วันที่ 13 พฤษภาคม 2568 นายวิรัตน สนิทมัจโร ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินกิจกรรมรับซื้อปลาหมอคางดำเป็นวันแรกในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมีแพปลาผู้รวบรวม จำนวน 4 แพ ที่เปิดรับซื้อปลาหมอคางดำ มีเกษตรกรจับปลาหมอคางดำทั้งจากแหล่งน้ำธรรมชาติและจากบ่อเลี้ยงมาจำหน่ายแล้ว จำนวน 21,331 กิโลกรัม ซึ่งสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงครามได้จัดชุดเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบน้ำหนักและตรวจรับปลาหมอคางดำให้ถูกต้องครบถ้วน ก่อนนำส่งไปยังจุดที่การยางแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำหนดต่อไป
ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 เห็นชอบแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567 – 2570 ของกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยที่ผ่านมากรมประมงร่วมกับการยางแห่งประเทศไทยและกรมพัฒนาที่ดิน มีการรับซื้อปลาหมอคางดำจากทั้งบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรและแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อนำไปผลิตน้ำหมักชีวภาพ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการกำจัดปลาหมอคางดำ กรมประมงจึงดำเนินโครงการควบคุมและกำจัดประชากรปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับซื้อปลาหมอคางดำ ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด โดยจะรับซื้อปลาหมอคางดำทั้งที่จับได้จากบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรและแหล่งน้ำธรรมชาติ ในราคากิโลกรัมละ 20 บาท (รวมค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายทั้งปวง)
ทั้งนี้ กรมประมง ได้อนุมัติการดำเนินกิจกรรมการรับซื้อปลาหมอคางดำที่ถูกกำจัดออกจากแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด ตามโครงการควบคุมและกำจัดประชากรปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง โดยจัดสรรโควต้าการรับซื้อปลาหมอคางดำให้จังหวัดสมุทรสงคราม จำนวน 750 ตัน เป็นเงิน 15 ล้านบาท (เกษตรกรขายได้ 15 บาท/กิโลกรัม แพผู้รวบรวม ได้ 5 บาท/กิโลกรัม)
กรมประมงมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามแผนปฏิบัติการในระยะยาว เพื่อให้เกิดการควบคุมและกำจัดประชากรปลาหมอคางดำในทุกพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด โดยมีเป้าหมายในการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศของแหล่งน้ำทั่วประเทศอย่างยั่งยืน
#กรมประมง
#กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์