ประวัติ 


                            ศูนย์วิจัยสุขภาพสัตว์น้ำสงขลา เป็นส่วนราชการภายใต้สังกัดกองวิจัยและพัฒนาสุขาภาพสัตว์น้ำ กรมประมง จัดตั้งขึ้นเนื่องจากการที่รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของประเทศ โดยสินค้ากุ้งทะเลจัดเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้เข้าประเทศเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตสินค้ากุ้งทะเลจากการเพาะเลี้ยงได้มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา ซึ่งถ้าหากจะดำรงความเป็นหนึ่งของผู้ผลิตเพื่อการส่งออกกุ้งทะเลให้ได้นั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง  ซึ่งก็คือกรมประมง จะต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการพัฒนาทางด้านวิชาการเรื่องกุ้งทะเลในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเพาะเลี้ยง การจัดการสิ่งแวดล้อม  การวินิจฉัยและการป้องกันโรค รวมทั้งการพัฒนาอาหาร  ซึ่งต้องให้ทันสมัยและเหมาะสมกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อคงไว้ซึ่งคุณภาพของผลผลิต ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอันเป็นทรัพยากรที่มีค่ายิ่งของประเทศ อย่างไรก็ตาม ผลงานด้านวิจัยและด้านการพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลจะถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ จำเป็นจะต้องผ่านองค์กรการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีเพื่อให้ถึงมือเกษตรกรของประเทศ

ดังนั้น กรมประมงจึงจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลเมื่อ พ.ศ. 2540   โดยกำหนดให้มีศูนย์วิจัยและพัฒนาภายใต้สังกัด จำนวน 2 แห่ง ได้แก่

                        1. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลฝั่งอันดามัน (ศวก.อ)  ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง   จังหวัดภูเก็ต  (ซึ่งเดิมคือศูนย์พัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์ชายฝั่งภูเก็ต)

                            2. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลฝั่งอ่าวไทย (ศวก.ท.) (ตั้งแต่  19 ธันวาคม 2540) ต่อมาได้ปรับโครงสร้างใหม่เปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำชายฝั่ง ตั้งแต่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2545 ตั้งอยู่ที่ 130/2 หมู่ที่ 8 ถนนติณสูลานนท์ ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา