เปิดงาน The Fisheries Officer Exchange Program ร่วมกับตัวแทนประเทศในโครงการ RPOA – IUU

 บุคคลในภาพ  นายประเทศ  ซอรักษ์ (รองอธิบดีกรมประมง) 
 ฟังเสียงบรรยาย
 หยุดเสียงบรรยาย

วันจันทร์ ที่ 23 มิถุนายน 2568 เวลา 9.30 น. ณ ห้องประชุมกุลาดำ ชั้น 7 อาคารจุฬาภรณ์ กรมประมง

นายประเทศ ซอรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เป็นประธานและกล่าวเปิดงาน The Fisheries Officer Exchange Program ร่วมกับตัวแทนประเทศในโครงการ RPOA – IUU ได้แก่ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์ – เลสเต สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ประเทศมาเลเซีย และสาธารณรัฐฟิลิปปินส์

โดยกรมวิชาการเกษตร การประมง และป่าไม้ (Department of Agriculture, Fisheries and Forestry: DAFF) ของเครือรัฐออสเตรเลีย ได้ริเริ่มโครงการ Combating IUU Fishing & Promoting Sustainability Program (SEA - IUU Fishing Program) ซึ่งภายใต้โครงการฯ มี4 กิจกรรมหลัก โดยหนึ่งในกิจกรรม คือ Fisheries Officer Exchange Program ซึ่งประเทศในโครงการ RPOA – IUU ให้ความสนใจและขอรับการสนับสนุนจากประเทศไทยที่จะมาศึกษา เรียนรู้การปฏิบัติงานด้านการติดตามตรวจสอบ ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมง (Monitoring, Control, and Surveillance: MCS) ดังนั้น กรมประมงและ DAFF ได้ร่วมมือกันในการสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว โดยกรมประมงได้จัดทำโปรแกรมและเสนอให้ DAFF พิจารณา โดยเห็นชอบร่วมกันที่จะทำการอบรมเชิงปฎิบัติการ ณ ประเทศไทย โดยให้ประเทศสมาชิกเสนอผู้แทนเข้าร่วมการอบรมฯประเทศละ 3 ราย ซึ่งการอบรมใช้เวลาทั้งสิ้น จำนวน 5 วัน ระหว่างวันที่ 23 – 27 มิถุนายน 2568 โดยการแลกเปลี่ยนจะเป็นไปในลักษณะของการเรียนรู้ในห้องประชุมผ่านการบรรยายภาคทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติผ่านเหตุการณ์สมมุติด้าน MCS ของไทย อาทิ

1) การเก็บข้อมูลและการประเมินทรัพยากรของไทย

2) การออกใบอนุญาตทำการประมงและการกำหนดมาตรการ

3) การดำเนินการด้านแรงงานประมง (ภายในขอบเขตของกฎหมายประมง)

4) การปฏิบัติงานของศูนย์ FMC ในการควบคุมเรือประมงไทย

5) การตรวจเรือประมงที่ท่าเรือของเจ้าหน้าที่ PIPO

6) การดำเนินการตามมาตรการรัฐเจ้าของท่า ตลอดจนการนำคณะเจ้าหน้าที่ไปศึกษาดูงานในพื้นที่เพื่อสังเกตการณ์การปฏิบัติงานของศูนย์ PIPO และการตรวจสอบตามมาตรการรัฐเจ้าของท่า

ทั้งนี้ การแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีของประเทศไทยในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงและการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการประมง IUU ผ่านมาตรการ MCS ต่าง ๆ ที่ดำเนินการอยู่จะเป็นต้นแบบที่ดีให้ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค นำองค์ความรู้ที่ได้เรียนรู้จากประเทศไทยกลับไปประยุกต์ปฏิบัติตามบริบทของประเทศตน ตลอดจนจะเป็นการเสริมสร้างเครือข่ายระหว่างเจ้าหน้าที่ MCS ของกลุ่มประเทศ RPOA – IUU ให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นในการร่วมกันต่อต้านการประมง IUU ในภูมิภาค และเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรประมงร่วมกันในอนาคตอีกด้วย

#กรมประมง

#กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

 

 แชร์เนื้อหา : ส่ง email แชร์ X ส่ง Line แชร์ Facebook