เข้าร่วมประชุมกับ Dr.Dianne Mclean นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลอาวุโส

 บุคคลในภาพ  นายบัญชา  สุขแก้ว (อธิบดีกรมประมง) 
 ฟังเสียงบรรยาย
 หยุดเสียงบรรยาย

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน 2568 เวลา 09.00 น. ณ The Australian Institute of Marine Science (AIMS) ชั้น 5 อาคาร Indian Ocean Marine Research centre , The University of Western Australia เมืองเพิร์ธ เครือรัฐออสเตรเลีย

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง พร้อมด้วย นายพลพิศิลป์ สุวรรณชัย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการประมง นายสุวัฐน์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมประมง นายอำนวย คงพรหม ผู้ตรวจราชการกรม นายกำพล ลอยชื่น ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล นางสาววันทนา เจนกิจโกศล ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องมือประมง คณะผู้วิจัย เเละคณะทำงานโครงการศึกษาวิจัยการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลเพื่อการประมงจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม นอกชายฝั่งทะเลอ่าวไทย เข้าร่วมประชุมกับ Dr.Dianne Mclean นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลอาวุโส หัวหน้าทีมวิจัยและคณะผู้วิจัยจาก AIMS เพื่อรับฟังการบรรยายเเละแลกเปลี่ยนข้อมูลผลการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศก่อน-หลังการจัดวางปะการังเทียม และระหว่างการเคลื่อนย้าย โดยมีการศึกษาชนิด ปริมาณ และความชุกชุมของทรัพยากรสัตว์น้ำ คุณภาพน้ำ กระแสน้ำ รวมถึงความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารในน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางปะการังเทียมที่ทำมาจากแท่นหรือโครงสร้างหลักในภาคปิโตรเลียม ซึ่งรัฐบาลออสเตรเลียมีกฎหมายที่กำหนดให้บริษัทผู้ผลิตก๊าซหรือน้ำมันที่ยุติการผลิตต้องนำอุปกรณ์พร้อมท่อส่งก๊าซขึ้นจากทะเล โดยการศึกษาในโครงการนี้นอกจากจะใช้นักวิจัยในการเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์แล้ว ยังมีการตั้งกล้องประจำจุด และกล้อง ROV เพื่อบันทึกภาพและมีการนำ AI มาใช้ในการประเมินผลข้อมูลอีกด้วย

จากนั้น คณะผู้บริหารและผู้วิจัยได้เดินทางต่อไปยังท่าเรือ Hillarys เพื่อเข้าร่วมประชุมและรับฟังการบรรยายการติดตามประเมินผลภายหลังการจัดวางปะการังเทียมเขตชายฝั่งออสเตรเลียตะวันตก ร่วมกับหน่วยงาน Recfishwest ที่เป็นหน่วยงานอิสระที่มุ่งเน้นการเพิ่มประสบการณ์ของการประมงเชิงสันทนาการ และเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลการบริหารจัดการแหล่งปะการังเทียมชายฝั่งตะวันตกของเครือรัฐออสเตรเลียที่มีความยาวตลอดชายฝั่งกว่า 20,781 กิโลเมตร ซึ่งทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและองค์กรท้องถิ่นทั้งระดับรัฐบาลกลางและระดับรัฐในการขออนุญาตและบริหารจัดการการใช้ประโยชน์จากปะการังเทียม รวมถึงการติดตามหลังการวางปะการังเทียมต่อเนื่องไปอีก 30 ปี ตามที่กฎหมายออสเตรเลียกำหนด ซึ่งการประชุมหารือเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้ ได้มีการบรรยายขั้นตอนและกระบวนการการขออนุญาตการจัดวางปะการังเทียมทั้งระดับรัฐและรัฐบาลกลาง ข้อกำหนดและเงื่อนไขการอนุญาต กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแนวทางการศึกษาวิจัยเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการขออนุญาตอีกด้วย ทั้งนี้ ทาง Recfishwest ได้นำเสนอโครงการ King reef ที่ดำเนินการจัดวางปะการังเทียมจากทุ่นพยุงของอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ซึ่งเป็นโครงการที่ได้ผลตอบรับและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านความหลากหลายของสัตว์น้ำสัตว์เกาะติด รวมถึงปริมาณการจับสัตว์น้ำเชิงสันทนาการที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบัน Recfishwest ได้เสนอโครงการวางปะการังเทียมให้แก่ภาครัฐแล้วกว่า 17 โครงการ โดยมีโครงการที่ได้รับอนุญาตเเละดำเนินการแล้ว 7 เเห่ง เเละอยู่ระหว่างการอนุมัติ 10 โครงการ โดยใช้ระยะเวลาการขออนุญาต 6 เดือนถึง 2 ปี

#กรมประมง

 

 แชร์เนื้อหา : ส่ง email แชร์ X ส่ง Line แชร์ Facebook