ประวัติสำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี


ประวัติสำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี 

 ข่าวประชาสัมพันธ์  หน่วยงาน  หน่วยงานส่วนภูมิภาค

ส่ง email ทวิต Tweeter ส่ง Line แชร์ Facebook
ฟังเสียงบรรยาย
ฟังเสียงบรรยาย

ความเป็นมา การบริหารราชการส่วนภูมิภาค

                     พ.ศ.2495 ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2495 โดยการบริหารราชการส่วนภูมิภาค (Provincial Administration) เป็นการบริหารราชการแผ่นดินตามหลักการแบ่งอำนาจ (Deconcentration) ราชการบริหารส่วนกลางจะมอบอำนาจหน้าที่ในกิจการบางอย่างไปให้แก่ราชการบริหารส่วนภูมิภาคไปปฏิบัติจัดทำ มีอำนาจตัดสินใจในขอบเขตที่จำกัดบางอย่างตามที่ราชการบริหารส่วนกลางจะได้มอบไว้ให้หน่วยงานที่ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค เป็นกลไกสำคัญทางการเมืองในการแปลงนโยบายการเมืองสู่การปฏิบัติ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 51 ได้บัญญัติให้การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคมีสองรูปแบบคือ จังหวัด และอำเภอ

เอกสารอ้างอิง: ประวัติความเป็นมาของกรมประมง, ธรรมเนียบผู้บริหารกรมประมง

 

ความเป็นมา สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี 


ที่มา:  ...ประวัติสำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี และประมงจังหวัดคนแรก, ธันวาคม 2548, สำนักงานเลขานุการกรมประมง

รายนามผู้ดำรงตำแหน่งประมงจังหวัดสระบุรี

 

 

เมื่อ ปี พ.ศ. 2559 จังหวัดสระบุรี ได้มีการจัดสร้าง ศูนย์ราชการจังหวัดสระบุรี

ตั้งอยู่เลขที่ 123 หมู่ 6 ตำบลตะกุด อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 53 ไร่ 49 ตารางวา เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2559
วางศิลาฤกษ์ เมื่อวันอังคารที่ 6 กันยายน 2559 นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เป็นประธานพิธีฯ

และเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน 2561 เวลา 13.30 น. นายธีรทัศน์ ศิริแดง ดำรงตำแหน่งเป็นประมงจังหวัดสระบุรี พร้อมด้วยข้าราชการ ลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี เข้าร่วมพิธีบวงสรวงและอัญเชิญองค์ครุฑขึ้นประดิษฐานหน้าบันศาลากลางจังหวัดสระบุรีหลังใหม่ โดยมีนายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี(ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี คนใหม่) พร้อมคณะอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ร่วมเป็นประธานในพิธี ณ ศูนย์ราชการจังหวัดสระบุรี (บริเวณอ่างเก็บน้ำคลองเพรียว) ตำบลตะกรุด อำเภอเมืองฯ จังหวัดสระบุรี

      

      

      

 

และในปี พ.ศ. 2562 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี เริ่มมีการเปิดให้บริการประชาชน

 
โดยสำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี อยู่ชั้น 2 (ข้างฝั่งหอประชุมใหญ่) ณ ศูนย์ราชการจังหวัดสระบุรี ตำบลตะกุด อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี

เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2562 เวลา 09.19 น. 

นางสาวรัตนา ใจเย็น ประมงจังหวัดสระบุรี (ประมงจังหวัดหญิง คนแรกของจังหวัดสระบุรี) ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารของสำนักงานประมงจังหวัดสระบุรีในเวลานั้น ได้จัดพิธีทำบุญสำนักงานฯ โดยได้รับเกียรติจากพระเดชพระคุณพระราชธีราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระพุทธฉาย รองเจ้าคณะภาค 2  มาเป็นประธานในการประกอบพิธีทางศาสนา ณ สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี ก่อนเปิดให้บริการประชาชน เพื่อความเป็นสิริมงคล สร้างขวัญและกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี

โทรศัพท์ 036 340 742, 036 340 743 โทรสาร 036 340 742

 

แผนที่จังหวัดรสระบุรี : ภาพแสดงความสูงของจังหวัด | Slope Mass Movement | Surface Water

ประวัติศาสตร์และเรื่องราวท้องถิ่น : เมืองสระบุรี

              สระบุรี เป็นจังหวัดที่มีความน่าสนใจในฐานะเมืองสำคัญทั้งทางโบราณคดี และทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์  
ปัจจุบัน สระบุรี ถือว่าเป็นจังหวัดใหญ่ที่มีอาณาเขตติดต่อกับหลายจังหวัด เช่น ลพบุรี นครนายก นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น 

               คำว่า สระบุรี ที่ปัจจุบันนิยมอ่านว่า สะ-ระ แต่เดิมมาจากคำว่า สระ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับสระน้ำโบราณสมัยทวารวดี ซึ่งเป็นศาสนสถานเขมร แต่ปัจจุบันชาวสระบุรีรวมถึงชาวจังหวัดอื่นๆ ส่วนใหญ่ได้ลืมเลือนความหมายของคำดังกล่าวจากความทรงจำแล้ว

               เมื่อกล่าวถึงจังหวัดสระบุรีในทางประวัติศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรม ส่วนใหญ่นึกถึงรอยพระพุทธบาทในฐานะของแหล่งแสวงบุญที่สำคัญของประเทศ เมืองสระบุรี ในจารึกเขมรโบราณเดิมชื่อ "เมืองปรันตะปะ" จากการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีพบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ปรากฏแหล่งอารยธรรมโบราณจำนวนมากตรงพื้นที่นี้ เนื่องจากปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ โดยมีแม่น้ำป่าสักซึ่งเป็นแม่น้ำสายใหญ่ช่วยหล่อเลี้ยงป่าไม้ในพื้นที่ให้อุดมสมบูรณ์ สระบุรีจึงเป็นจุดหมายปลายทางในการอพยพของคนหลายเชื้อชาติ โดยเฉพาะกลุ่มคนเชื้อสายลาว และกลุ่มไทยญวน กลายเป็นเหมือนหม้อที่หลอมรวมวัฒนธรรมที่หลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน

การอพยพถิ่นฐานของชาวไท-ยวน ในอดีต    ภาพลายเส้น ในหอวัฒนธรรมไท-ยวน เล่าเรื่องคนไทยวนในอดีตที่อพยพมาอยู่จังหวัด                   สระบุรี
                            การอพยพถิ่นฐานของชาวไท-ยวน ในอดีต                                          ภาพลายเส้น ในหอวัฒนธรรมไท-ยวน เล่าเรื่องคนไทยวนในอดีตที่อพยพมาอยู่จังหวัดสระบุรี

               ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยกรุงเทพฯ เมืองสระบุรีมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่าน ซึ่งเป็นชุมทางเศรษฐกิจสำคัญในการขนส่งสินค้าจากเขตที่ราบสูงโคราชหรือเมืองทางตอนเหนือ ซึ่งมีการล่องซุงและสินค้าจากป่ามารวบรวมไว้ที่เมืองสระบุรีก่อนส่งไปยังอยุธยา ในสมัยอยุธยา สินค้าจากป่าจำนวนมากถือเป็นสินค้าสำคัญ เป็นทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคสำหรับชาวเมือง รวมทั้งใช้เป็นส่วย อากร และยุทธปัจจัยในการศึกสงคราม นอกจากสินค้าป่าแล้ว ชาวสระบุรียังผลิตพืชผลทางการเกษตรมาตั้งแต่สมัยโบราณ ดังนั้น การเป็นเมืองต้นทางของบรรดาสินค้าทั้งหลายที่จะส่งลงมายังเมืองหลวงจึงทำให้เศรษฐกิจของเมืองสระบุรีดีขึ้น กลายเป็นเมืองใหญ่ที่มีความมั่งคั่งมาตั้งแต่สมัยอยุธยาสืบมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์  

               สระบุรี ยังเป็นแหล่งจาริกแสวงบุญของพระมหากษัตริย์และของราษฎรมาตั้งแต่โบราณ ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่าพระมหากษัตริย์อยุธยาทรงพบพระพุทธฉายบนหน้าผาของเขาปฐวี ซึ่งอยู่บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในปัจจุบัน ในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมทรงพบรอยพระพุทธบาท ซึ่งต่อมากลายเป็นพุทธสถานสำหรับจาริกแสดงบุญของชาวอยุธยา มีประเพณีการจาริกแสดงบุญไปยังพระพุทธบาทสระบุรีที่ปฏิบัติเป็นประจำทุกปีของพระเจ้าแผ่นดินและราษฎรในอาณาจักรอยุธยา และสืบสานต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ปัจจุบัน สระบุรีเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ มีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจหลายแห่ง อาทิ ถ้ำพระโพธิสัตว์ สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 ตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก อำเภอมวกเหล็ก มีภาพสลักนูนต่ำทางพุทธศาสนาในวัฒนธรรมทวารวดี เป็นภาพพระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงธรรมแก่บรรดาเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมีความชัดเจนของภาพอยู่มาก

    
                 วัดพระพุทธบาท สระบุรี ที่ประดิษฐานรอบพระพุทธบาท                     หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญภายในถ้ำพระโพธิสัตว์ (ภาพสลักนูนต่ำสมัยทวารวดี)
                 ภาพวาดลายเส้นโดยคาเตนัชชี จากรูปสเก็ตช์ของมูโอต์                                                   ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

               นอกจากนี้ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะในเขตอำเภอมวกเหล็กและอำเภอแก่งคอยบริเวณเชิงขอบที่ราบสูงโคราช ซึ่งเป็นพื้นที่ที่แม่น้ำป่าสักไหลผ่านซอกเขาเกิดเป็นโตรก เป็นธาร และมีเพิงผาตลอด 2 ฝั่งลำน้ำ จึงเป็นที่นิยมสำหรับกิจกรรมล่องแก่ง

ที่มา: สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แหล่งความรู้ด้านไทยศึกษา เพื่อสังคมไทยและสังคมโลก

 

ประวัติศาสตร์และเรื่องราวท้องถิ่น :  ล่องแม่น้ำป่าสัก

               แม่น้ำป่าสัก ถือเป็นหนึ่งในแม่น้ำประวัติศาสตร์สำคัญ 3 สาย ที่ไหลผ่านกรุงศรีอยุธยา นอกจากแม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำเจ้าพระยา ลำน้ำป่าสักเมื่อครั้งอดีตเป็นเส้นทางที่พระเจ้าแผ่นดินใช้เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระพุทธบาทที่แขวงเมืองสระบุรี ซึ่งได้รับการสถาปนาให้เป็นศาสนสถานสำคัญมาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมในสมัยอยุธยา จนกลายเป็นพระราชประเพณีประจำปีของพระเจ้าแผ่นดินทุกรัชกาลสืบมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ แม่น้ำป่าสักเป็นเส้นทางคมนาคมที่มีความสำคัญมาตั้งแต่โบราณจึงมีโบราณสถานและชุมชนของชาวบ้านกระจัดกระจายตลอดเส้นทาง ซึ่งถือเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่น่าสนใจ เนื่องจากการล่องแม่น้ำป่าสักยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก ผู้สนใจเดินทางเส้นทางนี้จำเป็นต้องสำรองเช่าเรือล่วงหน้า

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

เรือในแม่น้ำป่าสัก อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2491
แม่น้ำป่าสักฤดูน้ำน้อย แก่งคอยเป็นที่ราบทางตะวันออกของกรุงเทพฯ อยู่ในจังหวัดสระบุรี ภาคกลางของไทย
ดร. โรเบิร์ต ลาริมอร์ เพนเดิลตัน (Dr. Robert Larimore Pendleton) นักวิทยาศาสตร์ทางดินและการเกษตร ชาวอเมริกัน 
ซึ่งเข้ามาปฏิบัติงานในฐานะที่ปรึกษาของกรมเกษตรและการประมง กระทรวงเกษตราธิการในขณะนั้น. University of Wisconsin-Milwaukee Libraries, ประเทศไทย 2491

                 สำหรับเส้นทางที่แนะนำนั้น ให้ออกเดินทางจากท่าเรือไปยังลำคูขื่อหน้า ซึ่งเป็นจุดบรรจบกันของแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำลพบุรี ซึ่งอยู่บริเวณด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเมืองอยุธยา กล่าวกันว่าบริเวณนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญและเป็นจุดที่กองทัพพม่าใช้โจมตีอยุธยาได้สำเร็จในสงครามเสียกรุงครั้งที่ 2 โดยมีสถานที่สำคัญ คือ พระราชวังจันทรเกษม หรือวังหน้าซึ่งเป็นที่ประทับของมหาอุปราช จากนั้นล่องเรือต่อไปจะพบร่องน้ำโบราณ  ซึ่งอดีตคือแม่น้ำหันตรา หรือแม่น้ำป่าสักสายเดิมที่เป็นคูเมืองของเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร เมืองอยุธยาโบราณก่อนที่พระรามาธิบดีจะมาการสร้างพระนครศรีอยุธยา

               ขอแนะนำให้จัดเตรียมข้าวของใส่บาตรไว้ด้วยเนื่องจากในช่วงเช้าจะมีพระสงฆ์พายเรือมาบิณฑบาตตามแม่น้ำ อันเป็นวิถีชีวิตของชุมชนแถบนี้มาตั้งแต่โบราณ ระหว่างล่องเรือจะพบว่าสองฝั่งของแม่น้ำเป็นเทือกสวนไร่นาของชาวบ้าน ซึ่งสามารถพบเห็นวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวบ้านไปได้ตลอดเส้นทาง

               เมื่อล่องเรือจนถึงเขตอำเภอนครหลวงจะพบกับปราสาทนครหลวง ซึ่งเป็นที่ประทับพักผ่อนพระอิริยาบถของพระมหากษัตริย์ในการเสด็จนมัสการพระพุทธบาท สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง และบริเวณใกล้เคียงกันมีวัดใหม่ประชุมพลซึ่งสามารถเข้าไปศึกษาสถาปัตยกรรมในสมัยประเจ้าปราสาททอง คือ เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง และพระพุทธรูปทรงเครื่องจักรพรรดิราชองค์ใหญ่ที่เป็นพระประธาน รวมถึงจิตรกรรมฝาผนังที่มีลวดลายสวยงามมาก

               เมื่อแวะชมวัดใหม่ประชุมพลเสร็จแล้วสามารถแวะรับประทานอาหารแถวนี้ ซึ่งมีก๋วยเตี๋ยวเรือและเรือกาแฟผ่านมาบริการ หรืออาจจะเตรียมอาหารมารับประทานบนเรือ

               จากนั้นให้ล่องเรือต่อไปยังหมู่บ้านอรัญญิก ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องของการตีมีด  ถือเป็นภูมิปัญญาไทยอีกอย่างหนึ่ง ต่อจากนั้นจะผ่านวัดวาอารามตลอด 2 ฝั่งซึ่งสามารถแวะเยี่ยมชมได้ จนกระทั่งไปถึงท่าเจ้าสนุก เขตอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นอำเภอที่อยู่ติดกับอำเภอเสาไห้จังหวัดสระบุรี

               หากพ้นจากอำเภอท่าเรือแล้วจะไม่สามารถเดินทางโดยทางเรือเพื่อไปนมัสการพระพุทธบาทต่อไปได้ เนื่องจากจะมีเขื่อนพระราม 6 ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้เป็นเขื่อนชลประทานสำหรับบริหารจัดการน้ำในลุ่มแม่น้ำป่าสัก (เขื่อนพระรามหก เป็นเขื่อนทดน้ำแห่งแรกในประเทศไทย เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2459 ก่อสร้างเสร็จทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2467 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่สร้างขวางลำน้ำธรรมชาติคือแม่น้ำป่าสัก เพื่อยกน้ำด้านหน้าให้มีระดับสูงด้วยวิธีการทดน้ำและสามารถไหลเข้าสู่ระบบชลประทานได้ เช่น คลองส่งน้ำ และเพื่อจัดสรรไปใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ตามความเหมาะสมทั้งการเกษตร การอุปโภคบริโภค)

จุฬาลงกรณ์ราชบรรณาลัย
Cr photo by สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

               บริเวณนี้มีตลาดขนาดใหญ่ให้แวะเลือกซื้อสินค้าก่อนเดินทางกลับมายังท่าเรือวัดพนัญเชิง โดยจะถึงท่าเรือราว 1-2 ทุ่ม แต่หากไม่ต้องการเดินทางกลับทางเรือสามารถนัดรถมารับที่ตลาดอำเภอท่าเรือนี้ก็ทำได้

ที่มา: สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แหล่งความรู้ด้านไทยศึกษา เพื่อสังคมไทยและสังคมโลก


คุยกับน้องมัจฉา Add Friends คุยกับน้องมัจฉา