ติดตามผลการดำเนินงานในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนการวิจัยแก่กรมประมง จำนวน 2 โครงการ

 ฟังเสียงบรรยาย
 หยุดเสียงบรรยาย

เมื่อวันอังคารที่ 21 มกราคม 2568 เวลา 09.00 - 15.00 น. ณ อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง มอบหมายให้นายคงภพ อำพลศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง พร้อมด้วย นางธีรภัทร์ ตงวัฒนากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเพชรบุรี นายประพัฒน์ กอสวัสดิ์พัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพชรบุรี นางสาวนวนิตย์ คล่องแคล่ว หัวหน้ากลุ่มวิชาการกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง และนางสาวชนิกานต์ โชติมา หัวหน้ากลุ่มวิชาการกองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ ร่วมให้การต้อนรับ ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (ARDA) คณะผู้บริหาร และสื่อมวลชน ที่เดินทางมาติดตามผลการดำเนินงานในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนการวิจัยแก่กรมประมง จำนวน 2 โครงการ ได้แก่

1. โครงการ “การกระจายพันธุ์กุ้งขาวแวนาไม พันธุ์ปรับปรุงสู่ภาคการผลิตเชิงพาณิชย์" ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเพชรบุรี กรมประมง ซึ่งเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีในการปรับปรุงกุ้งขาวแวนนาไม จนเกิดกุ้งขาวสายพันธุ์ใหม่ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ "เพชรดา 1" เจริญเติบโตดี และ “ศรีดา 1” ต้านทานโรค EMS-AHPND และได้ขยายผลความสำเร็จโดยการกระจายพันธุ์กุ้งขาวแวนาไมพันธุ์ปรับปรุงสู่ภาคการผลิตเชิงพาณิชย์ เพื่อยกระดับความสามารถในการผลิตกุ้งทะเลคุณภาพดี มีความต้านทานโรค สร้างเป็นทางเลือกให้เกษตรกรนำไปเพาะเลี้ยง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตถึง 10 ล้านตัว/ปี ซึ่งจะเป็นทางเลือกให้เกษตรกรลดการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์จากต่างประเทศ ลดการใช้พ่อแม่พันธุ์กุ้งขาวจากบ่อดินซึ่งมีความเสี่ยงกับเชื้อก่อโรค ที่อาจสร้างความสูญเสียผลผลิตของเกษตรกรจากโรคระบาด โดยโครงการวิจัยนี้ได้กระจายพ่อแม่พันธุ์กุ้งขาวแวนนาไมทั้ง 2 สายพันธุ์จำนวน 5,150 คู่ สู่เกษตรกรโรงเพาะฟัก จำนวน 5 ราย เกษตรกรโรงอนุบาลจำนวน 15 ราย และเกษตรกรผู้เลี้ยงจำนวน 50 ราย โดยผลผลิตจากงานวิจัยข้างต้น ก่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรโรงเพาะฟัก ทำให้มีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นจากการลดจำนวนกุ้งที่ตายโดยเชื้อก่อโรค คิดเป็นมูลค่า 8,640,000 บาท/ปี ส่วนเกษตรกรโรงอนุบาล ให้มีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นจากการลดจำนวนกุ้งทดแทนจากการนำเข้า คิดเป็นมูลค่า 20,736,000 บาท/ปี ตลอดจนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง มีกำไรเพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายกุ้งที่เพิ่มขึ้นจากเดิม คิดเป็นมูลค่า 2,709,504 บาท/ปี คิดเป็นมูลค่า ผลประโยชน์รวม 32,085,504 บาท/ปี

และ 2. โครงการ “การขยายผลนวัตกรรมการเพาะเลี้ยงและการแปรรูปสาหร่ายผักกาดทะเลเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างเศรษฐกิจสีเขียวในชุมชนชายฝั่งจังหวัดเพชรบุรี ระยอง และจันทบุรี” โดยโครงการนี้ตั้งเป้าหมายในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรสำหรับนำนวัตกรรมงานวิจัยมาเพิ่มมูลค่าผลผลิต ตั้งแต่กระบวนการเพาะเลี้ยงในถังพลาสติกไปจนถึงการแปรรูปสร้างมูลค่า เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ ที่เน้นบริโภคผลิตภัณฑ์ที่รับประทานได้สะดวก รวดเร็ว มีคุณค่าทางโภชนาการปลอดภัยต่อสุขภาพ และมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “สาหร่ายผักกาดทะเล” เป็นหนึ่งในสาหร่ายเศรษฐกิจที่มีความพร้อมในการผลักดันสู่อาหาร Future food เนื่องจากสามารถนำมาแปรรูปเป็นเมนูได้หลากหลายโดยจุดเด่นที่น่าสนใจของสาหร่ายชนิดนี้คือ ใช้ระยะเวลาการเลี้ยงสั้นเพียง 3-4 สัปดาห์ ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจำหน่ายได้ ทำให้บริหารจัดการการเลี้ยงได้ง่าย อีกทั้งราคาผลผลิตสดสามารถจำหน่ายได้ราคา 300-500 บาท/กิโลกรัม และแบบแห้งราคาสูงถึง 5,000 บาท/กิโลกรัม โดยคาดว่าจะมีผลผลิตสาหร่ายผักกาดทะเลออกจำหน่ายแก่ผู้บริโภคไม่ต่ำกว่า 3,500 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.4 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสและทางเลือกในการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจ เกิดเป็นศูนย์เรียนรู้การเพาะเลี้ยงสาหร่ายผักกาดทะเลและเป็นต้นแบบในการต่อยอดขยายผลไปยังพื้นที่อื่นต่อไป

นอกจากนี้ ได้เดินทางไปยัง Family Farm เพื่อเยี่ยมชมฟาร์มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ

โดยเป็นฟาร์มสาหร่ายพวงองุ่นแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการเพาะเลี้ยงจากกรมประมง ซึ่งสามารถสร้างรายได้จากการผลิตและจำหน่ายสาหร่ายและผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายต่าง ๆ เฉลี่ย 180,000 บาท/เดือน และได้เข้ารับการอบรมการเพาะเลี้ยงสาหร่ายผักกาดทะเลกับทางกรมประมง และนำมาต่อยอดทดลองเลี้ยงในฟาร์มในบ่อไฟเบอร์กลาสประมาณ 10 ถัง สามารถสร้างผลผลิตสาหร่ายผักกาดทะเลได้ 10 -20 กิโลกรัม/เดือน สร้างรายได้ประมาณ 10,000 / เดือน

#กรมประมง

#กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

#กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง

 แชร์เนื้อหา : ส่ง email แชร์ X ส่ง Line แชร์ Facebook