาย ร่วมสนับสนุนข้อมูล
ทั้งนี้ สมาชิก SIOFA ประกอบด้วย ออสเตรเลีย จีน รัฐหมู่เกาะคุก อียู ฝรั่งเศสดินแดนโพ้นทะเล ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มอริเชียส เซเชลส์ จีนไทเป และไทย โดยมีโคโมรอสและอินเดีย เป็นสมาชิกที่ให้ความร่วมมือแบบไม่มีพันธสัญญา (Cooperating Non Contracting Party, CNCP) นอกจากนี้ยังมีประเทศ องค์กรระหว่างประเทศและองค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศต่างๆได้ร่วมสังเกตการณ์การประชุมเป็นจำนวนมาก เช่น แอฟริกาใต้ เคนยา FAO DSF DSCC JMA และ PEW
โดยที่ประชุม MoP ได้พิจารณาผลการประเมินการปฏิบัติตามมาตรการอนุรักษ์และบริหารจัดการ (Conservation and Management Measures, CMMs) ในการทำประมง ของแต่ละภาคีสมาชิกในรอบปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทยได้รับการประเมินว่าสามารถปฏิบัติตามมาตรการของ SIOFA ได้ครบถ้วนและตรงตามกรอบเวลา
นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันพิจารณาบัญชีเรือ IUU พิจารณาข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมมาตรการอนุรักษ์และบริหารจัดการ (CMMs) ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง เช่น ระบบ SIOFA VMS มาตรฐานการรายงานข้อมูลและการรักษาความลับของข้อมูล มาตรการป้องกันผลกระทบต่อนกทะเลในพื้นที่ตอนใต้ของละติจูด25° ใต้ การกำหนดให้บางพื้นที่เป็นเขตอนุรักษ์ห้ามไม่ให้มีการทำประมงหน้าดิน (Benthic Protected Area) การกำหนดโควต้าปลาบางชนิด ในบางพื้นที่ มาตรการป้องกันผลกระทบต่อปลาฉลามน้ำลึก เป็นต้น การพิจารณาการต่อสถานะ CNCP ของโคโมรอสและอินเดีย การพิจารณาด้านการบริหารสำนักเลขาธิการ SIOFA สถานะทางการเงิน อนุมัติแผนงานวิทยาศาสตร์ แผนงานการติดตาม ควบคุมและเฝ้าระวังการทำการประมง รวมถึงอนุมัติงบประมาณและแผนการใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมทั้งหมดของ SIOFA
การเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งเวทีที่ประเทศไทยได้แสดงบทบาทเชิงรุกในการร่วมมือด้านการประมงระหว่างประเทศ พร้อมทั้งยืนยันจุดยืนในการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรประมงอย่างรับผิดชอบ และยั่งยืนตามหลักการสากล
#กรมประมง
#กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์