ประเทศไทย โดยกรมประมงร่วมมือกับศูนย์วิจัยประมงน้ำจืดแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำหายากและการพัฒนาอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงปลาในนาข้าว เปิดเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับประเทศสมาชิกในความร่วมมือแถบลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง (Lancang-Mekong Cooperation: LMC) เพื่อวางรากฐานทรัพยากรบุคคล ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 พฤศจิกายน - 6 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา
สำหรับการฝึกอบรมฯ ดังกล่าว จัดขึ้นภายใต้ “โครงการความร่วมมือการอนุรักษ์ชีววิทยาทางน้ำและการประมงในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง” มีวัตถุประสงค์เพื่อวางรากฐานทรัพยากรบุคคลในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ด้วยการเสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้คงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ และยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบริเวณลุ่มแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน ประกอบด้วยประเทศสมาชิกทั้งหมด 6 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ราชอาณาจักรกัมพูชา และราชอาณาจักรไทย ซึ่งการจัดอบรมครั้งนี้ไทยและจีนเป็นเจ้าภาพร่วมกันในการเอื้อเฟื้อสถานที่ และได้รับการสนับสนุนงบประมาณและวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยประมงน้ำจืดแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยผู้เข้าร่วมอบรมเป็นเจ้าหน้าที่กรมประมงจากราชอาณาจักรไทย ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งล้วนเป็นบุคคลสำคัญที่ทำหน้าที่เป็นแกนหลักในการถ่ายทอดองค์ความรู้จากการฝึกอบรมไปสู่หน่วยงานและชุมชนในประเทศของตน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน และเป็นโอกาสอันดีที่จะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในภูมิภาคล้านช้าง - แม่โขง ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
การฝึกอบรมฯ ครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้แทนจากประเทศในภูมิภาคล้านช้าง - แม่โขงได้เพิ่มพูนทักษะและองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ผ่านการบรรยายในหัวข้อต่าง ๆ ได้แก่ กลยุทธและนโยบายการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงปลาในนาข้าว แนวทางการบริหารจัดการและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำหายาก และการบริหารจัดการทรัพยากรประมงแถบลุ่มแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง รวมถึง กิจกรรมการศึกษาดูงานการเพาะเลี้ยงปลาในนาข้าวจากสถานที่จริง ณ ศูนย์การเรียนรู้เพิ่มรักษ์ฟาร์มของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพีจีเอสออร์แกนิคขุนตาล ซึ่งเป็นตัวอย่างของกลุ่มเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรแบบอินทรีย์ มีแนวทางการผลิตที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยปราศจากการใช้สารเคมี เพื่อให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพและสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน และอีกหนึ่งกิจกรรมที่สำคัญ คือ การศึกษาดูงานด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเชิงพาณิชย์ ณ โชคอนันต์ฟาร์ม จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบครบวงจรในพื้นที่ภาคเหนือ ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ปลานิลตามหลักพันธุศาสตร์และมาตรฐานการผลิตจากกรมประมง รวมถึงได้รับยกย่องเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ประจำปี 2563 อีกด้วย