ว่าด้วยเรื่องน้ำ.... คุณสมบัติของน้ำกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี




ว่าด้วยเรื่องน้ำ.... คุณสมบัติของน้ำกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

 

ว่าด้วยเรื่องน้ำ.... ?????? คุณสมบัติของน้ำกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ????
คุณสมบัติของน้ำ (water quality) หมายถึง คุณสมบัติของน้ำทางฟิสิกส์, เคมี และชีวะ ซึ่งมีความสัมพันธ์กัน และมีความสำคัญต่อการเพาะเลี้ยง โดยมีผลต่อการเจริญเติบโตช้าหรือเร็ว, เกิดการตาย, เกิดโรคระบาด ตลอดจนมีผลต่อระบบสืบพันธุ์ เป็นต้น คุณสมบัติของน้ำมีมากมายหลายประการ แต่ที่มีความสำคัญและมีผลต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีไม่มากนักแต่สามารถที่จะควบคุมจัดการเปลี่ยนแปลงตามความต้องการได้ ดังนั้นคุณสมบัติของน้ำที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงปลา หมายถึง สภาพของน้ำที่สามารถทำให้สัตว์น้ำอาศัยอยู่ได้อย่างปลอดภัย มีการเจริญเติบโตแพร่ขยายพันธุ์ได้มีความแข็งแรง ทนทาน และปราศจากโรค

คุณสมบัติของน้ำบางประการที่มีผลต่อการเพาะเลี้ยง
??????????ความเป็นกรดเป็นด่าง (pH)
ความเป็นกรดเป็นด่าง เป็นการวัดปริมาณความเข้มข้นของไฮโดรเจนอิออนที่มีอยู่ในน้ำเพื่อเป็นเครื่องแสดงให้เราทราบว่า น้ำหรือสารละลายมีคุณสมบัติเป็นกรดเป็นด่าง ในการทำปฏิกิริยาต่างๆ ระดับความเป็นกรดด่างมีค่าอยู่ระหว่าง 0-14 โดย 7 เป็นจุดกึ่งกลางหากต่ำกว่า 7 มีค่าเป็นกรด หากสูงกว่าเป็นด่าง ค่า pH ในแหล่งน้ำธรรมชาติโดยทั่วไปขึ้นอยู่กับภูมิประเทศ สิ่งแวดล้อมหลายประการ เช่น ลักษณะพื้นดินและหิน ตลอดจนการใช้ที่ดินบริเวณแหล่งนั้น และอิทธิพลของสิ่งมีชีวิตในน้ำ เช่น จุลินทรีย์และแพลงก์ตอนพืช pH ของน้ำมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของพืชและสัตว์ในแหล่งน้ำ พืชน้ำสามารถใช้ธาตุอาหารได้ดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับค่า pH ของน้ำ หากระดับ pH ต่ำกว่า 4.5 พืชน้ำเจริญเติบโตได้ไม่ดีขณะเดียวกันหากค่า pH ต่ำหรือสูงเกินไปก็ไม่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จึงมีผู้แนะนำช่วง pH ที่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำดังนี้
- pH 4.0 หรือต่ำกว่า = เป็นจุดอันตรายทำให้ปลาตายได้
- pH 4.0-6.0 = ปลาบางชนิดอาจไม่ตาย แต่ผลผลิตจะต่ำคือ การเจริญเติบโตช้าการสืบพันธุ์หยุดชะงัก
- pH 6.5-9.0 = ระดับที่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
- pH 9.0-11.0 = ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำหากต้องอาศัยอยู่เป็นเวลานาน
- pH 11 หรือมากกว่า = เป็นพิษต่อปลา
ในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจะมีค่า pH เปลี่ยนแปลงในช่วงตอนกลางวันและกลางคืนสืบเนื่องจากแพลงก์ตอนพืชและพืชน้ำใช้คาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อทำการสังเคราะห์แสงในตอนกลางวัน ทำให้ค่า pH สูง และจะค่อยๆลดตอนกลางคืนเนื่องจากคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปล่อยคืนกลับมาจากการหายใจของสิ่งมีชีวิตในน้ำ น้ำที่มีค่าความเป็นด่าง (Alkalinity) ต่ำจะมีปริมาณแพลงก์ตอนพืชมาก pH จะสูง 9-10 ในช่วงบ่าย ดังนั้นการเช็คค่า pH ในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควรเช็คในเวลาเช้ามืดและช่วงบ่าย เพื่อได้ทราบค่า pH ต่ำสุดและสูงสุดในรอบวันเพื่อที่จะป้องกันแก้ไขได้ทัน กรณีค่า pH สูง 9-10 หากเกิดขึ้นช่วงระยะเวลาสั้นๆจะไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ และแหล่งน้ำที่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงไม่ควรมีค่า pH เปลี่ยนแปลงเกิน 2 หน่วยในรอบวัน ค่า pH นอกจากมีผลต่อสัตว์น้ำโดยตรงแล้วยังมีผลทางอ้อมเช่น ทำให้สารพิษชนิดอื่นๆแตกตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลง เช่น pH ระดับสูงขึ้นทำให้ความเป็นพิษของแอมโมเนียเพิ่มมากขึ้น การแทรกซึมของสารพิษบางชนิดเข้าสู่ร่างกายสัตว์น้ำขึ้นอยู่กับค่า pH ของสารละลายนั้นๆ นอกจากนี้การใส่ปุ๋ยในบ่อปลาหากปรากฎว่าน้ำหรือดินในบ่อที่มีสภาพเป็นกรดมากเกินไป จะต้องปรับปรุงค่า pH สูงขึ้นจนอยู่ในระดับที่เหมาะสมเสียก่อนจึงใส่ปุ๋ย เพื่อที่จะให้ปุ๋ยสามารถละลายและถูกนำไปใช้โดยสิ่งมีชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
??????การปรับค่า pH ในบ่อเลี้ยงปลา
บ่อเลี้ยงหลายแห่งดินมีสภาพเป็นกรด (acid soil) ทำให้น้ำในบ่อมีสภาพเป็นกรดไม่เกิดผลดีต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจึงต้องปรับปรุงโดยการเติมปูนขาว (Liming) โดยปูนขาวจะทำปฏิกริยากับดินช่วยให้ค่า pH , ค่าความเป็นด่างและความกระด้างสูงขึ้นไปด้วย หากบ่อสร้างใหม่ต้องคอยเช็คคุณภาพน้ำและปรับสภาพน้ำอยู่เสมอ
ปลาแต่ละชนิดจะมีความทนทานต่อกรด-ด่างได้ต่างกัน หากน้ำมีสภาพความเป็นกรดมากเกินไปทำให้ปลามีผิวหนังซีดขุ่นขาว ปลาจะว่ายไปมาอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ปลาจะพยายามฮุบอากาศและพยายามกระโดดออกจากบ่อ ท้ายที่สุดทำให้ปลาตายได้ เช่นเดียวกันหากน้ำมีสภาพเป็นด่าง (pH 8-9 หรืออาจสูงกว่า) จะทำให้ครีบปลากร่อนและเกิดการระคายเคืองขึ้นที่เหงือก การป้องกันไม่ให้ pH ของน้ำสูงเกินไปทำได้โดยการคุมมิให้น้ำมีสีเขียวจัดเกินไป โดยการลดปุ๋ย ลดให้อาหาร พร้อมถ่ายน้ำออกบางส่วนแล้วเติมปูนขาวอัตรา 50-60 กก./ไร่ และไม่ควรเลี้ยงปลาหนาแน่นมากเกินไป

??????????ความกระด้าง (Hardness)
ความกระด้างของน้ำ (water hardness) หมายถึง ปริมาณของเกลือ, แคลเซี่ยมและแมกนีเซี่ยมที่ละลายอยู่ในน้ำ ความกระด้างของน้ำแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือความกระด้างชั่วคราว (Temporary hardness) โดยเกิดจากสารละลายของ calcium หรือ magnesium bicarbonate เมื่อถูกความร้อนจะตกตะกอนกลายเป็นหินปูน (carbonate) ส่วนความกระด้างถาวร (permanent hardness) เกิดจากสารละลายพวก calcium หรือ magnesium carbonate และความกระด้างรวมของน้ำ Total hardness หมายถึง ผลรวมของความกระด้างชั่วคราวและถาวรโดยอยู่ในรูปของ calcium carbonate ค่าความกระด้างของน้ำมีค่าตั้งแต่ 0-100 mg/l ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของแหล่งน้ำ เราสามารถแบ่งระดับความกระด้างของน้ำได้ดังนี้
ความกระด้าง 0 - 75 mg/l น้ำอ่อน
ความกระด้าง 75 - 150 mg/l กระด้างปานกลาง
ความกระด้าง 150 - 300 mg/l น้ำกระด้าง
ความกระด้าง 300 mg/l ขึ้นไป น้ำกระด้างมาก
น้ำทะเลหรือน้ำกร่อยที่มี Na+ ปะปนอยู่สามารถทำให้ความกระด้าง ของน้ำสูงขึ้นได้ซึ่งไม่เป็นความกระด้างที่แท้จริงเรียกว่า pseudo-hardness ความกระด้างโดยตัวของมันเองไม่ถือว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอันตรายต่อสัตว์น้ำ แต่ความกระด้างของน้ำมีความสัมพันธ์กับค่าความเป็นด่าง (alkalinity) และความเป็นกรดด่าง (pH) น้ำกระด้างยังช่วยลดความเป็นพิษของสารพิษหลายชนิด เช่น โลหะหนัก (heavy metal) ได้แก่ ปรอท ตะกั่วและแคดเมี่ยม ฯลฯ น้ำกระด้างปานกลางหรือสูงเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ ส่วนน้ำกระด้างอ่อนหรือน้ำฝนไม่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เราสามารถเพิ่มความกระด้างของน้ำได้โดยการเติมปูนขาว เช่นเดียวกันกับค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของน้ำ
ค่าความกระด้างของน้ำหากเป็นความกระด้างถาวร ถ้าเราใช้อุปโภคบริโภคเป็นประจำในชีวิตประจำวันจะไม่เกิดผลดีต่อสุขภาพในระยะยาว ดังนั้นจึงควรต้องปรับปรุงแก้ไขก่อนที่จะนำไปใช้

??????????ความเป็นด่าง (Alkalinity)
ความเป็นด่างของน้ำ หมายถึงคุณสมบัติของน้ำที่ทำให้กรดเป็นกลาง โดยความเป็นด่างของน้ำประกอบด้วย คาร์บอเนต ไบคาร์บอเนต ไฮดรอกไซค์ เป็นส่วนใหญ่แต่อาจมีพวกบอเรต ซิลิเคต ฟอสเฟต และสารอินทรีย์ต่าง ๆ ค่าความเป็นด่างโดยตัวมันเองไม่ถือว่าเป็นสารมลพิษ แต่มีผลเกี่ยวกับคุณสมบัติด้านอื่น ๆ เช่น ความเป็นกรด-ด่าง (pH) ความเป็นกรด (acidity) และความกระด้าง Hardness คุณสมบัติของความเป็นด่างต่อแหล่งน้ำเป็นตัวการควบคุมมิให้ pH เปลี่ยนแปลงเร็วเกินไปหากปรากฏว่าแหล่งน้ำมีค่าเป็นด่างต่ำแสดงว่ามี buffering capacity น้อย ค่าความเป็นด่างของน้ำมีค่าแตกต่างกันไป มีค่าตั้งแต่ 25-500 mg/L แหล่งน้ำเสียชุมชนหรือจากโรงงานอุตสาหกรรมอาจมีค่าเป็นด่างสูง เกณฑ์ที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำควรมีค่าความเป็นด่างระหว่าง 100-120 mg/l เราสามารถปรับค่าความเป็นด่างให้สูงขึ้นโดยใส่ปูนขาว (Liming) การลดความเป็นด่างและความกระด้างจะทำได้ยากไม่นิยมกระทำกัน
ค่าความเป็นด่างกับความกระด้าง (Hardness) มีความสัมพันธ์กัน น้ำที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำควรมีค่าความเป็นกรดเป็นด่างใกล้เคียงกัน ค่าความเป็นด่างในน้ำไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว น้ำที่มีค่าความเป็นกรด-ด่างต่ำและความเป็นด่างต่ำจะให้ผลผลิตไม่ดี เช่น การเจริญเติบโตจะต่ำ ฯลฯ
แพลงก์ตอนพืชและพืชน้ำจะใช้ คาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อสังเคราะห์แสงในตอนกลางวันทำให้ค่า pH สูงขึ้น คือน้ำจะมีสภาพความเป็นด่างมากขึ้นและค่อยๆลดในตอนกลางคืน เนื่องจาก คาร์บอนไดออกไซด์ ที่ถูกปล่อยออกมาจากการหายใจน้ำที่มีค่าความเป็นด่างต่ำจะมีค่า pH อยู่ระหว่าง 6-7.5 ในตอนเช้าหากมีปริมาณแพลงก์ตอนหนาแน่นค่า pH ในตอนบ่ายอาจจะสูงถึง 10 หรือมากกว่า ส่วนน้ำที่มีค่าเป็นด่างสูงจะไม่พบการเปลี่ยนแปลงของ pH มากนักโดยอาจมีค่าอยู่ระหว่าง 7.5-8 ในตอนเช้าและเพิ่มเป็น 9-10 ในช่วงบ่ายในบ่อที่มีค่าความเป็นด่างสูงมากประกอบกับมีค่ากระด้างต่ำค่า pH อาจสูงมากถึง 11 ในระหว่างที่มีการสังเคราะห์แสง ดังนั้น การวัดค่า pH จึงควรเช็คในตอนเช้าและช่วงบ่ายเพื่อได้ทราบค่าความเปลี่ยนแปลงต่ำสุดและสูงสุดในแต่ละวัน

??????????ความเค็ม (Salinity)
ความเค็มของน้ำ หมายถึง ปริมาณของแข็ง (Solid) หรือเกลือแร่ต่าง ๆ โดยเฉพาะโซเดียมคลอไรค์ (NaCL) ที่ละลายอยู่ในน้ำ โดยมีหน่วยเรียกว่า (parts per thousand) ppt ค่าความเค็มของน้ำจะสัมพันธ์กับค่า Chlorinity ประกอบด้วยปริมาณ คลอไรค์, โบรไมค์และไอโอไดด์ และความนำไฟฟ้า(conductivity) ที่มีอยู่ในน้ำหนักหนึ่งกิโลกรัมความเค็มของน้ำจะแตกต่างตามสถานที่และประเภทของดิน โดยมีผู้แบ่งประเภทน้ำตามระดับความเค็มดังนี้
- น้ำจืด (fresh water) ความเค็มระหว่าง 0-0.5 ppt
- น้ำกร่อย (brackish water) ความเค็มระหว่าง 0.5-30 ppt
- น้ำเค็ม (sea water) ความเค็มมากกว่า 30 ppt ขึ้นไป
ความเค็มของน้ำมีผลต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ สำหรับสัตว์น้ำบางชนิด เช่น สัตว์น้ำกร่อยที่อาศัยบริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลงความเค็มมากจะสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพความเค็มที่เปลี่ยนแปลงได้ แต่ค่อย ๆ เป็นไปอย่างช้า ๆ โดยสัตว์น้ำจืดสามารถทนอยู่ในความเค็ม 7 ppt ได้ และปลาขนาดเล็กจะมีความทนทานมากกว่าปลาขนาดใหญ่ ค่าความเค็มของน้ำจะแสดงให้ทราบถึงสภาพทางภูมิศาสตร์และผิวดินบริเวณดังกล่าว เช่น บริเวณที่มีฝนตกชุกและมีน้ำไหลตลอดจะมีความเค็มต่ำที่ประมาณ 0.1-25 ppt ส่วนใหญ่ที่แห้งแล้งและมีการระเหยของน้ำสูงก็จะมีความเค็มสูง อย่างไรก็ตามบางพื้นที่หากมีฝนตกชุก น้ำบาดาลอาจมีค่าความเค็มสูงได้เช่นกัน โดยปกติน้ำทะเลจะมีความเค็มประมาณ 35 ppt น้ำกร่อยมีความเค็มประมาณ 10-15 ppt และน้ำที่มีความเค็มมากกว่า 45 ppt ขึ้นไปจะพบในนาเกลือ อาจไม่เหมาะสมแก่การดำรงชีวิตของสัตว์น้ำบางชนิด สำหรับสัตว์น้ำกร่อยที่อาศัยอยู่บริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลงความเค็มมากจะมีความสามารถปรับตัวและทนทานต่อแรงดัน Osmotic ได้ดี แต่สำหรับสัตว์น้ำทั่วๆไปสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพความเค็มของน้ำที่เปลี่ยนแปลงได้ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปอย่างช้าๆ

??????????สารพิษ (toxicants)
ปัจจุบันแหล่งน้ำธรรมชาติจะปนเปื้อนด้วยสารเคมีชนิดต่างๆ ซึ่งจะมีอันตรายต่อสัตว์น้ำโดยเกิดจากการปล่อยน้ำทิ้งของอุตสาหกรรม, เกษตรกรรม และที่อยู่อาศัยเนื่องจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต้องอาศัยแหล่งน้ำในธรรมชาติจึงมีความจำเป็นในบางครั้งต้องทำการตรวจสอบปริมาณสารพิษตกค้างที่มีอยู่ในน้ำเพื่อป้องกันมิให้สัตว์น้ำเกิดเป็นอันตราย อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์ปริมาณสารพิษมีความยุ่งยากหลายประการ เช่น เครื่องมือมีราคาแพง ชนิดและจำนวนของสารพิษที่ใช้กันอยู่ทั่วๆไปมีมากมายหลายร้อยชนิด ประกอบกับปริมาณที่มีอยู่ในธรรมชาติมีอยู่ในระดับต่ำมาก ดังนั้น การเก็บตัวอย่าง, การรักษาตัวอย่างและตลอดการวิเคราะห์จึงต้องมีความละเอียดรอบคอบ จึงไม่ขอกล่าวในรายละเอียดเพียงแค่จะกล่าวถึงสารพิษ 2 ประเภทคือ
1. โลหะหนัก (heavy metals) เป็นสารพิษที่ถูกปล่อยมาจากโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ เช่น ปรอท(Hg) , แคดเมี่ยม(Cd), ทองแดง(Cu), ตะกั่ว (Pb), สังกะสี Zn และโครเมียม (Cr) สารพิษเหล่านี้จะทำอันตรายต่อสัตว์น้ำได้ในความเข้มข้นต่ำ และสามารถอยู่ในร่างกายของสัตว์น้ำอาจถ่ายทอดมายังผู้บริโภคสัตว์น้ำเหล่านั้นได้อีกด้วย
2. สารเคมีเกษตร (pesticides) ได้จากการทำเกษตรกรรมต่างๆเช่น สารเคมีที่ใช้ในการกำจัดแมลง ศัตรูพืช (insecticides) สารเคมีปราบวัชพืช (herbicides) และสารเคมีกำจัดเชื้อรา (fungicides) เป็นต้น สารประกอบเหล่านี้มีอยู่มากมายหลายร้อยชนิด ซึ่งมีพิษต่อสัตว์น้ำแตกต่างกัน บางชนิดก็สลายได้เร็ว บางชนิดก็สลายได้ช้าและสะสมได้ในสิ่งแวดล้อม
การเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อทำการวิเคราะห์โลหะหนักต้องใช้ภาชนะที่ไม่ใช่โลหะเพื่อป้องกันการปนเปื้อนสำหรับสารเคมีเกษตรต้องทำด้วยความรวดเร็วโดยเก็บใส่ขวดแข็งปิดฝาให้แน่นแล้วรีบนำเข้าห้องปฏิบัติการทำการวิเคราะห์ทันที
บ่อหรือตู้เลี้ยงปลาอาจมีสารพิษปะปนอยู่ในน้ำ เช่น อุปกรณ์การเลี้ยงในตู้ปลา ท่อยาง ซีเมนต์ หรือสีต่างๆ ในบ่อเลี้ยงปลาอาจมีสารพิษจำพวก ยาฆ่าแมลง เช่น DDT (ดีดีที) หรือมลพิษจากโรงงานต่างๆ ปะปนได้ ปลาจะดูดสารพิษเหล่านี้เข้าไปในตัวผ่านทางเหงือกและผิวหนัง นอกจากนี้ในบ่อเลี้ยงอาจเกิดสารประกอบจำพวกไนไตรท์และแอมโมเนียอาจสืบเนื่องมาจากการเน่าเปื่อยของอาหารหรือการสะสมของเสียต่างๆภายในบ่อ
การป้องกันทำได้โดยการหลีกเลี่ยงใช้สิ่งที่คาดว่าจะนำสารพิษมาสู่บ่อปลาและควรเลือกแหล่งน้ำที่จะนำมาเลี้ยงปลาจากแหล่งที่ปลอดสารพิษจากโรงงานการเกษตรและบ้านเรือน

??????????คาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide)
สัตว์น้ำและปลาสามารถทนทานต่อคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในระดับความเข้มข้นสูง แต่อย่างไรก็ตามปลาจะหลีกเลี่ยงไม่อยู่ในน้ำที่มีคาร์บอนไซด์ในระดับที่สูงกว่า 5 mg/l แต่ปลาส่วนมากสามารถทนทานปริมาณ คาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงถึง 60 mg/L หากมีออกซิเจนอยู่ในระดับที่เพียงพอ ความสามารถในการรับออกซิเจนของปลาจะลดลงโดยเฉพาะตอนเช้า เนื่องจากปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยมาจากการหายใจ และยังไม่ถูกนำไปใช้ในการสังเคราะห์แสง ดังนั้นปริมาณ คาร์บอนไดออกไซด์ในบ่อปลาจะมีสูงในช่วงกลางคืนและลดลงตอนกลางวัน นอกจากนี้ คาร์บอนไดออกไซด์อาจจะสูงมากผิดปกติในบ่อหลังจากที่มีการตายของแพลงก์ตอนหรือจากการรวมตัวของน้ำในระดับต่าง ๆ ในขณะที่มีอากาศมืดครึ้ม นอกจากนี้คาร์บอนไดออกไซด์ยังเกิดจากขบวนการย่อยสลาย decomposition พวกอินทรีย์วัตถุต่าง ๆ โดยแบคทีเรียอยู่ในน้ำและสัตว์น้ำซึ่งจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา โดยคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่ในน้ำจะถูกพืชน้ำนำไปสังเคราะห์แสงในตอนกลางวันทำให้ปริมาณลดลง นอกจากนี้คาร์บอนไดออกไซด์ในน้ำยังสูญเสียจากการระเหยกลับสู่บรรยากาศเมื่อเวลาพ่นฟองอากาศลงไปในน้ำ เนื่องจากเสียความสมดุลย์ไปและจากการที่พืชน้ำนำไปสร้างสารประกอบพวกหินปูน (calcium carbonate) เรียกว่า Marl ซึ่งเราสามารถไล่คาร์บอนไดออกไซด์ออกจากน้ำโดยการต้มให้เดือด
คาร์บอนไดออกไซด์มีความสำคัญต่อแหล่งน้ำเนื่องจากเป็นตัวควบคุมมิให้ความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ของแหล่งน้ำเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเรียกว่า (Buffer system) แหล่งน้ำที่เหมาะสมจะมี (buffering capacity) สำหรับการควบคุมเปลี่ยนแปลงได้ดี ผลของคาร์บอนไดออกไซด์อิสระ ที่มีต่อสัตว์น้ำทำให้ระบบการหายใจของน้ำผิดปกติไปโดยคาร์บอนไดออกไซด์ทำการแลกเปลี่ยนออกซิเจนลดประสิทธิภาพลงในปริมาณที่สูงมากทำให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนไม่สามารถทำได้ถึงแม้ว่าในน้ำจะมีปริมาณออกซิเจนเพียงพอก็ตาม
การเปลี่ยนแปลงของคาร์บอนไดออกไซด์ในแหล่งน้ำโดยเฉพาะบ่อปลาสามารถสังเกตได้ชัดเจน โดยตอนเช้ามืดจะมีอยู่ในปริมาณค่อนข้างสูง การที่ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงทำให้ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เนื่องจากคาร์บอนไดออกไซด์ละลายน้ำจะเกิดกรดคาร์บอนิคดังกล่าว โดยทำให้ pH สูงขึ้นในตอนกลางวันลดลงตอนกลางคืน นอกจากการเปลี่ยนแปลงของคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากการหายใจของสิ่งมีชีวิตและการสังเคราะห์แสงของพืชอาจเกิดการรวมตัวของน้ำในระดับต่าง ๆ กันหรือได้รับน้ำเสียจากแหล่งอื่น ๆ อาจเกิดขึ้นได้เมื่อมีการตายของแพลงก์ตอนในแหล่งน้ำพร้อม ๆ กัน

??????????ความขุ่นใส (Turbidity) ความโปร่งใส (Transparency)
ปริมาณสารแขวนลอยทั้งหมด (Total suspenden solids) และความโปร่งใส (Transparency)
ความขุ่นของน้ำแสดงให้เห็นว่ามีสารแขวนลอย (suspended and colloidal matter) อยู่มากน้อยเพียงใด ซึ่งจะขัดขวางไม่ให้แสงสว่างส่องลงไปได้ลึก โดยสารเหล่านี้จะสะท้อนหรือดูดซับเอาแสงไว้ ดังนั้น การวัดความขุ่นของน้ำจึงเป็นการวัดความเข้มข้นของแสงที่ลดลง เนื่องจากสารแขวนลอยดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทำให้น้ำเกิดความขุ่นได้แก่ พวกอินทรีย์สาร และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กโดยปรากฎอยู่ในลักษณะของสารแขวนลอย ตัวอย่างเช่น อนุภาคดิน, ทราย หรือสารอื่นๆ แพลงก์ตอน แบคทีเรียตลอดจนแร่ธาตุต่างๆ
ความขุ่นของน้ำถึงแม้จะปราศจากสารแขวนลอยทั้งหมดที่มีอยู่ในน้ำแต่ระดับความขุ่นของน้ำไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับปริมาณสารแขวนลอยดังกล่าว เนื่องจากความขุ่นของน้ำเราจะพิจารณาถึงความเข้มของแสงที่สามารถผ่านลงไปในน้ำ ซึ่งสารแขวนลอยแต่ละชนิดจะมีความสามารถในการดูดซึมสะท้อนแสงแตกต่างกัน ดังนั้นระดับความขุ่นของน้ำไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตามปริมาณสารแขวนลอยในน้ำ เพราะสารแขวนลอยมีอยู่หลายชนิดและมีคุณสมบัติแตกต่างกัน ผลของความขุ่นของน้ำรวมทั้งสารแขวนลอยที่อาจจะมีผลต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ รวมทั้งการประมงอาจปรากฏได้ในลักษณะดังต่อไปนี้
1. น้ำที่มีความขุ่นมากทำให้แสงสว่างส่องลงไปไม่ได้ลึกก็จะขัดขวางหรือลดปฏิกริยาการสังเคราะห์แสงของพืช โดยเฉพาะแพลงก์ตอนพืชกำลังการผลิตขั้นต้น (Primary productivity) ของแหล่งน้ำลดลง ซึ่งจะทำให้ปริมาณอาหารในธรรมชาติของสัตว์น้ำ ลดลงด้วย
2. ในระดับน้ำที่สูงมากสารแขวนลอยที่ทำให้เกิดความขุ่นจะสามารถทำอันตรายต่อสัตว์น้ำโดยตรงได้ โดยตะกอนสารแขวนลอยจะเข้าไปอุดช่องเหงือกทำให้การหายใจติดขัดและการเจริญเติบโตช้าลงกว่าปกติ การฟักเป็นตัวของไข่และการเจริญเติบโตหยุดชะงักและลดความต้านทานของโรคต่างๆ ฯลฯ
3. เมื่อน้ำมีความขุ่นจะมีผลต่อการเคลื่อนไหวและอพยพย้ายถิ่นการหาอาหาร และการล่าเหยื่อลดประสิทธิภาพลง แต่อาจเป็นผลดีต่อสัตว์น้ำขนาดเล็กสามารถรอดพ้นจากการเป็นเหยื่อของศัตรูได้
4. ความขุ่นทำให้อุณหภูมิของน้ำเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะผิวน้ำผิวบนจะดูดซับความร้อน ทำให้อุณหภูมิสูงกว่าปกติ แต่อาจเป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำบางชนิด นอกจากนี้ยังมีผลต่อปริมาณการละลายของออกซิเจนในน้ำด้วย น้ำที่มีสารแขวนลอยอยู่มากจะสามารถซับปริมาณออกซิเจนได้น้อยกว่าน้ำที่ใสกว่า
5. น้ำที่มีความขุ่นผิดปกติจะทำให้การจับสัตว์น้ำหรือการใช้เครื่องมือทำการปรับบางชนิดลดประสิทธิภาพลง
น้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติจะมีความขุ่นเสมอ เนื่องจากสารแขวนลอยที่ถูกพัดมาจากบริเวณต้นน้ำหรือจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ เช่น ตะกอนดินทรายหรืออินทรีย์วัตถุอื่นๆ ความขุ่นของน้ำที่เกิดจากแพลงก์ตอนเป็นสิ่งที่ต้องการสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
สำหรับปริมาณสารแขวนลอยนิยมวัดเป็นน้ำหนักในรูป mg/L แหล่งน้ำที่ให้ผลผลิตทางการประมงที่ดี ควรมีสารแขวนลอยอยู่ในช่วงระหว่าง 25-80 mg/L หากอยู่ในช่วง 80-400 mg/L จะให้ผลผลิตลดลงหากมีมากกว่า 400 mg/L ขึ้นไปจะเลี้ยงปลาไม่ได้ผล
ความโปร่งใส (Transparency) วัดเป็นระยะความลึกของน้ำสามารถมองเห็นวัตถุเป็นแผ่นวงกลม (Secchi dise) ที่หย่อนลงไปในน้ำจนถึงความลึกที่มองไม่เห็นแผ่นวัตถุดังกล่าว หากแหล่งน้ำใดมีค่าความโปร่งใสอยู่ระหว่าง 30-60 ซม. นับว่ามีความเหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ หากมีค่าต่ำกว่า 30 ซม. แสดงว่าน้ำมีความขุ่นมากเกินไปหรือมีปริมาณแพลงก์ตอนมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะขาดแคลนออกซิเจนขึ้นได้ แต่ถ้าค่ามีความโปร่งใสสูงกว่า 60 ซม.ขึ้นไป แสดงว่าแหล่งน้ำนั้นไม่ค่อยสมบูรณ์
การกำจัดความขุ่นของน้ำ (Remoral of clay turbidity)
บ่อปลาบางแห่งต้องกำจัดความขุ่นเพื่อให้แสงสว่างส่องไปได้ลึกเพื่อให้แพลงก์ตอนได้มีการสังเคราะห์แสงได้ วิธีที่นิยมคือใส่อินทรีย์วัตถุต่างๆลงไปในบ่อ เช่น ปุ๋ยคอกในอัตราประมาณ 300 กก./ไร่ หรือใส่ฟางแห้งในอัตรา 300-600 กก./ไร่ ประมาณ 1-2 ครั้ง ฯลฯ ประสิทธิภาพของการใส่สารเหล่านี้จะแตกต่างไปตามสภาพของน้ำและอาจใช้เวลานานหลายอาทิตย์ กว่าจะแสดงผลออกมาให้เห็น
ส่วนวิธีอื่นได้ผลดีกว่าวิธีที่กล่าวมาแล้วคือ การใช้สารเคมี เช่น สารส้มหรืออลูมินั่มซัลเฟต ซึ่งจะรวมตัวกับสารแขวนลอยต่างๆ ทำให้ตกตะกอนภายในระยะไม่กี่ชั่วโมง การใช้สารส้มควรจะละลายน้ำก่อน แล้วฉีดพ่นไปรอบๆทั่วผิวน้ำในบ่อในขณะที่มีอากาศสงบไม่มีคลื่นลมแรงเพราะอาจทำให้ตะกอนไม่จมลงไปข้างล่างอย่างไรก็ดีสารส้มจะทำให้น้ำมีสภาพเป็นกรดมากขึ้นโดยไปลดค่าความเป็นด่างของน้ำ
วิธีอื่นๆอาจทำได้โดยมีการใส่ปูนขาวในบ่อที่มีความเป็นด่างต่ำก่อนที่จะใส่สารส้มอย่างไรก็ตาม การใส่ปูนขาวในบ่อปกติก็จะช่วยทำให้ตะกอนดินเหล่านี้ลดน้อยลงได้เช่นกัน แต่ถ้าหากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็ควรเติมสารส้มลงไป การใส่สารส้มในบ่อจะทำให้สารแขวนลอยส่วนใหญ่ตกตะกอนได้แต่ไม่สามารถป้องกันความขุ่นได้อย่างถาวร ดังนั้น หากไม่กำจัดแหล่งที่มาของความขุ่นได้แล้ว ความขุ่นก็อาจเกิดขึ้นได้อีกภายหลัง การกำจัดหรือป้องกันการพังทลายของผิวดินโดยการปลูกพืชรอบๆบ่อหรือใช้วิธีขุดคลองกั้นน้ำไว้ชั้นหนึ่งก่อนที่จะปล่อยลงบ่อปลาก็จะช่วยลดความขุ่นของน้ำได้

??????????แพลงก์ตอน (Plankton)
แพลงก์ตอน หมายถึง สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในน้ำประกอบด้วย แพลงก์ตอนสัตว์ (Zooplankton) , แพลงก์ตอนพืช (phytoplankton) และแบคทีเรีย (bacteria) เมื่อปริมาณมากขึ้นทำให้มีความขุ่นสูงขึ้น แพลงก์ตอนพืชต้องการเกลือแร่ (inorganic salts) , คาร์บอนไดออกไซด์ น้ำและแสงแดด เพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสง ส่วนแพลงก์ตอนสัตว์กินพวกแพลงก์ตอนพืชที่ยังมีชีวิตและตายแล้ว รวมทั้งเศษอินทรีย์วัตถุ (organic matter) ในน้ำเป็นอาหาร ส่วนแบคทีเรียอาศัยอินทรีย์วัตถุต่างๆที่เน่าสลายเป็นอาหารในการเลี้ยงปลาที่กินแพลงก์ตอนเป็นอาหารโดยตรงเช่น ปลานิลจะให้ผลผลิตได้เร็วและสูงกว่าปลาที่กินอาหารประเภทอื่น
เนื่องจากแพลงก์ตอนเป็นอาหารธรรมชาติที่สำคัญของปลาดังนั้น ปริมาณแพลงก์ตอนในบ่อปลาจึงมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อผลผลิตปลา นอกจากมีผลต่อการเจริญเติบโตของปลาแล้วแพลงก์ตอนอาจทำให้น้ำขุ่นและขัดขวางไม่ให้พืชน้ำชนิดต่างๆที่อยู่ชั้นล่างไปเจริญเติบโต โดยลดอัตราสังเคราะห์แสง ถึงแม้ว่าแพลงก์ตอนจะมีประโยชน์แต่ถ้ามีปริมาณมากเกินไปก็จะเป็นอันตรายได้เหมือนกันโดยเฉพาะเมื่อมีการเพิ่มปริมาณแพลงก์ตอนมากๆในบ่อปลา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชนิดสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว (blue green algae) มักลอยเป็นฝ้าอยู่บนผิวน้ำและดูดซับความร้อนจากแสงแดดทำให้น้ำในบ่อมีอุณหภูมิสูงขึ้นในตอนกลางคืน แพลงก์ตอนเหล่านี้จะดูดออกซิเจนในน้ำไปใช้ในการหายใจทำให้เกิดการขาดแคลนออกซิเจนขึ้นในช่วงเช้าได้ นอกจากนี้หากแพลงก์ตอนที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากและจะตายพร้อมๆกันจะถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรียทำให้ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำลดลงหรืออาจเกิดกลิ่นในเนื้อปลาได้เช่นกัน
การเปลี่ยนแปลงประชากรของแพลงก์ตอนทั้งในด้านชนิดและปริมาณนั้นจะทำให้ระดับความโปร่งใสและสภาพลักษณะน้ำเปลี่ยนแปลงไปด้วย หากมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยจะไม่มีผลกระทบต่อตัวปลาหากมีมากเกิน จะก่อให้เกิดปัญหาดังที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้นต้องมีการตรวจสอบความโปร่งใสเป็นระยะๆพร้อมเฝ้าสังเกตุสภาพลักษณะของน้ำในบ่อก็จะทำให้ผู้เลี้ยงปลาสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คุณสมบัติของน้ำสามารถควบคุมปริมาณแพลงก์ตอนได้โดยเฉพาะแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช เช่น คาร์บอน , ออกซิเจน , ไฮโดรเจน , ฟอสฟอรัส และไนโตรเจน ฯลฯ ซึ่งในแร่ธาตุเหล่านี้ฟอสฟอรัสเป็นธาตุที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนมากที่สุด ดังนั้นการใส่ปุ๋ยฟอสเฟตลงในบ่ออาจเพิ่มปริมาณแพลงก์ตอนพืช ทำให้ผลผลิตของปลาสูงขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามหากน้ำขาดแคลน ไนโตรเจน , โปแตสเซียม และคาร์บอนอาจทำให้แพลงก์ตอนไม่สามารถเจริญเติบโตได้เต็มที่ ในแหล่งน้ำที่ไม่มีการควบคุมปริมาณแพลงก์ตอนจะขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินและบริเวณชายฝั่งโดยรอบ บ่อปลาที่ตั้งอยู่ในที่ดินมีความสมบูรณ์จะให้ผลผลิตสูง เพราะมีธาตุอาหารมาก ความกระด้างสูงและสามารถควบคุมปริมาณแพลงก์ตอนให้อยู่ในระดับเหมาะสมได้ เช่น การใส่ปุ๋ยเพิ่ม ปริมาณแพลงก์ตอนในบางแห่งการใส่ปุ๋ยและปูนขาวจะช่วยให้แพลงก์ตอนสูงขึ้นโดยเฉพาะปุ๋ยคอกก็ทำให้ปริมาณแพลงก์ตอนสูงขึ้นเช่นกัน

??????????อุณหภูมิ (Temperature)
อุณหภูมิของน้ำเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลโดยทางตรงและทางอ้อมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ จึงจำเป็นต้องทำการตรวจสอบเพื่อหาความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นระยะทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยปกติอุณหภูมิของน้ำตามธรรมชาติจะผันแปรตามภูมิอากาศ ซึ่งขึ้นอยู่กับฤดูกาล ระดับความสูงและสภาพภูมิประเทศ นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ กระแสลม, ความลึก, ปริมาณสารแขวนลอยหรือความขุ่น และสภาพแวดล้อมทั่ว ๆ ไปของแหล่งน้ำ
การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำตามธรรมชาติจะค่อยไปอย่างช้า ๆ และไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อการดำรงชีวิตสัตว์น้ำ อุณหภูมิของร่างกายสัตว์น้ำจะเปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิของน้ำและสภาพแวดล้อมที่มันอาศัยอยู่ แต่ต้องอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม ปลาจะสามารถทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิของน้ำในช่วงจำกัด เมื่ออุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นกิจกรรมต่าง ๆ ในการดำรงชีวิตก็จะสูงขึ้น เมื่ออุณหภูมิลดลงกิจกรรมเหล่านั้นก็จะลดลงไปด้วยตามกฎของ(Van Hoff's Law) ซึ่งกล่าวว่าขบวนการ เมตาโบลิซึ่ม (Metabolic rate) ของสิ่งมีชีวิตจะเพิ่มเป็น 2-3 เท่า เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น 10 องศาเซลเซียส เช่น การหายใจ, การว่ายน้ำ, การกิน, การย่อยของอาหาร, การขับถ่ายและการเต้นของหัวใจ เป็นต้น อัตรา กิจกรรมเหล่านี้จะแตกต่างกันไปในปลาแต่ละชนิด ซึ่งขึ้นอยู่กับขบวนการทางชีวเคมีภายในร่างกายและสภาพแวดล้อม เช่น ปลาขนาดใหญ่จะมีอัตราเมตาโพลิน้อยกว่าปลาที่มีขนาดเล็ก โดยปกติอุณหภูมิภายในตัวปลาจะแตกต่างไปจากอุณหภูมิของน้ำเพียง 0.5-1 oC เหงือกปลาจะเป็นอวัยวะที่สำคัญช่วยในการถ่ายเทและรักษาระดับอุณหภูมิของร่างกาย ปลาขนาดเล็กจะมีอัตราส่วนระหว่างเหงือกต่อน้ำหนักตัวมากกว่าปลาขนาดใหญ่ ทำให้ปลาขนาดเล็กสามารถทนทานและปรับตัวได้ดีกว่าปลาขนาดใหญ่ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิของน้ำอย่างรวดเร็ว (Temperature shock) สามารถทำให้เกิดอันตรายโดยตรงต่อสัตว์น้ำได้ เช่น ทำให้ระบบการควบคุมขับถ่ายน้ำและแร่ธาตุภายในร่างกาย (Osmoregulatory system) ผิดปกติไปทำให้ร่างกายอ่อนแอและตายได้ การปล่อยน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆที่มีอุณหภูมิสูงหรือระบบหล่อเย็น (Cooling system) จะมีผลกระทบต่อสัตว์น้ำบริเวณดังกล่าวหากอุณหภูมิสูงกว่า 2-3 oC อาจเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต และส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารในระดับสูงขึ้นไปชนิดปริมาณและสัดส่วนของประชากรจะถูกควบคุมโดยอุณหภูมิ นอกจากนี้อุณหภูมิยังมีผลต่อสภาพแวดล้อมทางกายภาพของแหล่งน้ำหลายประการ เช่น ความหนาแน่น, ความหนืด, ความสามารถในการละลายก๊าซออกซิเจน, การแบ่งชั้นของน้ำ, การหมุนเวียนของแร่ธาตุต่างๆ และกระแสน้ำ เป็นต้น ผลกระทบที่สำคัญต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำที่มีอุณหภูมิสูงคือ ปริมาณออกซิเจนละลายอยู่ในน้ำจะลดลง ขณะเดียวกันสัตว์น้ำต้องการออกซิเจนเพิ่มมากขึ้นจึงเกิดปัญหาขาดแคลนออกซิเจนขึ้นได้และการทำงานของแบคทีเรียและจุลินทรีย์ชนิดต่างๆในการย่อยสลายสิ่งปฏิกูลต่างๆในน้ำก็จะเพิ่มขึ้นและต้องการใช้ออกซิเจนมากขึ้นก็จะทำให้แหล่งน้ำขาดออกซิเจนเร็วขึ้นเป็นเหตุให้เกิดการเน่าเสีย การอพยพย้ายถิ่น การวางไข่ การฟักไข่ เป็นตัวของสัตว์น้ำล้วนแต่ถูกควบคุมโดยอุณหภูมิทั้งสิ้น การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิของน้ำทำให้พืชน้ำโดยเฉพาะแพลงก์ตอนมีการเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณของสาหร่ายหลายชนิด เช่น อุณหภูมิสูงจะมีพวกสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวมาก จะไม่ก่อประโยชน์ต่อสัตว์น้ำบางชนิดอาจทำให้เป็นพิษแก่สัตว์น้ำได้ นอกจากนี้หากมีปริมาณมากก็จะทำให้เกิดการเน่าเสียและมีกลิ่นเหม็นย่อมมีผลกระทบต่อสัตว์น้ำได้เช่นเดียวกัน
ปลาไม่สามารถทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิกะทันหัน ดังนั้นในการเคลื่อนย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งต้องระวังเป็นพิเศษ โดยต้องให้ปลาปรับตัวให้เข้ากับอุณหภูมิอย่างช้าๆ โดยเฉพาะถ้านำปลาที่มีอุณหภูมิต่ำไปที่มีอุณหภูมิสูงจะมีผลรุนแรงมากกว่า อุณหภูมินอกจากมีผลต่อสัตว์น้ำโดยตรงอาจมีผลทางอ้อมเช่น อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้สารพิษประเภทต่างๆ เช่น ยาปราบศัตรูพืชและโลหะหนักมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิสูงจะช่วงเร่งให้มีการดูดซึม การแพร่กระจายของสารพิษเหล่านั้นให้เข้าสู่ร่างกายเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามสารพิษบางชนิดมีพิษลดลงเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นเนื่องจากอุณหภูมิไปทำให้ปฏิกริยาย่อยสลาย และการกำจัดสารพิษออกนอกร่างกายได้เร็วขึ้นกว่าปกติ นอกจากนี้อุณหภูมิของน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ความต้านทานต่อโรคของสัตว์น้ำเปลี่ยนแปลงไปและเชื้อโรคบางชนิดสามารถแพร่กระจายได้ดีในอุณหภูมิที่แตกต่างกัน
ปลาในเขตร้อนเช่น ประเทศไทยชอบอาศัยอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิ 25-32 oC บ่อเลี้ยงปลาธรรมชาติโดยทั่วไปเนื่องจากมีปริมาณแร่ธาตุสารแขวนลอย, แพลงก์ตอน และความขุ่นค่อนข้างสูง ดังนั้นตอนกลางวันที่มีแดดจัดผิดน้ำชั้นบนจะดูดซับความร้อนไว้ได้มาก อาจมีอุณหภูมิสูงกว่า 35 oC ส่วนน้ำชั้นล่างที่มีอุณหภูมิต่ำอาจเกิดการแบ่งชั้นของอุณหภูมิความลึก (Thermal stratification) แต่มักปรากฎในแหล่งน้ำที่มีขนาดใหญ่ ส่วนในบ่อเลี้ยงปลามีพื้นที่น้อย ความลึกไม่เกิน 2 เมตร จะไม่ค่อยเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ดีในบ่อที่มีความขุ่นสูงกระแสลมไม่พัดผ่าน อาจเกิดการแบ่งชั้นอุณหภูมิขึ้นได้โดยเฉพาะวันที่มีท้องฟ้าใสลมสงบ แดดจัด การรวมตัวของน้ำชั้นบนและชั้นล่างจะเกิดขึ้นตอนกลางคืนหรือรุ่งเช้าเนื่องจากอุณหภูมิของน้ำจะค่อยๆลดทำให้เกิดการรวมตัวหรือหากในบ่อมีความขุ่นลดลง ปริมาณแพลงก์ตอนลดน้อยลงทำให้แสงสว่างส่องลงไปลึกมากขึ้น การแพร่กระจายของอุณหภูมิจะสม่ำเสมอในทุกๆความลึก เกิดการรวมตัวภายหลังเกิดการแบ่งชั้นของอุณหภูมิส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำทำให้เกิดการขาดแคลนออกซิเจนในแหล่งน้ำได้
อุณหภูมิที่ผิดปกติอาจทำให้เกิดโรค
หากอุณหภูมิของน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันอาจทำให้ปลาตายได้เช่น เปลี่ยนแปลงช่วง +12 oC ปลาส่วนใหญ่จะปรับตัวทันแต่มีปลาหลายชนิดไม่สามารถทนต่อการเปลี่ยนแปลงได้ ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเกิดขึ้นเสมอคือ การขนส่งปลาจากบ่อหนึ่งไปอีกบ่อหนึ่ง ดังนั้นควรระวังในการขนถ่ายหากปลาเกิดช๊อคเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิกะทันหันทำให้ปลาอ่อนแอลงและติดเชื้อได้ง่ายและปลาที่อยู่ในน้ำที่เย็นหรืออุณหภูมิต่ำจะมีลักษณะผิวหนังซีดและเกิดการติดเชื้อราได้ง่าย
โดยสรุป การป้องกันผลกระทบอุณหภูมิที่มีต่อสัตว์น้ำควรป้องกันไม่ให้อุณหภูมิของแหล่งน้ำมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหรือผิดปกติไปจากสภาพที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือฤดูกาลและไม่ควรเกินในช่วงอุณหภูมิปกติในการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ

??????????ปริมาณออกซิเจนละลาย (Dissolved oxygen)
ออกซิเจนเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีวิตเนื่องจากสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ย่อมต้องการออกซิเจนเพื่อการหายใจและเจริญเติบโต ออกซิเจนในน้ำขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเช่น อุณหภูมิระดับความสูงและความเค็ม ออกซิเจนละลายในน้ำได้น้อยเมื่ออุณหภูมิสูง และน้ำที่มีความเค็มสูงจะมีออกซิเจนละลายอัตราความเข้มข้นเท่ากับออกซิเจนในบรรยากาศเรียกว่า จุดอิ่มตัว(Saturation Level) ดังนั้นสัตว์น้ำจะเสี่ยงต่อการขาดแคลนออกซิเจนมากกว่าสัตว์บก ในช่วงฤดูร้อนอัตราการย่อยสลายและปฏิกริยาต่างๆ จะเพิ่มมากขึ้นทำให้ปริมาณความต้องการออกซิเจนสูงไปด้วย บางครั้งในแหล่งน้ำจะมีปรากฎการณ์เกินจุดอิ่มตัว(supersaturation) เนื่องจากการผลิตออกซิเจนออกมามาก เช่น พืชสีเขียวทำการสังเคราะห์แสง (photosynthesis) ตอนกลางวัน สภาพดังกล่าวหากเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจะเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำได้เช่นกัน ดังนั้นการควบคุมและป้องกันไม่ให้ปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำลดลงอยู่ในระดับต่ำจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อคุ้มครองให้สัตว์น้ำอาศัยอยู่ได้ปกติ
แหล่งที่มาของออกซิเจนในน้ำ
1. จากบรรยากาศโดยตรง เช่น กระแสลมพัดผ่านผิวน้ำ แต่มีปริมาณไม่มาก
2. จากขบวนการสังเคราะห์แสง (photosynthesis) ของพืชน้ำ เช่น แพลงก์ตอนพืชเป็นแหล่งให้ออกซิเจนในน้ำมากที่สุด ซึ่งตอนกลางวันพืชน้ำจะสังเคราะห์แสงผลิตออกซิเจนออกมาละลายในน้ำ
3. จากขบวนการเคมีอื่นๆ ในน้ำโดยแหล่งน้ำบางแหล่งมีแร่ธาตุทำปฏิกริยากันทำให้เกิดออกซิเจนละลายในน้ำได้
สาเหตุทำให้ปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำลดลง
1. จากการหายใจของสัตว์น้ำและพืชน้ำ
2. จากการเน่าสลายของอินทรีย์วัตถุ เช่น แบคทีเรีย
3. จากขบวนการทางเคมีหรือสารประกอบแร่ธาตุต่างๆ
4. จากการหมุนเวียนของน้ำผสมกับน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำน้อยกว่า
สัตว์น้ำและพืชน้ำใช้ออกซิเจนละลายน้ำเพื่อการหายใจ การควบคุมปริมาณพืชน้ำและแพลงก์ตอนจึงมีความจำเป็นเพื่อให้ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำเพียงพอตลอดวัน การเน่าสลายของอินทรีย์วัตถุต่างๆโดยแบคทีเรียที่ต้องการใช้ออกซิเจนอย่างเดียวเรียกว่า Biochemical oxygen demand (BOD) จะเป็นดรรชนีในการแสดงว่าน้ำมีความเน่าเสียมากน้อยเพียงใด ถ้าปริมาณความต้องการออกซิเจนสูงมาก แสดงว่า ในน้ำมีอินทรีย์วัตถุเน่าสลายอยู่มาก โดยมีแบคทีเรียทำการย่อยสลายโดยทั่วไปปลาไม่สามารถทนอยู่ในน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำกว่า 0.3 mg/L หรือต่ำกว่า 1.0 mg/L เป็นเวลานานแต่ปลาบางชนิดมีความต้องการออกซิเจนต่ำและมีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจ สามารถที่จะอยู่ได้ ดังนั้น ในการควบคุมป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำได้รับอันตรายไม่ควรให้ปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำต่ำกว่า 3 mg/l หรือหากต่ำกว่านี้ควรเป็นระยะเวลาสั้นเพียง 2-3 ชั่วโมง
การขาดแคลนออกซิเจนในน้ำถึงแม้ไม่ต่ำถึงระดับทำให้ปลาตาย แต่อาจมีผลต่อการดำรงชีวิตสัตว์น้ำได้หลายประการ เช่น ปริมาณออกซิเจนต่ำกว่า 3 mg/l ทำให้ระยะฟักไข่ของปลาช้ากว่าปกติ นอกจากนี้สัตว์น้ำขนาดตัวอ่อนมีความแข็งแรงน้อยลง การเจริญเติบโตและต้านทานสารพิษน้อยลงไปด้วย แนวทางแก้ไขภาวะขาดแคลนออกซิเจนระยะสั้น ควรใช้เครื่องมือพ่นน้ำเป็นฝอยกระจายเพื่อดึงเอาออกซิเจนในบรรยากาศลงมา การป้องกันระยะยาวควบคุมปริมาณแพลงก์ตอนไม่ให้มีมากเกินไป โดยใช้วิธีวัดความโปร่งใส(Transparency) เป็นแผ่นไม้ทาสีขาวสลับดำหย่อนลงไปในน้ำ หากต่ำกว่า 30 ซม. แสดงว่ามีแพลงก์ตอนมากเกินไประยะที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตช่วง 30-60 ซ.ม. การลดปริมาณแพลงก์ตอนโดยการระบายน้ำออกจากบ่อประมาณหนึ่งในสามของปริมาณเดิม เอาน้ำใหม่เข้าจากนั้นคอยควบคุมลดปริมาณอาหารและปุ๋ยที่ใส่ในบ่อ นอกจากนี้แพลงก์ตอนพืชชนิดสีเขียวแกมน้ำเงิน (blue green algae) จะเกิดขึ้นในน้ำมีอุณหภูมิสูงช่วงฤดูร้อน แพลงก์ตอนชนิดนี้อาจตายพร้อมกันในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใสลมสงบ ทำให้ปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำลดลงหรือสังเกตุจากสีเขียวเป็นสีเทาหรือน้ำตาล แสดงว่าเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงชนิดแพลงก์ตอน ซึ่งต้องเฝ้าดูและตรวจสอบออกซิเจนในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำตลอด
การขาดออกซิเจนในบ่อเลี้ยง
ปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนไม่เพียงพอมักจะว่ายน้ำเร็วกว่าปกติ กระวนกระวาย กระโดดออกมาจากบ่อหรืออาจจะว่ายน้ำอยู่บริเวณผิวน้ำและโผล่ปากขึ้นมาเหนือน้ำเพื่อฮุบอากาศการขาดออกซิเจนในน้ำในบ่อเลี้ยงมักเกิดจากการเปลี่ยนน้ำไม่ดีพอหรือให้อาหารมากเกินไป อาหารที่เหลือจะเกิดการเน่าเปื่อยและใช้ออกซิเจนมากทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง นอกจากนี้การที่น้ำมีอุณหภูมิสูงจะมีผลช่วงเร่งปฏิกริยาการเน่าเปื่อยของอาหารทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลงอีก ด้วยการใช้สารเคมีบางชนิดเพื่อรักษาโรค ทำให้เกิดภาวะการขาดออกซิเจน เช่น ฟอร์มาลีนและด่างทับทิม เป็นต้น
การป้องกันการขาดออกซิเจนในบ่อเลี้ยงทำได้โดยการดูแลความสะอาดของบ่อมีระบบการให้อากาศที่ดีและมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำอยู่เสมอโดยดูดน้ำจากก้นบ่อออกให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ นอกจากนี้ไม่ควรปล่อยปลาลงเลี้ยงหนาแน่นเกินไป
การวิเคราะห์คุณสมบัติของน้ำ เช่น ความเค็ม, ความเป็นกรดเป็นด่าง(pH) ความเป็นด่าง ความกระด้าง และปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำ ฯลฯ พารามิเตอร์เหล่านี้เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ดังนั้น การควบคุมและป้องกันคุณสมบัติของน้ำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำจึงต้องสังเกตุสัตว์น้ำและตรวจสอบคุณสมบัติของน้ำอย่างสม่ำเสมอ

เอกสารอ้างอิง
ไมตรี ดวงสวัสดิ์ และจารุวรรณ สมศิริ. 2528. คุณสมบัติของน้ำและวิธีการวิเคราะห์สำหรับการวิจัยทางการประมง. ฝ่ายวิจัยสิ่งแวดล้อมสัตว์น้ำ. สถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติ, กรมประมง. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 17-93 หน้า.
ไมตรี ดวงสวัสดิ์. 2526. คุณสมบัติของน้ำกับการเลี้ยงปลา. สถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติ, 1-23 หน้า.
กมลพร ทองอุไทย และสุปราณี ชินบุตร. เอกสารแนะนำกรมประมง. 23-26 หน้า.

  •   หน่วยงาน: สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี
  •   ประกาศวันที่: 2022-06-08
  •   ประกาศสิ้นสุดเเล้วเมื่อวันที่: 2022-06-08 
  •   Hits
  • ภารกิจประจำวันที่ 10 มีนาคม 2568 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี  ภารกิจประจำวันที่ 10 มีนาคม 2568 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี   จำนวนผู้อ่าน 52  ภารกิจประจำวันที่ 27 มกราคม 2568 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี ภารกิจประจำวันที่ 27 มกราคม 2568 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี  จำนวนผู้อ่าน 30 ภารกิจประจำวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี ภารกิจประจำวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี  จำนวนผู้อ่าน 30 ภารกิจประจำวันที่ 31 มกราคม 2568 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี ภารกิจประจำวันที่ 31 มกราคม 2568 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี  จำนวนผู้อ่าน 26 ภารกิจประจำวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี ภารกิจประจำวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี  จำนวนผู้อ่าน 26 ภารกิจประจำวันที่ 25 มีนาคม 2568 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี   ภารกิจประจำวันที่ 25 มีนาคม 2568 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี   จำนวนผู้อ่าน 25 ภารกิจประจำวันที่ 8 เมษายน 2568 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี ภารกิจประจำวันที่ 8 เมษายน 2568 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี  จำนวนผู้อ่าน 23 ภารกิจประจำวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี ภารกิจประจำวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี  จำนวนผู้อ่าน 22 ภารกิจประจำวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี ภารกิจประจำวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี  จำนวนผู้อ่าน 21 ภารกิจประจำวันที่ 5 มีนาคม 2568 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี ภารกิจประจำวันที่ 5 มีนาคม 2568 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี  จำนวนผู้อ่าน 20 ภารกิจประจำวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี  ภารกิจประจำวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี   จำนวนผู้อ่าน 20 ภารกิจประจำวันที่ 7 มีนาคม 2568 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี ภารกิจประจำวันที่ 7 มีนาคม 2568 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี  จำนวนผู้อ่าน 20 ภารกิจประจำวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี ภารกิจประจำวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี  จำนวนผู้อ่าน 19 ภารกิจประจำวันที่ 16 มีนาคม 2568 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี     ภารกิจประจำวันที่ 16 มีนาคม 2568 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี   จำนวนผู้อ่าน 18 ภารกิจประจำวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี  ภารกิจประจำวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี   จำนวนผู้อ่าน 18

    สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2568 สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี

    รายละเอียด สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี SARABURI PROVINCIAL FISHERIES OFFICE ที่ตั้ง : 123 หมู่ 6 ศาลากลางจังหวัดสระบุรี สำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี (ชั้น 2)            ตำบลตะกุด อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี 18000           123 Moo 6, Saraburi Provincial Hall, Saraburi Provincial Fisheries Office (2nd floor)            Takud Sub-district, Mueang Saraburi District, Saraburi, 18000 การเดินทางสาธารณะ : รถสองแถวสาย 9 (10 บาทตลอดสาย)                                       โดยจุดจอดรถสองแถวเริ่มต้นที่ บขส.สระบุรี สิ้นสุดที่ ศูนย์ราชการจังหวัดสระบุรี  Social Network     : fpo_saraburi@fisheries.go.th  LINEID : fposaraburi QR Code Line    ผู้ดูแลเว็บไซต์ : นางสาวพรศิริ โพธาราม   เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล  email  fpo_saraburi@fisheries.go.th  โทรศัพท์ 0 3634 0742  FAX 0 3634 0742  แฟนเพจ แฟนเพจ
    CreativeCommons Valid CSS! Explanation of WCAG 2.1 Level Triple-AA Conformance SSL Labs ipv6