สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี
ที่มา : THAIPUBLICA
ทำไมโลกร้อนและโลกรวนจึงมีผลกระทบต่อปลาและสัตว์น้ำอื่น?
ปลาน้ำจืดในทุกสายพันธุ์และสัตว์น้ำจืดที่ไม่มีกระดูกสันหลังทั่วโลก จัดว่าเป็นกลุ่มของสัตว์เลือดเย็น มีอุณหภูมิของร่างกายไม่คงที่และเปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิของสภาพแวดล้อมแหล่งน้ำที่อยู่อาศัย อุณหภูมิของแหล่งน้ำจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อการอยู่รอด นอกเหนือไปจากความอุดมสมบูรณ์ของปลาและสัตว์น้ำอื่นทั้งในธรรมชาติรวมถึงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งนี้เพราะอุณหภูมิจะเป็นตัวควบคุมกระบวนการทางสรีรวิทยา เช่น การทำงานของฮอร์โมนและเซลล์ต่างๆ รวมทั้งการเติบโต และพฤติกรรมต่างๆ ในการดำรงชีวิต เช่น การกินอาหาร การสืบพันธุ์วางไข่ และการอพยพ โดยที่ปลาและสัตว์น้ำแต่ละชนิดจะมีวิวัฒนาการปรับตัวกับช่วงอุณหภูมิของน้ำที่เหมาะสมแตกต่างกันไป หากอุณหภูมิแหล่งน้ำเปลี่ยนแปลงเกินขอบเขต จะทำให้มันไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในแหล่งน้ำนั้นได้อีกต่อไป หรืออาศัยอยู่โดยสรีระไม่พัฒนา หรือไม่แสดงพฤติกรรมต่างๆ อย่างสมบูรณ์
"การที่อุณหภูมิของน้ำมีแนวโน้มที่สูงขึ้นจะมีผลต่อคุณภาพน้ำ ทำให้ปริมาณออกซิเจนลดลง ความหนืดของน้ำลดลง ส่งผลต่อค่าคุณภาพน้ำด้านอื่นๆ ซึ่งในที่สุดจะกระทบทั้งทางตรงและอ้อมต่อการดำรงชีวิตของปลาและสัตว์น้ำอื่น"
นอกจากนี้ยังมีอิทธิพลต่อเนื่องถึงความอุดมสมบูรณ์ของอาหารในธรรมชาติ อันได้แก่ แพลงก์ตอนพืชและสัตว์ และเกิดมลพิษต่างๆ ในแหล่งน้ำ
สาเหตุสำคัญด้วย ทำให้เกิดผลกระทบ 3 ประเด็นใหญ่ๆ (Ficke et al., 2007) มีดังนี้
ประเด็น 1. การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบผลจับ: ปลาและสัตว์น้ำแต่ละชนิดมีวิวัฒนาการจนมีช่วงของอุณหภูมิและสภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการอยู่อาศัย ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงช่วงอุณหภูมิและสภาพแวดล้อมอันเกิดจากโลกร้อนและโลกรวนจะทำให้กลุ่มที่ปรับตัวไม่ได้หนีหายไป เมื่อประชาคมสิ่งมีชีวิตในบริเวณแหล่งประมงนั้นๆ มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้องค์ประกอบผลจับเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เพราะการที่สิ่งมีชีวิตหนึ่งชนิดหายไป จะทำให้ระบบนิเวศในบริเวณดังกล่าวเสียสมดุลและมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในระบบ ไม่เฉพาะตัวที่เป็นเป้าหมายในการประมง
ประเด็น 2. น้ำหนักและปริมาณของผลจับที่ลดลง: ชีพลักษณ์ (phenology) ของปลาน้ำจืดและสัตว์น้ำอื่นๆ จะเปลี่ยนแปลงจากการเกิดโลกร้อนและรวน เช่น การเติบโตช้าลง จากผลของอุณหภูมิโดยตรงและผลต่อเนื่องในความอุดมสมบูรณ์ของอาหารธรรมชาติ เป็นเหตุให้ผลจับที่ได้แต่ละตัวมีขนาดและน้ำหนักที่ลดลง รวมทั้งการอพยพย้ายถิ่นที่ผิดฤดูกาลและช่วงเวลา ความไม่สมบูรณ์ของระบบการสืบพันธุ์ และแหล่งอนุบาลตัวอ่อนที่เปลี่ยนแปลงไป จะมีผลทำให้การทดแทนของปลาและสัตว์น้ำเป้าหมายทางการประมงลดลง ปริมาณของสัตว์น้ำในกลุ่มประชากรค่อยๆ ลดลงตามไปด้วย
นอกจากนี้ อุณหภูมิน้ำที่เพิ่มขึ้นและความผันแปรที่มากขึ้นจะทำให้แหล่งน้ำเกิดมลพิษเพิ่มขึ้น ปลาและสัตว์น้ำเกิดความอ่อนแอ ความสามารถต้านทานมลพิษ โรค และปรสิตต่างๆ ลดลง เกิดการตายในธรรมชาติก่อนที่จะถูกจับมาใช้ประโยชน์
ประเด็น 3. การเปลี่ยนแปลงไปของแหล่งประมง: แหล่งประมงซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของตัวเต็มวัยก็เปลี่ยนแปลงไปเพราะสาเหตุที่โลกร้อนและโลกรวนได้ ในแหล่งน้ำนิ่ง เช่น ทะเลสาบ หนอง บึง อาจจะเกิดการแบ่งชั้นความลึกน้ำตามอุณหภูมิ ขนาดพื้นที่ที่เล็กลงโดยเฉพาะพื้นที่บริเวณริมฝั่ง การเกิดปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชัน เนื่องจากปริมาณน้ำและพื้นที่แหล่งน้ำลดลง ส่งผลให้ความเข้มข้นของธาตุอาหารมากขึ้น และอุณหภูมิที่สูงขึ้นยังไปกระตุ้นการเติบโตของจุลชีพและเร่งกระบวนการหมุนเวียนของสารอาหาร ในส่วนของแหล่งน้ำไหล เช่น แม่น้ำ ลำธาร วงจรการไหลและมวลของน้ำมีความผันแปรและไม่เป็นไปตามฤดูกาล ส่งผลโดยตรงต่อปลาและสัตว์น้ำอื่น และทำให้ระบบพื้นที่ย่อยต่างๆ เช่น แก่ง วังน้ำลึก ริมตลิ่ง เปลี่ยนแปลงและสูญเสียหน้าที่ในการเป็นแหล่งอาศัย รวมทั้งปัญหาน้ำทะเลทะลักเข้ามายังแหล่งอาศัยของปลาน้ำจืดในบริเวณปลายแม่น้ำ
การเกิดโลกรวน จะทำให้เกิดปรากฏการณ์สภาพอากาศที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็น น้ำแล้ง พายุฝน น้ำท่วม อุณหภูมิเฉลี่ยในรอบปีที่สูงขึ้น เกิดผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดในหลายด้าน และด้วยเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย มีทุนป้องกันและปรับตัวจากผลกระทบไม่เพียงพอ จะเกิดปัญหาต่อผลผลิตและรายได้ที่ค่อนข้างสูง โดยมีประเด็นปัญหาที่สำคัญ (De Silva and Soto, 2009; Lebel et al., 2020) ดังนี้
ประเด็น 1. ปัญหาที่เกิดขึ้นต่อระบบการเลี้ยง: ผลกระทบที่จะเกิดต่อการดำเนินกิจกรรมการเลี้ยงปลา เช่น การเกิดพายุฝนและน้ำท่วมทำให้กระชังเลี้ยงปลาเสียหาย หรือคันบ่อพังทลาย เป็นเหตุให้ปลาที่เลี้ยงไว้หลุดออกไป สูญเสียผลผลิต หรือในกรณีเกิดฝนทิ้งช่วงและเกิดน้ำแล้ง ทำให้ไม่มีน้ำเพียงพอต่อการเปลี่ยนถ่ายน้ำเพื่อปรับสภาพน้ำให้เหมาะสม นอกจากนี้ การเกิดน้ำแล้งยังอาจทำให้คุณภาพน้ำในแหล่งธรรมชาติไม่เหมาะสมสำหรับการเปลี่ยนถ่ายน้ำ หรือการที่อุทกวิทยาของน้ำเปลี่ยนแปลงไปจะทำให้ไม่เกิดการพัดพาและหมุนเวียนของเสียใต้กระชัง ของเสียจะสะสม และเป็นปัญหาต่อการเลี้ยงปลาในกระชังในแหล่งน้ำธรรมชาติ
ประเด็น 2. ปัญหาที่เกิดขึ้นต่อผลผลิต: กระทบต่อปลาและผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ การที่อุณหภูมิเฉลี่ยในรอบวันสูงขึ้นและแปรปรวน เกิดคลื่นความร้อนหรือเย็นในบางช่วง มีผลโดยตรงต่อปลาที่เป็นสัตว์เลือดเย็น เป็นปัญหาสำคัญสำหรับกลุ่มเกษตรกรที่ทำการเพาะปลา เพราะพ่อแม่พันธุ์อาจจะไม่สมบูรณ์ หรือลูกปลาที่เพาะฟักออกมาอ่อนแอ มีการตายสูง
"สำหรับกลุ่มเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงปลา เหตุการณ์ดังกล่าวจะทำให้ปลาไม่ค่อยกินอาหาร เติบโตช้าและผลผลิตลดลง เศษอาหารที่เหลือจะสะสมจะทำให้น้ำเน่าเสีย และอากาศที่ร้อนจะทำให้ปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำลดลง มีผลโดยตรงต่อปลาและคุณภาพน้ำที่เกิดความเป็นกรดด่าง และความเข้มข้นของแอมโมเนียที่ไม่เหมาะสม อากาศร้อนจะทำให้น้ำแบ่งชั้นตามอุณหภูมิ โดยบริเวณด้านล่างของบ่อหรือกระชังไม่เหมาะต่อการอยู่อาศัย ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จากภาวะโลกรวนในฤดูร้อน"
ส่วนในฤดูฝน โลกรวนจะทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองบ่อยครั้งขึ้น อุณหภูมิน้ำเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ปลาที่เลี้ยงอยู่อย่างหนาแน่นปรับตัวไม่ทัน เกิดอาการน็อกน้ำและตายได้ รวมทั้งการที่ท้องฟ้ามืดครึ้มเป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้กระบวนการแลกเปลี่ยนออกซิเจนจากอากาศสู่น้ำลดลง แพลงก์ตอนพืชในระบบสามารถสังเคราะห์แสงได้น้อยลง ก็จะมีผลต่อการอยู่อาศัยของปลาเช่นกัน การที่คุณภาพน้ำไม่เหมาะสม จะทำให้ปลาเครียดและอ่อนแอ เกิดโรคปลาหรือปรสิตต่างๆ เพิ่มขึ้น
ประเด็น 3. ปัญหาทางอ้อม: จะเกิดจากการขาดแคลนปลาป่นอันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของอาหารปลา ปลาป่นมักจะผลิตมาจากปลาทะเลที่มีขนาดเล็กในธรรมชาติ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากโลกร้อนและโลกรวนเช่นเดียวกัน จึงทำให้มีปริมาณลดลงและขาดแคลน ราคาของอาหารปลาจะสูงขึ้น เป็นผลให้ต้นทุนเพาะเลี้ยงสูงขึ้นด้วย เนื่องจากมากกว่าร้อยละ 50 ของต้นทุนการเลี้ยงจะเป็นค่าอาหาร รวมทั้งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสำหรับการป้องกันและบรรเทาปัญหา เช่น ต้องมีเครื่องตีน้ำหรือเครื่องให้อากาศเพื่อการปรับค่าคุณภาพน้ำ
จากประเด็นปัญหาโลกร้อนและโลกรวนต่อการประมงน้ำจืดและการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดที่ได้แสดงให้เห็นในข้างต้น ทำให้เห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องร่วมมือช่วยกันแก้ไขและบรรเทาปัญหาดังกล่าวจากทุกภาคส่วน เพราะปัญหาดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อกิจกรรมการเกษตรอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง หรือการประมงทะเล รวมทั้งการที่ต้องสร้างองค์ความรู้เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดในการแก้ปัญหา
ช่วงนี้อากาศร้อน เห็นข่าวปลาที่เกษตรกรเลี้ยงไม่ว่าจะในกระชังหรือในบ่อตายผลผลิตเสียหายกันมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดออกซิเจนในน้ำจากการที่น้ำอุณหภูมิสูง ออกซิเจนละลายในน้ำได้น้อยลง สวนทางกับอัตราการหายใจทั้งของสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่เพิ่มมากขึ้น ผมกังวลตรงที่เห็นมีคำแนะนำจากบางท่านที่ให้แก้ปัญหาโดยการเติมจุลินทรีย์ลงในบ่อ ซึ่งจะยิ่งทำให้ปัญหาการขาดออกซิเจนในบ่อยิ่งหนักมากขึ้นไปอีกเพราะจุลินทรีย์ได้รับสารอินทรีย์จากกากน้ำตาลที่ใช้เป็นแหล่งคาร์บอน ในเวลาที่น้ำร้อนออกซิเจนต่ำนี้ผู้เลี้ยงสัตว์น้ำควรหาทางเพิ่มออกซิเจนในน้ำให้มากที่สุด หยุดการเติมกากน้ำตาลและจุลินทรีย์ลงในบ่อชั่วคราวครับ...ที่มา: NSTDA Aquaculture
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ตอนที่ 1 | ตอนที่ 2 | ตอนที่ 3 | ตอนจบ | (เอกสารอ้างอิง)
ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของพันธุ์สัตว์น้ำ โดยเฉพาะสัตว์น้ำประเภทที่สำคัญต่อการประมงพบว่ามีการย้ายถิ่น ลดจำนวน และกระจัดกระจายกันออกไป ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้เป็นที่คาดว่าจะดำเนินต่อไปอีกหลายสิบปี ทำให้ชาวประมงไม่สามารถจับปลาตามวิถีปกติของตน ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ ความมั่นคงอาหาร และวัฒนธรรมท้องถิ่น และส่งผลต่อเนื่องไปยังห่วงโซ่อาหารทะเลทั้งหมดไปจนถึงผู้บริโภคในเมือง การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้กระทบต่อการประมงทุกรูปแบบและมาในลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนั้น ชาวประมงจึงต้องปรับตัวเองอย่างเร่งด่วนต่อความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบต่างๆ ของการประมง
การปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนในการประมงนั้นเป็นจุดศูนย์กลางของเป้าหมายนโยบายแก้ไขปัญหาโลกร้อนในระดับนานาชาติเนื่องจากสภาพภูมิอากาศในมหาสมุทรเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อปริมาณและประเภทของปลาที่จัดได้ และรายได้ของชาวประมง ไม่มีวิธีแก้ปัญหาใดวิธีหนึ่งที่จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเมื่อพิจารณาจากความแตกต่างของผลกระทบมีภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนที่พึ่งพาอาหารจากทะเลมากที่สุดมีแนวโน้มที่จะจับปลาได้น้อยลง ฐานะยากจนลง และกลายเป็นชุมชนเปราะบาง การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงปารีสอาจลดผลกระทบเหล่านี้ลงได้บ้าง และการกำหนดเป้าหมายอุณหภูมิโลกสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสในศตวรรษนี้ก็จะลดความเสี่ยงลงได้บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ทว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้นี้อาจไม่สามารถบรรลุได้ ทำให้การเตรียมพร้อมและปรับตัวมีความสำคัญมาก
การปรับตัวและความเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติขึ้นอยู่กับลักษณะของผลกระทบและบริบททางสังคม วิธีการปรับตัวหลายวิธีสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ผลการศึกษาจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าการปรับวิธีการประมงเพื่อแก้ปัญหาการจับสัตว์น้ำมากเกินไปและลดความเสี่ยงต่อการจับสัตว์น้ำประเภทที่ใกล้สูญพันธุ์อาจทำให้ผลกระทบบรรเทาความรุนแรงลง ดังนั้น ภาวะโลกร้อนจึงถูกมองว่าเป็นอุปสรรคในการปรับวิธีการประมงให้มีความยั่งยืนมากขึ้น แม้ว่าแนวทางนี้จะไม่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกประเทศ นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีหากนำไปใช้ในน่านน้ำสากล โดยทำให้เกิดความขัดแย้งเรื่องพื้นที่ประมง เป็นที่คาดกันว่าร้อยละ 23–35 ของเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ Global Exclusive Economic Zones (EEZs) จะทำให้เกิดการแบ่งเขตประมงใหม่ภายในสิ้นศตวรรษนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความขัดแย้งและอุปสรรคต่อการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ส่วนผลกระทบในระดับท้องถิ่นนั้น การสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำบางประเภทอาจทำให้เกิดการรุกรานจากพันธุ์ที่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศน์เดิม เช่นทำให้สัตว์และพืชน้ำท้องถิ่นถูกทำลาย ทำให้การประมงไม่ได้ผล ดังนั้นงานเขียนชิ้นนี้จะมุ่งเน้นที่ผลกระทบต่างๆ ของระบบนิเวศน์ทางทะเลที่เปลี่ยนแปลงไปต่อชุมชนประมงและธุรกิจประมง
มีงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่เสนอแนวทางการปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนสำหรับชาวประมง แม้ว่าประสิทธิภาพของแนวทางดังกล่าวจะยังไม่ได้รับการพิสูจน์ แต่ก็มีความเห็นพ้องต้องกันถึงความสำคัญที่มีต่อความยั่งยืนของการประมง กล่าวคือความสามารถในการรับมือความเสี่ยงในขณะที่วิถีประมงดั้งเดิมยังสามารถดำเนินต่อไปได้โดยการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ในบริบทเช่นนี้ ความสามารถในการอยู่รอดในภาวะโลกร้อนขึ้นอยู่กับระบบนิเวศน์เชิงสังคมของการประมงหรือ Social-Ecological System (SES) SES เป็นระบบที่ปรับตัวได้และซับซ้อน แบ่งแยกจากกันไม่ได้ และมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างระบบนิเวศน์และสังคมมนุษย์ในระดับปัจเจก กลุ่ม และรัฐ เราพิจารณาว่าการประมงเป็น SESs เพราะว่าเราสามารถศึกษาการประมงในฐานะที่เป็นระบบกลางที่ซับซ้อนที่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ SES สามารถตอบสนองต่อภาวะโลกร้อนได้ด้วยกลยุทธ์การแก้ไข ปรับตัว และเปลี่ยนแปลง การแก้ไขคือการรับมือกับภัยธรรมชาติโดยการเพิ่มขีดความสามารถของชาวประมงในการนำเอาทักษะ ทรัพยากร และประสบการณ์ออกมาใช้แก้ปัญหา การปรับตัวได้แก่การคาดการณ์และ/หรือตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงได้แก่การเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นฐาน/โครงสร้างของ SES เพื่อให้เกิดระบบใหม่ขึ้น
ภายใต้ระดับความรุนแรงของภัยโลกร้อน SESs จะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันและรุนแรง เมื่อผลกระทบเกิดบ่อยครั้งขึ้น การเปลี่ยนแปลงจะต้องเกินขึ้นเนื่องจากการแก้ไขและปรับตัวนั้นอาจไม่เพียงพอต่อความรุนแรงของปัญหา การวางแผนการปรับตัวนั้นจึงควรครอบคลุมถึงการเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสมด้วย โดยจะต้องทำความเข้าใจถึงปัจจัยที่ขับเคลื่อนการประมงในสถานการณ์ต่างๆ การเปลี่ยนแปลงของพันธุ์สัตว์น้ำอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างของ SESs ของการประมง ดังนั้นเราจะต้องสำรวจต้นตอของปัญหาและกลไกที่จะนำไปสู่การปรับตัวและเปลี่ยนแปลง ประการสุดท้ายได้แก่การนำทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติ เราจะต้องตั้งคำถามต่อกฎเกณฑ์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันเพื่อการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงด้วยการสำรวจความเสี่ยงของการดำเนินการดังกล่าว
จากมุมมองเช่นนี้ เรามุ่งเน้นไปที่ความสามารถของชาวประมงในการเปลี่ยนเป้าหมายในการจับสัตว์น้ำโดยใช้เครื่องมืออย่าง SESs ในการกำหนดกลยุทธ์และวิธีแก้ปัญหาเพื่อช่วยให้ชาวประมงปรับตัว ผลกระทบต่อระบบนิเวศน์อันเนื่องมาจากพันธุ์สัตว์น้ำที่เปลี่ยนแปลงไปก่อให้เกิดอุปสรรคที่สำคัญต่อความเป็นอยู่และสภาพเศรษฐกิจของชาวประมง การปรับตัวและเปลี่ยนแปลงวิธีการประมงอาจเกิดขึ้นในระดับปัจเจก (ชาวประมง) กลุ่ม (ชุมชนชาวประมง) และสถาบัน (รัฐบาล) แต่จะต้องระวังมิให้เกิดการปรับตัวที่จะก่อให้เกิดผลเสียตามมา วิธีนี่เราเสนอแนะต่อ SESs ของการประมงได้แก่การประเมินความสามารถของระบบในการแก้ไข ปรับตัว และเปลี่ยนแปลงหรืออีกทางเลือกหนึ่งคือความสามารถของระบบในการตอบสนองการกระตุ้นจากปัจเจกและกลุ่ม ซึ่งอาจเป็นการนำไปสู่การล้มเลิก SES แนวทางการปรับตัวที่มีประสิทธิภาพสูงสุดอาจได้รับอิทธิพลจากขีดความสามารถของ SES ความรุนแรงของผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และข้อจำกัดทางสังคมและของสถาบัน นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่จะเกิดการปรับตัวที่จะก่อให้เกิดผลเสียตามมาเมื่อชาวประมงยังใช้วิธีการเดิมๆ แทนที่จะปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกับปัญหาในอนาคต ดังนั้นเราจึงเสนอให้มีการบริหารการปรับตัวที่ยืดหยุ่น การหาอาชีพเสริม การให้สิทธิประมงที่เท่าเทียมกัน การพัฒนาตลาดใหม่ การพัฒนาข้อตกลงการประมงนานาชาติใหม่ และกลไกด้านนโยบายเพื่อช่วยชาวประมงในการปรับตัวต่อระบบนิเวศน์สัตว์น้ำที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป
ระบบนิเวศน์ทางทะเลกำลังเปลี่ยนแปลงจากการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์น้ำเนื่องจากภาวะโลกร้อน ทำให้เกิดการขยายตัว หดตัว หรือกระจายตัว ของเขตประมง (ตามรูปที่ 1) และแนวโน้มนี่คาดว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นอีกในอนาคต งานวิจัยจำนวนมากมุ่งเน้นศึกษาการปรับตัวของสัตว์น้ำชนิดต่างๆต่ออุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้น ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะก่อให้เกิดผลดีในบางด้านต่อความหลากหลายของพันธุ์สัตว์น้ำอย่างค่าความเป็นกรดด่าง ระดับน้ำทะเล ค่าความเค็ม และปริมาณออกซิเจนในน้ำ ตัวอย่างเช่น McHenry ได้ทำการเปรียบเทียบสัตว์น้ำ 125 สายพันธุ์ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือในสิ่งแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงทางอุณหภูมิอย่างเดียวกับสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยและพบว่าโมเดลที่ใช้ปัจจัยร่วมแสดงผลลัพธ์ที่น่ากังวลกว่า กล่าวคือทำให้สัตว์น้ำอพยพย้ายถิ่นมากกว่าและเขตประมงหดตัวลง การย้ายถิ่นอาจเกิดขึ้นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำและกระแสลมหรือกระแสน้ำในมหาสมุทร
รูปที่ 1 : ประเภทของการเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศน์ในพันธุ์สัตว์น้ำที่ทำการศึกษาอันเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน โดยสีฟ้าแทนพันธุ์สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในน้ำเย็นและสีแดงแทนพันธุ์สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในน้ำอุ่น ในขณะที่เกิดการกระจายของพันธุ์สัตว์น้ำในการปรับตัวเข้ากับภาวะโลกร้อน พันธุ์สัตว์น้ำที่อพยพมาจากถิ่นอื่นจะมีปฏิสัมพันธ์กับพันธุ์สัตว์น้ำเดิม ทำให้ระบบนิเวศน์ในเขตนั้นเปลี่ยนแปลงไป
สิ่งสำคัญได้แก่การทำนายว่าพันธุ์สัตว์น้ำทุกประเภทจะย้ายถิ่นเข้าหาขั้วโลกนั้นยังไม่เพียงพอที่จะทำนายผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่จะมีต่อระบบนิเวศน์ทางทะเล การปัจจัยชุดหนึ่งๆมีอิทธิพลต่อการย้ายถิ่นของพันธุ์สัตว์น้ำหมายความว่าการอพยพอาจไม่เป็นไปตามสัญชาติญาณ ดังนั้นผลกระทบของภาวะโลกร้อนจึงอาจเป็นผลดีหรือผลร้ายก็ได้ ในขณะที่สัตว์น้ำบางพันธุ์ปรับตัวเข้าหาสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ สายพันธุ์ที่เหลืออาจไม่สามารถปรับตัวได้และลดจำนวนลงหรือสูญพันธุ์ไป นอกจากนี้ อัตราเร็วของการกระจายตัวอาจไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับลักษณะของสายพันธุ์ พื้นที่หากิน และความสามารถของตัวอ่อนในการแพร่พันธุ์ องค์ประกอบของระบบนิเวศน์มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสอดคล้องกัน ทำให้สายพันธุ์ใหม่ปรับตัวเข้าหาระบบได้ง่าย ในขณะที่ระบบนิเวศน์หนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงและจัดเรียงใหม่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ล่าและเหยื่อก็จะเกิดขึ้น (เช่นสายพันธุ์ที่เคยเป็นเหยื่อกลายเป็นผู้ล่า หรือสายพันธุ์กินพืชที่มีจำนวนมากขึ้นจากการรุกรานของสายพันธุ์อื่น) สายพันธุ์ที่ปรับตัวให้เข้ากับที่อยู่อาศัยใหม่ สายพันธุ์ที่ต้องแข่งขันเพื่อความอยู่รอด และการย้ายถิ่นอย่างผิดฝาผิดตัว ในกรณีที่รุนแรง ระบบนิเวศน์ทางทะเลบางพื้นที่อาจถึงจุดเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหน้าที่ของสิ่งมีชีวิตแต่ละสายพันธุ์ในระบบนั้นๆ นอกจากนี้ ระบบนิเวศน์ทางทะเลในเขตมหาสมุทรใกล้เส้นศูนย์สูตรอาจประสบปัญหาเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็วและสัตว์น้ำสูญพันธุ์หรือย้ายถิ่นเหลือเพียงสายพันธุ์ที่ทนความร้อนได้ดีที่เหลือรอด ถึงแม้ว่าการทำนายการปรับตัวของสัตว์น้ำสายพันธุ์ต่างๆให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่จะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเนื่องจากมีการพัฒนาโมเดลสภาพอากาศ ข้อมูลชีวภาพ และแนวทางที่ใช้คำนวณให้ทันสมัยอยู่เสมอ ทำให้ความแม่นยำของการทำนายสูงขึ้น และการวางแผนการปรับตัวที่ดีขึ้นด้วย
จากการที่สายพันธุ์เป้าหมายเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านถิ่นที่อยู่และความอุดมสมบูรณ์อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน การประมงย่อมได้รับผลกระทบ เราจึงต้องทำความเข้าใจห่วงโซ่ของผลกระทบเริ่มตั้งแต่ระบบนิเวศน์ การประมง ธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน และสุดท้ายคือคุณค่าทางสังคมและวัฒนธรรมและทรัพยากรของชุมชนประมง รูปที่ 2 แสดงให้เห็นถึง เส้นทางของ SESs ของการประมงที่ได้รับผลกระทบจากการย้ายถิ่นของสัตว์น้ำจากภาวะโลกร้อน ซึ่งคาดว่าจะเกิดผลสะท้อนและความสัมพันธ์ทางอ้อมเนื่องจากชุดผลกระทบดังกล่าวมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไม่เป็นเส้นตรงและข้ามระดับกัน ตัวอย่างเช่นการเปลี่ยนเครื่องมือและวิธีทำประมงทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทางทะเล โดยเกิดการจับสัตว์น้ำมากเกินไป แหล่งสัตว์น้ำถูกทำลาย และทำให้ชุมชนเปราะบาง ต่อไปนี้เป็นหัวข้อหลักในงานวิจัยหากเราต้องการหลีกเลี่ยงการกระทำที่จะนำไปสู่ผลกระทบที่รุนแรงขึ้น
รูปที่ 2 : ห่วงโซ่ของผลกระทบที่เกิดจากการย้ายถิ่นของสัตว์น้ำต่อระบบนิเวศน์ทางทะเล การประมง เศรษฐกิจ และสังคม โดยลูกศรแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทั้งแบบส่งผลและสะท้อนกลับ
ผลที่เกิดจากการย้ายถิ่นของสัตว์น้ำที่มีต่อระบบนิเวศน์ทางทะเลแสดงในรูปที่ 1 การประมงจะสูญเสียสัตว์น้ำบางชนิดไปเนื่องจากการย้ายถิ่นของสัตว์พันธุ์ใหม่เข้ามาในระบบเดิม การสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำชนิดที่ชาวประมงเคยจับจะกระทบต่อชาวประมงรายย่อยเป็นอย่างสูงเนื่องจากพึ่งพาการจับสัตว์น้ำชนิดนี้เพียงอย่างเดียวมานานจนกลายเป็นวัฒนธรรมประจำท้องถิ่น ในบางชุมชน การเข้ามาของสัตว์น้ำพันธุ์ใหม่อาจเป็นประโยชน์หากมีตลาดรองรับอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่นในประเทศไอซ์แลนด์ จำนวนปลาแมคคาเรลที่เพิ่มขึ้นทำให้ธุรกิจประมงคึกคัก ในขณะที่สัตว์น้ำพันธุ์ใหม่อาจส่งผลทางลบแก่ธุรกิจประมงในพื้นที่อื่นเพราะเข้ามาทำลายชนิดที่ก่อให้เกิดรายได้ โดยสรุปแล้ว นักวิจัยจะต้องศึกษาเพิ่มเติมโดยนำเอาทั้งผลดีและผลเสียของการย้ายถิ่นของสัตว์น้ำมาชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบกัน
ในเขตประมงที่สูญเสียสัตว์น้ำชนิดที่ก่อให้เกิดรายได้นั้น เรือประมงจะสามารถย้ายไปหาปลาในพื้นที่อื่นได้ก็ต่อเมื่อมีเครื่องมือตรวจหาปลาที่เหมาะสม ทว่ากฎหมายประมงและเขตแดนก็เป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงฝูงปลาเมื่อฝูงปลาย้ายถิ่นข้ามเขตแดนประเทศ อย่างไรก็ตามความสูญเสียมักตกอยู่กับชาวประมงรายย่อยมากกว่าธุรกิจประมงขนาดใหญ่เนื่องจากขาดเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ประการสุดท้ายการที่มีสัตว์น้ำพันธุ์ใหม่เข้ามาในระบบส่งผลต่อส่วนผสมของพันธุ์ปลาที่จับได้ ทำให้ต้องจับปลามากขึ้นเพื่อให้ได้พันธุ์ที่ต้องการจำนวนเพียงเล็กน้อย เสี่ยงต่อการทำลายพันธุ์ที่ไม่เป็นที่ต้องการและฝ่าฝืนโควต้าการจับ ทำให้ชาวประมงต้องหยุดจับปลาทั้งๆยังมีโควตาเหลือสำหรับพันธุ์ปลาที่เป็นที่ต้องการ เมื่อจำนวนปลาที่ไม่ใช่พันธุ์เศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากภาวะโลกร้อน จะส่งผลต่อการประมงอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่นนโยบายประมงของประชาคมเศรษฐกิจยุโรปบังคับให้ชาวประมงต้องรายงานจำนวนปลาที่จับได้แต่ไม่เป็นที่ต้องการ เพื่อนำมาหักออกจากโควต้าการจับปลาพันธุ์เศรษฐกิจ ทำให้รายได้ของชาวประมงลดลงหากไม่มีการทบทวนนโยบายอย่างทันต่อเหตุการณ์ ในกรณีของประมงพื้นบ้าน เหตุการณ์เช่นนี้ยังไม่ได้รับการประเมินแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
ผลกระทบทางเศรษฐกิจประมงจากการย้ายถิ่นของสัตว์น้ำจากภาวะโลกร้อนได้แก่ทำให้จับสัตว์น้ำได้น้อยลงและต้นทุนสูงขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบถึงห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหารทะเลทั้งหมด โดยความรุนแรงของผลกระทบจะขึ้นอยู่กับความยืดหยุ่นของตลาดและรสนิยมของลูกค้า เช่นตลาดจะปรับตัวโดยการนำเข้าปลาเพื่อชดเชยปลาท้องถิ่นที่ลดลง ทว่าในประเทศอุรุกวัย การปรับตัวเช่นนี้นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจเนื่องจากมูลค่าการนำเข้าพุ่งสูงขึ้น ทำให้ขาดดุลการค้า ส่วนในบางกรณีอาจปรับตัวโดยการย้ายโรงงาน ตลาด หรือท่าจอดเรือประมง ตลาดปลานานาชาติได้รับการพิจารณาว่าเป็นแหล่งปลาสำรองสำหรับชุมชนปะมงท้องถิ่น แต่การพึ่งพาตลาดสากลแต่เพียงอย่างเดียวก็อาจก่อให้เกิดผลเสียเช่นคนท้องถิ่นสูญเสียงานและรายได้ สินค้ามีราคาแพงขึ้น สินค้าท้องถิ่นสูญหายไป นอกจากนี้ตลาดสากลมักจะนำแต่สินค้าราคาสูงอย่างหูฉลามและปลิงทะเลมาขาย นำไปสู่การประมงที่ผิดกฎหมายและตลาดมืด ประการสุดท้ายหากชาวประมงไม่ปรับลดขนาดเรือและจำนวนเรือลงก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการจับปลามากเกินไปและสัตว์น้ำทั้งชนิดที่ต้องการและไม่เป็นที่ต้องการสูญพันธุ์
แน่นอนว่าการประมงนั้นเป็นปฏิสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างระบบนิเวศน์ทางทะเล ชุมชนชาวประมง และสังคมผู้บริโภค ผลกระทบจากการอพยพย้ายถิ่นทำให้จำนวนปลาที่จับได้น้อยลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชาวประมงพื้นบ้านและแรงงานแปรรูปอาหารทะเลซึ่งส่วนมากเป็นผู้อพยพและสตรีซึ่งไม่ได้รับสิทธิใดๆในการเข้าถึงทรัพยากร การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ประมง เทคโนโลยี และพฤติกรรมการทำประมงอาจทำให้ชาวประมงเลิกพึ่งพาภูมิปัญญาดั้งเดิม ซึ่งจะทำให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงขึ้นอีก ผลกระทบเช่นนี้เปลี่ยนวิถีที่ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กัน เปลี่ยนแปลงต้นทุนทางสังคม และก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อวัฒนธรรมประมงท้องถิ่น ตัวอย่างเช่นในทวีปอาร์กติก ภาวะโลกร้อนทำให้โครงสร้างชุมชนพื้นเมืองกล่าวคือลักษณะประชากรและบทบาทหน้าที่ของเพศชายและหญิงเปลี่ยนไป ซึ่งทำให้วิถีความเป็นอยู่และประเพณีท้องถิ่นเปลี่ยนไปด้วย โดยสตรีวัยรุ่นต้องย้ายเข้าเมืองเพื่อหางานทำ และภูมิปัญญาดั้งเดิมสูญหายไปในหมู่คนรุ่นใหม่ ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเช่นนี้จะทำให้เกิดความห่างเหินกันในหมู่สมาชิก และความยากจนเมื่อชาวประมงต้องหาวิธีการต่างๆมาปกป้องทรัพยากรในท้องถิ่นซึ่งอาจไม่ได้ผลและทำให้เกิดความยากจนที่รุนแรงขึ้นอีก
ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่าภาวะโลกร้อนกระตุ้นให้สัตว์น้ำอพยพย้ายถิ่นหลัง SESs ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์และสังคม หน้าที่และการปฏิสัมพันธ์กัน ดังนั้นความยั่งยืนของการประมงขึ้นอยู่กับผลกระทบและวิธีการปรับตัวของชาวประมง อย่างไรก็ตาม ความยั่งยืนของการประมงอาจเป็นที่ต้องการหรือไม่เป็นที่ต้องการก็ได้เนื่องจากระบบที่เสื่อมโทรมอาจมีความยั่งยืนที่สูงมากต่อภัยธรรมชาติในอนาคต ตัวอย่างเช่นกับดักความยากจนที่ระบบปรับตัวเข้าสู่จุดสมดุลที่ชาวประมงมีฐานะยากจน ในประเทศเคนยาที่ซึ่งการประมงพื้นบ้านอยู่ในฐานะล่มสลาย ทำให้ชาวประมงต้องหาอาชีพเสริมหรืออาชีพใหม่ แต่ชาวประมงที่มีฐานะยากจนจำเป็นต้องเลี้ยงชีพด้วยการทำประมงต่อไปเนื่องจากไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะเปลี่ยนอาชีพได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องทำความเข้าใจกลยุทธ์และกระบวนการจาก SES ที่ได้รับผลกระทบจากการย้ายถิ่นของสัตว์น้ำเพื่อทำนายความเสี่ยงและเตรียมจัดการกับผลกระทบเชิงบวก เราจึงได้วิเคราะห์แนวทางที่ชาวประมง ชุมชนประมง และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องใช้ในการแก้ไข ปรับตัว และเปลี่ยนแปลงตนเองเข้ากับการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์น้ำ และแสดงให้เห็นถึงกระบวนการแก้ไข ปรับตัว และเปลี่ยนแปลงที่สามารถวิวัฒน์ตนเองเมื่อผลกระทบจากภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงขึ้น และเชื่อมโยงภาคทฤษฎีและปฏิบัติระหว่างมุมมองทางระบบนิเวศน์และสังคมเข้าด้วยกัน
รูปที่ 3 : สถานะที่คงอยู่เดิมและการปรับตัว (แก้ไข ปรับตัว และเปลี่ยนแปลง) ใน SESs
รูปนี้แสดงถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องที่ SES สามารถเผชิญกับปัญหาการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์น้ำจากภาวะโลกร้อน โดยเริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมในระดับปัจเจก (ชาวประมง) กลุ่ม (ชุมชนประมง) และองค์กรที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ สีของ icon ที่เปลี่ยนจากดำเป็นขาวหมายถึงการเข้ามาของผู้เล่นหน้าใหม่ ส่วนในระดับองค์กรนั้น รูปตึกหมายถึงองค์กรที่เป็นทางการและกฎเกณฑ์ และมือหมายถึงกฎระเบียบที่ไม่เป็นทางการ ในระดับกลุ่มนั้น เส้นแสดงถึงเครือข่ายสังคม เส้นทึบและไข่ปลาแสดงประเภทความสัมพันธ์แบบต่างๆ และในระดับปัจเจก icon แทนการมุ่งเป้าไปที่ทรัพยากรประมงที่แตกต่างกันตามกลยุทธ์การปรับตัว
SES ที่กำลังเผชิญกับภาวะโลกร้อนสามารถใช้การปรับตัวอย่างต่อเนื่องตามรูปที่ 3 ระบบสามารถคงอยู่ในรูปแบบเดิมโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงในระดับปัจเจก กลุ่ม หรือองค์กรเลยก็ได้ การไม่ปรับตัวเป็นทางเลือกสำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่ำมาก เพราะถ้าระบบเลือกที่จะตอบสนองต่อภาวะโลกร้อน ก็จะมีความเป็นไปได้อยู่สามประการคือแก้ไข ปรับตัว และเปลี่ยนแปลง และเมื่อถึงที่สุดแล้ว ระบบก็จะตอบสนองต่อปัจเจกและกลุ่มโดยการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและทำให้ระบบล่ม ถึงแม้ว่าระบบนิเวศน์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงจะกระตุ้นการปรับตัวได้มากกว่า แต่ก็ไม่เสมอไป และการที่ SES จะใช้กลยุทธ์ในการแก้ไข ปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็อาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์น้ำได้ เนื่องจากความสามารถของระบบสังคมในการปรับตัวมักมีข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และลักษณะของการประมงในพื้นที่
กลยุทธ์การแก้ปัญหามักเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงอย่างปานกลางและค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งในกรณีของการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์น้ำอาจรวมถึงจำนวนปลาที่ลดลงและการปรากฏขึ้นของปลาสายพันธุ์ใหม่ กลยุทธ์แก้ปัญหามักใช้วิธีตอบสนองภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ตรงกันข้ามกับที่ทำนายไว้และปล่อยให้ SES ดำเนินไปตามวิถีทางเดิมโดยการต่อต้านผลกระทบจากภาวะโลกร้อน กลยุทธ์การแก้ไขสำหรับชาวประมงรายย่อยได้แก่การปรับปริมาณการจับตามจำนวนปลาที่เปลี่ยนแปลงไปโดยไม่ต้องเปลี่ยนเครื่องมือประมง พันธุ์ปลาเป้าหมาย หรือกลยุทธ์การตลาด หรืออาจใช้การปรับเปลี่ยนวิธีจับเป็นครั้งคราวโดยไม่มีรูปแบบตายตัว ตัวอย่างของกลยุทธ์แก้ไขในระดับชุมชนได้แก่การรักษาเครือข่ายทางสังคมและปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประมง แต่จะลดระดับการแลกเปลี่ยนข้อมูลเช่นความรุนแรงของผลกระทบและกลยุทธ์การปรับตัวลง ในระดับองค์กรนั้น สถาบันและข้อกฎหมายจะยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่จะปรับเปลี่ยนระเบียบที่ไม่เป็นทางการเช่นโควต้าการจับปลา
เมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปและทำให้ทรัพยากรธรรมชาติขาดแคลนลง SES อาจโยกย้ายสถานที่ไปตามความเหมาะสมตามที่แสดงในรูปที่ 3 การปรับตัวเช่นนี้เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปและประกอบด้วยกลยุทธ์ที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงและรักษาผลประโยชน์ไว้ ในขณะที่ SES ปรับตัวให้ทนทานต่อสิ่งแวดล้อมมมากขึ้น กลยุทธ์เหล่านี้ส่วนมากเป็นการเตรียมการ แต่บางกลยุทธ์ก็เป็นการตอบสนองด้วยเช่นกัน ในระดับปัจเจกนั้น กลยุทธ์การปรับตัวเป็นการปรับอย่างเป็นระบบ (เช่นเครื่องมือหาปลาและ/หรือเปลี่ยนพันธุ์ปลาเป้าหมาย) ในระดับชุมชน งานวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้เปิดเผยว่าลักษณะของปฏิสัมพันธ์ทางสังคมมีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการปรับตัว โดยการปรับตัวจะต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเครือข่ายทางสังคมเสียใหม่ ตัวอย่างเช่นการขยายเครือข่ายทางสังคมไปยังกลุ่มประมงอื่นๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นไว้ใจและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับกลุ่มประมงอื่นๆ ส่วนตัวอย่างในระดับองค์กรนั้นเช่นขยายเครือข่ายองค์กรโดยการทำสัญญาระหว่างประเทศเช่นการร่วมมือกันกำหนดเขตประมงใหม่ตามการอพยพของสัตว์น้ำ เป็นต้น
รูปแบบสุดท้ายของการรับมือผลกระทบได้แก่การเปลี่ยนแปลง SES ตามรูปที่ 3 การเปลี่ยนแปลงลดความรุนแรงของผลกระทบในระยะยาวโดยการแปลง SES ไปสู่สภาวะอื่น การเปลี่ยนแปลงอาจเป็นการโต้ตอบระบบนิเวศน์ที่เปลี่ยนแปรไปอย่างช้าๆ (เช่นการตั่งถิ่นฐานโดยสมบูรณ์ของสัตว์ต่างถิ่นในเขตของสัตว์น้ำท้องถิ่น หรือที่เปลี่ยนแปรไปอย่างรุนแรง (เช่นการสูญพันธุ์อันเนื่องมาจากน้ำทะเลร้อนขึ้นหรือการเปลี่ยนถ่ายไปสู่สภาวะใหม่ที่มีเสถียรภาพ) การเปลี่ยนแปลงนี้จะต้องเกิดอย่างเป็นระบบภายในโครงสร้างและหน้าที่ของ SES ซึ่งมักจะเป็นเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ ระบบนิเวศน์ในฐานะที่เป็นระบบเกื้อหนุนชีวิต ระบบเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์เชิงอำนาจ การเปลี่ยนแปลงในระดับปัจเจกอาจรวมถึงการกระตุ้นให้ชาวประมงพื้นบ้านทำประมงให้กับภาคอุตสาหกรรม (รูปที่ 3) ในระดับชุมชน การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการในเครือข่ายสังคมและความสัมพันธ์เชิงอำนาจ (เช่นการแต่งตั้งผู้นำชุมชนคนใหม่และการหาพันธมิตรใหม่) ก็เถือเป็นการเปลี่ยนแปลง สุดท้ายในระดับองค์กร กระบวนการของความสัมพันธ์แบบบนลงล่างและล่างขึ้นบนเช่นการส่งต่อภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นขึ้นบนเพื่อการกำหนดนโยบายและ/หรือแก้ไขกฎหมายประมงจากการจำกัดสิทธิการเข้าถึงแหล่งประมงไปสู่การให้สิทธิทำประมงตามการอพยพของปลา เป็นต้น
การรับมือกับผลกระทบตามที่ได้กล่าวมาในบทนี้แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนต่างๆ ที่ SES สามารถดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อการอพยพของสัตว์น้ำจากภาวะโลกร้อน ขอบเขตและความรุนแรงของผลกระทบจะกำหนดระดับของการเปลี่ยนแปลงที่ต้องกระทำ ตั้งแต่แบบค่อยเป็นค่อยไป แบบเป็นระบบ และแบบเปลี่ยนแปลงรูปแบบทั้งหมด (ตามรูปที่ 3) อย่างไรก็ตาม วิธีการตอบสนองของ SES ยังอาจถูกกำหนดโดยข้อจำกัดที่เป็นอยู่อย่างการขาดเสรีภาพที่จะดำเนินการหรือปรับตัวหรือโดยความเข้มแข็งของระบบ ความเข้มแข็งทางสังคมของ SES ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัว ซึ่งหมายถึงสภาวะที่เปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถทำนายหรือตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อลดผลกระทบ ฟื้นฟูตนเองจากภัยธรรมชาติ หรือหาประโยชน์จากโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ความสามารถในการปรับตัวทางสังคมประกอบไปด้วยปัจจัยหกประการที่ส่งผลต่อวิธีการตอบสนองที่ใช้และส่งผลต่อความสำเร็จของ SES ในการปรับตัวสู่สภาวะที่พึงประสงค์ ปัจจัยเหล่านี้ได้แก่
1) ความสามารถในการจัดระบบและดำเนินการอย่างเป็นองค์รวม
2) ความยืดหยุ่นของกลยุทธ์
3) ความสามารถในการเรียนรู้ในการตระหนักและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง
4) ทรัพยากรที่มีอยู่
5) ความตระหนักรู้ทางสังคมที่กำหนดพฤติกรรมมนุษย์ (ความชอบและความคิดเห็น)
และ 6) เครื่องมือสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง ทั้งหมดนี้คือปัจจัยสำคัญต่อกระบวนการปรับตัวของทุกระดับ ในทุกระบบและทุกสเกล ประการสุดท้าย ถึงแม้ว่าเราจะให้ความสำคัญต่อกลยุทธ์การปรับตัวของระบบสังคมต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์ กลยุทธ์เหล่านี้ก็อาจส่งผลข้างเคียงต่อระบบนิเวศน์ได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงวิธีทำประมงอาจทำให้การจับปลาน้อยลงหรือมากขึ้นซึ่งทำให้ SES เข้มแข็งขึ้นหรือนำไปสู่ความต้องการกลยุทธ์การปรับตัวที่ดีกว่าเดิม ดังนั้นในการประเมินแนวทางการปรับตัวนั้น เราจะต้องพิจารณาผลสะท้อนและปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างสังคมและสิ่งแวดล้อมของระบบ
ระบบ SESs ของการประมงที่กำลังเผชิญกับปัญหาการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์น้ำอาจดำเนินการตามแนวทางการปรับตัวตามวิถีของชาวประมง ชุมชนประมง หรือองค์กร แนวทางการปรับตัวดังกล่าวได้แก่ชุดทางเลือกเพื่อการปรับตัวสำหรับเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมไปถึงกระบวนการออกแบบการแก้ปัญหาโลกร้อนและหลีกเลี่ยงการแก้ไขปัญหาที่นำมาซึ่งผลกระทบทางลบ กระบวนการปรับตัวที่จะกล่าวถึงในบทนี้ เริ่มจากการใช้กรอบดำเนินการด้านการปรับตัวเพื่อออกแบบวิธีการต่างๆทั้งเชิงป้องกันและแก้ไขสำหรับระบบ SES ในการประมง (เช่นการคงวิถีเดิมไว้ การแก้ไข การปรับตัว และการเปลี่ยนแปลง) และประเมินความเสี่ยงและผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้น ถ้าระบบเลือกที่จะคงวิถีเดิมไว้ ความเสี่ยงที่ชาวประมงจะติดกับดักความยากจนก็จะสูงขึ้น และธุรกิจประมงจะสิ้นสุดลงเนื่องจากไม่มีปลาให้จับและจำนวนเรือประมงมีมากเกินไป แต่ถ้าเลือกวิธีแก้ไข ก็จะก่อให้เกิดการจับปลาอย่างผิดกฎหมายและเกิดตลาดสำหรับชาวประมงที่ไม่สามารถหรือไม่ต้องการเปลี่ยนอาชีพ นอกจากนี้ยังเกิดความเสี่ยงที่จะจับพันธุ์ปลาที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากเกินไป ประการที่สาม แนวทางปรับตัวได้แก่การปรับปรุงวิธีการประมง เปลี่ยนสัตว์น้ำพันธุ์เป้าหมาย เปลี่ยนเครื่องมือประมงและวิถีความเป็นอยู่ การเปลี่ยนเครื่องมือประมงอาจนำไปสู่การทำลายสิ่งแวดล้อม หรือการจับปลามากเกินไปหากไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเหมาะสม หรือการเปลี่ยนวิถีความเป็นอยู่อาจทำให้เกิดการสูญเสียฐานะทางสังคมและความพอใจในอาชีพ ประการสุดท้าย แนวทางการเปลี่ยนแปลงมีความเสี่ยงต่อการอพยพออกจากพื้นที่ของชาวประมงและทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในครัวเรือนและสังคม ท้ายที่สุดแล้ว ระบบอาจสูญเสียมรดกทางวัฒนธรรมทางการประมงที่สำคัญเมื่อพันธุ์ปลาท้องถิ่นสูญพันธุ์หรืออพยพออกไป
กลยุทธ์เดียวกันนี้สามารถก่อให้เกิดความเสียหายกับสังคมระดับหนึ่งแต่ในขณะเดียวกันก็ให้ประโยชน์กับอีกระดับหนึ่งได้ในบริบททางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน ตัวอย่างเช่น การประมงอย่างผิดกฎหมายอาจเป็นกลยุทธ์การแก้ไขที่ทำให้ชาวประมงระดับปัจเจกสามารถดำรงชีพต่อไปได้ แต่อาจก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรืออีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่ ชาวประมงอาจเลือกที่จะย้ายถิ่นฐานไปทำการประมงที่อื่นที่มีปลาที่ต้องการ การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะทำให้เกิดความเสี่ยงหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสามารถของชาวประมงในการตัดสินใจอย่างอิสระและเหมาะสม อีกความเสี่ยงหนึ่งที่เป็นไปได้คือการประมงที่ผิดเป้าหมาย เช่นถ้าการเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศน์ สังคม และองค์กรเกิดขึ้นในส่วนอื่นหรือเป็นการชั่วคราว เช่นชาวประมงอาจต้องเผชิญกับปัญหาการใช้ต้นทุนทางการประมงอย่างสูญเปล่าเนื่องจากปลาอพยพออกไปนอกเขตประมงทำให้จับไม่ได้ หรือเนื่องจากผลกระทบจากภาวะโลกร้อนทำให้ฤดูหาปลาเปลี่ยนไป ประการสุดท้าย การประมงที่ผิดเป้าหมายที่เกิดจากการตัดสินใจบนพื้นฐานของเครื่องชี้วัดเพียงอย่างเดียวก็สามารถทำให้เกิดความเสี่ยงขึ้นได้ ดังนั้นงานวิจัยในอนาคตควรมุ่งศึกษาด้านปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อน การตอบสนองต่อผลกระทบ การจัดตั้งกลุ่มองค์กร และการแลกเปลี่ยนทรัพยากรระหว่างมิติทางสังคมและระบบนิเวศน์การประมงในระดับต่างๆกัน
เนื่องจากการประมงทำลังปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน เราจึงต้องใช้นโยบายเพื่อนำพา SES ของการประมงไปตามแนวทางการปรับตัวที่ต้องการ ในบริบทของการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์น้ำนั้น เราต้องทบทวนกฎหมายและกรอบดำเนินการขององค์กรเพื่อให้ชาวประมงสามารถปรับตัวเข้าหาความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับนโยบายที่ทำให้ SES ของการประมงสามารถปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงได้ เราจึงเสนอให้ออกแบบนโยบายจากแนวทางการปรับตัวและแน่นอนว่าต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความเสี่ยงหรือผลกะทบเชิงลบที่จะตามมา
จากมุมมองของการประมงและนโยบายนั้น ความทนทานต่อผลกระทบไม่ควรนำมาเป็นวัตถุประสงค์ของนโยบายด้วยตัวของมันเอง แต่ควรเป็นความยั่งยืนของการประมง ได้แก่การจับปลาในปริมาณที่ปลาสามารถแพร่พันธุ์ต่อไปได้ ในทางตรงข้าม ความทนทานต่อผลกระทบอาจไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เป็นธรรมและยั่งยืน ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการจึงได้นำเสนอแนวคิด ‘‘ความทนทานต่อผลกระทบที่เท่าเทียมกัน’’ เพื่อให้ SESs สามารถปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนโดยไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงทางลบ เป้าหมายของนโยบายรวมถึงประเด็นด้านความเป็นธรรมทางสังคม หลีกเลี่ยงผลข้างเคียงเชิงลบโดยนำความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมมาร่วมพิจารณา และนำกระบวนการเปลี่ยนแปลงมาใช้แก้ปัญหา ในบริบทของการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์น้ำนั้น เราต้องทำความเข้าใจผลกระทบที่มีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของปัจเจกและกลุ่ม และดำเนินการเพื่อให้ระบบเกิดการปรับตัวและเปลี่ยนแปลง และจะต้องพิจารณาข้อมูลในอดีตเนื่องจากอดีตมักมีบทบาทที่สำคัญในการช่วยหรือเป็นอุปสรรคต่อการปรับตัว รวมไปถึงทำให้เกิดความเสี่ยง การประมงและทางเลือกของการปรับตัวได้รับอิทธิพลจากลักษณะของระบบนิเวศน์ทางสังคมในอดีตและปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น ระบบนิเวศน์ที่ถูกจับปลามากเกินไปมาเป็นเวลานานย่อมตอบสนองต่อภาวะโลกร้อนในแบบที่ต่างไปจากระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ โดยนัยเดียวกัน ประวัติศาสตร์ของสังคมอย่างลัทธิอาณานิคมส่งผลต่อแนวความคิดของคนในสังคม การให้ความสำคัญต่อสิ่งต่างๆ ระบบอำนาจ และกระบวนการตัดสินใจ งานวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสังคมและระบบนิเวศน์ที่ส่งผลต่อความสามารถในการปรับตัวของชุมชนประมงจึงเป็นพื้นฐานในการทำให้เกิดความทนทานต่อผลกระทบที่เท่าเทียมกันในการประมง
ทางเลือกทางนโยบายที่เหมาะสมต่อการลดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และเศรษฐกิจสังคมจากการย้ายถิ่นฐานของสัตว์น้ำได้แก่ทางเลือกที่จะทำให้การประมงสามารถปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงได้ เช่นเปลี่ยนแปลงระบบบริหารจัดการให้มีความยืดหยุ่นขึ้นและมีร่วนร่วมจากทุกภาคส่วน สร้างตลาดใหม่และเพิ่มมูลค้าให้แก่สินค้าเดิม หรือออกมาตรการอนุรักษ์ทรัพยากรเช่นกำหนดพื้นที่อนุรักษ์และทบทวนข้อตกลงระหว่างประเทศเสียใหม่ เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าแนวทางแก้ปัญหาที่มุ่งเน้นระบบนิเวศน์และเศรษฐกิจสังคมของการประมงควรได้รับการวางแผนไปด้วยกัน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความซับซ้อนในการแลกเปลี่ยนและการรวมเอาขีดความสามารถในการปรับตัวของการประมง ชุดของแนวทางแก้ปัญหาที่เหมาะสมดูและความเชื่อมโยงระหว่างการปรับตัว ความเสี่ยง และการตอบสนองของ SES ดูเหมือนว่าจะยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย นอกจากนี้แนวนโยบายในการแก้ปัญหาอาจมุ่งเป้าไปยังผลกระทบต่อระบบนิเวศน์จากการย้ายถิ่นของสัตว์น้ำเป็นจำนวนหนึ่งผลกระทบหรือมากกว่า ทว่าไม่มีแนวทางใดที่จะแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ เราจึงจำเป็นต้องมีงานวิจัยที่ศึกษาความแตกต่างในการดำเนินนโยบายสำหรับสถานการณ์ต่างๆและวิธีการดำเนินนโยบายเหล่านั้นแบบองค์รวมเพื่อให้เกิดการประมงที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้
เราได้ทบทวนเส้นทางของผลกระทบที่เกิดจากการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์น้ำที่มีต่อระบบนิเวศน์ไปจนถึงกิจกรรมของมนุษย์ ในการทำความเข้าใจวิธีการตอบสนองของชาวประมงนั้น เราเสนอแนวทางแบบ SES และแสดงให้เห็นว่าระบบที่ซับซ้อนสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เราคิดว่าความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของ SES และความรุนแรงของผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อการอพยพของปลา การตอบสนองต่อผลกระทบไม่ว่าจะเป็นการแก้ไข ปรับตัว หรือเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระดับปัจเจก กลุ่ม และองค์กรสามารถนำไปสู่กระบวนการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับความเสี่ยงและผลข้างเคียงเชิงลบได้ทั้งสิ้น สิ่งสำคัญได้แก่การปรับตัวที่ทำให้เกิดผลเสียอย่างกับดักความยากจนหรือการจับปลามากเกินกว่าประชากรปลาอาจเกิดขึ้นเมื่อการประมงเลือกที่จะรักษาวิถีเดิมไว้แทนที่จะใช้การเปลี่ยนแปลงเชิงป้องกัน เมื่อคำนึงว่าผลกระทบจากภาวะโลกร้อนจะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคตอันใกล้ ระบบ SESs ของการประมงจะต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบเพื่อสร้างภูมิต้านทานต่อภาวะโลกร้อน
นโยบายที่ใช้ในการแก้ปัญหาอยู่ในปัจจุบันมักใช้การปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่ SESs ในการรับมือกับการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์น้ำนั้น นโยบายเหล่านี้มีตั้งแต่การบริหารการปรับตัวไปจนถึงการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้เกิดธุรกิจใหม่ การร่วมกันบริหารงาน และสิทธิการประมงที่เท่าเทียมกันสำหรับสัตว์น้ำพันธุ์ใหม่และตลาดใหม่ ชุดนโยบายที่ใช้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต่อการรับมือผลกระทบที่แตกต่างกันจากการอพยพของสัตว์น้ำ นอกจากนี้บางนโยบายที่นำเสนอมาอาจก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเช่นทำให้ชาวประมงสามารถเข้าถึงแหล่งทุน และทำให้เกิดการจับสัตว์น้ำมากเกินไป เพื่อทำให้เกิดการดำเนินการที่ได้ผลและความยั่งยืน นโยบายเหล่านี้ความสนับสนุนความสามารถในการปรับตัวทางสังคมของชาวประมงและความยั่งยืนที่เท่าเทียมกัน กรอบนโยบายที่นำเสนอมานี้ยังแสดงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความท้าทายที่ชุมชนประมงกำลังเผชิญอยู่และช่วยประสานช่องว่างระหว่างทฤษฎีและปฏิบัติ
งานวิจัยครั้งต่อไปควรศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายและการปรับตัว/เปลี่ยนแปลงของ SES การทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องของ SES จะทำให้กฎข้อบังคับใหม่ๆช่วยให้ชาวประมงระดับปัจเจก กลุ่ม และองค์กรสามารถรับมือกับผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทางทะเลทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม นอกจากนี้งานวิจัยจะต้องศึกษาความเกี่ยวข้องของการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงขึ้น เช่นภัยธรรมชาติและจุดที่ระบบนิเวศน์จะเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง และความสามารถของนโยบายที่จะตอบสนองต่อผลร้ายที่จะตามมา ถึงแม้ว่าจะไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้ แต่ความเข้มแข็งของระบบนิเวศน์ก็ยังเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้ SES สามารถตอบสนองการย้ายถิ่นของสัตว์น้ำ และเราต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนผลดีผลเสียระหว่างความเข้มแข็งทางระบบนิเวศน์และทางสังคมให้มากขึ้น ประการสุดท้ายความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ ห่วงโซ่อุปทาน และการขนส่งเมื่อเกิดการอพยพของสัตว์น้ำจะต้องได้รับการวิเคราะห์ในงานวิจัยด้วยเช่นกัน
เมื่อภาวะโลกร้อนดำเนินต่อไป สัตว์น้ำพันธุ์ต่างๆจะย้ายถิ่นฐานมากขึ้นและชาวประมงจะจับปลาได้น้อยลง อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับว่าสัตว์น้ำพันธุ์ใหม่ที่รุกรานเข้ามาในท้องถิ่นนั้นจะทำลายสิ่งแวดล้อมเดิมและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจหรือไม่ มุมมองจาก SES ของการประมงจะช่วยให้เราทำความเข้าใจว่าระบบสามารถแก้ไข ปรับตัว หรือเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เข้ากับความท้าทายนี้ได้อย่างไร ในบริบทเช่นนี้ การปรับตัวควรเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและมีพลวัต ซึ่งจะทำให้ระดับความรุนแรงของการอพยพและลักษณะทางสังคมเป็นตัวกำหนดการตอบสนองโดยระบบ เราสามารถดำเนินนโยบายที่สนับสนุนการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ระบบเกิดความยั่งยืนและเป็นธรรมในการเผชิญหน้ากับภาวะโลกร้อน