ระหว่างวันที่ 21-23 พฤษภาคม 2568 ณ ห้องประชุมตะพัดทอง ชั้น 2 อาคารกองประมงต่างประเทศ กรมประมง และระบบประชุมออนไลน์ Zoom Cloud Meetings

 บุคคลในภาพ  นางฐิติพร  หลาวประเสริฐ (รองอธิบดีกรมประมง) 
 ฟังเสียงบรรยาย
 หยุดเสียงบรรยาย

ไทยร่วมขับเคลื่อนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน บนเวที FAO ระดับโลก

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง มอบหมายให้นางฐิติพร หลาวประเสริฐ รองอธิบดีกรมประมง เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ครั้งที่ 13 ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO – COFI Sub-Committee on Aquaculture) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 23 พฤษภาคม 2568 ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีผู้แทนจากกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง และกองประมงต่างประเทศ เข้าร่วมในคณะผู้แทนไทย

กรมประมงได้ผลักดันแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน – เศรษฐกิจชีวภาพ” สู่วงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโลก

ในการประชุมครั้งนี้ กรมประมงได้นำเสนอข้อมูลความก้าวหน้าในการดำเนินงานด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน โดยสอดคล้องกับหัวข้อสำคัญที่ประเทศสมาชิก FAO ให้ความสำคัญ คือ “ระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนในบริบทของเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจชีวภาพ” ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร ลดของเสีย และเสริมสร้างความยืดหยุ่นของระบบการผลิตในระยะยาว รวมถึงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยโครงการสำคัญของไทยที่ถูกยกเป็นตัวอย่างระดับสากล ได้แก่

1) โครงการนำร่องการเลี้ยงปลาในนาข้าวเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและเป็นแนวทางรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Climate Change

2) การส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปลาหมัก (Fish silage) และโปรตีนไฮโดรไลเสตจากเศษปลา ให้แก่เกษตรกร และจัดทำฟาร์มต้นแบบโดยใช้วัตถุดิบดังกล่าวเป็นส่วนผสมในการผลิตอาหารสัตว์น้ำเพื่อนำของเสียมาใช้ประโยชน์และลดการพึ่งพาการใช้ปลาป่น

3) จุดสาธิตการเลี้ยงหอยแครงระบบ Zero Waste ยกระดับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งสู่ระบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

4) โครงการเพาะเลี้ยงกุ้งคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon Aquaculture) เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก FAO เป็นต้นแบบการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

5) การส่งเสริมการเพาะเลี้ยงและการแปรรูปสาหร่ายทะเล

รวมทั้ง 6) การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำระบบน้ำหมุนเวียน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ประเทศไทยได้ผลักดันให้ FAO สนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม โดยขอให้ FAO สนับสนุนทางวิชาการและงบประมาณอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และผู้ผลิตสัตว์น้ำ รวมถึงส่งเสริมโครงการนำร่องที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ภาคการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนของประเทศสมาชิก

#กรมประมง

#กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

 

 แชร์เนื้อหา : ส่ง email แชร์ X ส่ง Line แชร์ Facebook