ม้าน้ำ 

 คลังความรู้  ความรู้ด้านการประมง


ม้าน้ำ

ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ (Sea horse)

 

 

ม้าน้ำ เป็นปลากระดูกแข็งที่อาศัยอยู่ในทะเล จัดอยู่ใน

Kingdom Animalia

Phylum Chordata

Class Actinopterygii

Order Syngnathiformes

Family Syngnathidae

Subfamily Hippocampinae

Genus Hippocampus

 

ชีววิทยาของม้าน้ำ

ม้าน้ำ มีรูปร่างแตกต่างไปจากปลาชนิดอื่นๆ มาก ส่วนหัวลักษณะเหมือนม้าที่มีปากยาวยื่นออกไปเป็นท่อ ลำตัวปกคลุมด้วยเปลือกแข็งเป็นข้อๆ ขณะว่ายน้ำหรือเกาะกับที่จะตั้งลำตัวขึ้นและเอาส่วนท้องยื่นไปทางด้านหน้า ครีบหูบางใสอยู่ทางด้านหลังของแก้ม และมีครีบหลัง 1 อัน ครีบหางไม่มีแต่เปลี่ยนไปเป็นหาง ม้วนงอ สำหรับเกี่ยวจับวัตถุในน้ำหรือเกาะกันขณะผสมพันธุ์ ม้าน้ำยังสามารถปรับเปลี่ยนสีลำตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ด้วย เพื่ออำพรางตัว

ม้าน้ำตัวผู้มีลักษณะต่างจากตัวเมียคือมีถุงหน้าท้อง (Brood pouch) สำหรับเก็บไข่และฟักเป็นตัว และทำหน้าที่อุ้มท้องและคลอดลูกแทนตัวเมีย เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ม้าน้ำตัวผู้จะปรับเปลี่ยนสีของลำตัวเพื่อดึงดูดม้าน้ำตัวเมีย จากนั้นตัวผู้จะใช้หางโอบกอดตัวเมียพร้อมกับแอ่นท้องประกบกับท้องเข้าหากัน ตัวเมียจะออกไข่ใส่ลงในถุงหน้าท้องของตัวผู้ และม้าน้ำตัวผู้ก็จะปล่อยน้ำเชื้อเข้าผสมกับไข่และฟักเป็นตัวอ่อนภายในถุงหน้าท้อง โดยใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ 2 สัปดาห์ หรือ 1 เดือนแล้วแต่ชนิด โดยจำนวนไข่ในแต่ละครั้งจะมีประมาณ 100-200 ฟอง มากที่สุดคือ 1,500 ฟอง ตามแต่ละชนิด มีระยะการตั้งท้องในแต่ละครั้งเว้นห่าง 28-30 วัน แต่ม้าน้ำตัวผู้บางตัวเมื่อออกลูกในตอนเช้า พอถึงตอนค่ำก็สามารถอุ้มท้องใหม่ได้เลยทันที โดยม้าน้ำถือว่าเป็นปลาที่ออกลูกและแพร่ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว แต่จะมีเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้นที่เจริญเติบโตจนกลายเป็นตัวเต็มวัยในเวลาต่อมา

 

 

ม้าน้ำเพศผู้ จะมีถุงหน้าท้อง (Brood pouch)                            ม้าน้ำเพศเมีย ไม่มีถุงหน้าท้อง

 

เมื่อคลอด ม้าน้ำตัวผู้จะบีบกล้ามเนื้อส่วนท้องและพ่นลูกม้าน้ำทั้งหมดออกจากถุงหน้าท้อง โดยที่ม้าน้ำมีพฤติกรรมแบบคู่เดียวตลอดทั้งชีวิต กล่าวคือ จะจับคู่อยู่กันเพียงตัวเดียว หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีอันเป็นไป ก็จะไม่หาคู่ใหม่

ชนิดของม้าน้ำที่เพาะพันธุ์

1. ม้าน้ำหนาม Hippocampus spinosissimus

 

เป็นม้าน้ำขนาดกลาง มีความยาวจากหัวจรดปลายหางประมาณ 15 เซนติเมตร ลำตัวมีสีสันสวยงาม มักจะมีสีออกน้ำตาลแดง มีลายจุดสีขาว เป็นแถบกว้างคาดบริเวณลำตัว มีหนามค่อนข้างแหลมและยาว พบอาศัยอยู่บริเวณน้ำทะเลค่อนข้างลึก และสภาพน้ำค่อนข้างใส

 

2. ม้าน้ำสามจุด Hippocampus trimaculatus

 

เป็นม้าน้ำขนาดกลาง มีความยาวจากหัวจรดปลายหางประมาณ 15 เซนติเมตร ส่วนหัวค่อนข้างเล็ก ด้านหลังท้ายทอยมีจุดสีดำเรียงกันเป็นระยะ 3 จุด พื้นลำตัวโดยทั่วไปเป็นสีเทาดำ แต่อาจเปลี่ยนเป็นสีเหลืองได้ พบอาศัยอยู่บริเวณดงสาหร่าย ซากโป๊ะ หรือแพเลี้ยงแมลงภู่ มักพบในช่วงฤดูหนาวล

 

3. ม้าน้ำดำ Hippocampus kuda

 

 

เป็นม้าน้ำขนาดใหญ่ที่พบได้ในน่านน้ำไทย ลำตัวสีดำ ส่วนใหญ่มักเปลี่ยนเป็นสีครีม สีเหลือง และสีน้ำตาลแดง พบอาศัยบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของอ่าวไทย

 

การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ม้าน้ำ

 

                              บ่อเลี้ยงม้าน้ำ                                       ม้าน้ำในบ่อที่เกาะเชือก                        ม้าน้ำในตู้กระจกที่เกาะเชือก  

 

การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ม้าน้ำในโรงเพาะฟัก สามารถเลี้ยงได้ทั้งในบ่อซีเมนต์ และตู้กระจก เลี้ยงด้วยน้ำทะเลความเค็ม 30 ส่วนในพันส่วน ฆ่าเชื้อด้วยคลอรีน ภายในบ่อเลี้ยงต้องมีวัสดุยึดเกาะให้ม้าน้ำ อาจใช้สาหร่ายพวงองุ่น หรือเชือก

 

อาร์ทีเมียตัวเต็มวัย

                                            เคย                            ลูกกุ้งทะเลระยะโพสต์ลาวา (4-5)               อาร์ทีเมียตัวเต็มวัย

 

อาหารของม้าน้ำ เป็นอาหารมีชีวิตจำพวก เคย ลูกกุ้งทะเล (ระยะโพสต์ลาวา 4-5) และอาร์ทีเมียตัวเต็มวัย

 

การเพาะและอนุบาลลูกม้าน้ำ

ลูกม้าน้ำที่ถูกปล่อยออกมาจากถุงหน้าท้องของพ่อพันธุ์ม้าน้ำ มีลักษณะคล้ายม้าน้ำตัวเต็มวัย ขนาดเล็กประมาณ 0.5 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับชนิดของม้าน้ำ ลูกม้าน้ำจะลอยอยู่บริเวณผิวน้ำ เก็บรวบรวมลูกม้าน้ำนำมาอนุบาลในถังพลาสติกสีขาว ขนาดความจุ 200 ลิตร เลี้ยงที่ความหนาแน่น ลูกม้าน้ำ 1 ตัวต่อลิตร โดยปล่อยลูกม้าน้ำ จำนวน 100 ตัวต่อน้ำทะเล 100 ลิตรต่อถัง อนุบาลด้วยน้ำทะเลความเค็ม 30 ส่วนในพันส่วน ฆ่าเชื้อด้วยคลอรีน ให้อากาศในระดับที่เหมาะสมเพื่อให้ลูกม้าน้ำสามารถว่ายอยู่ในน้ำได้ ไม่ลอยอยู่บนผิวน้ำ

 

                                          ลูกม้าน้ำหนาม อายุ 3 วัน                        ลูกม้าน้ำสามจุด อายุ 2 วัน               ถังอนุบาลลูกม้าน้ำ

 

อาหารของลูกม้าน้ำ เป็นอาหารมีชีวิต ได้แก่ โรติเฟอร์ โคพีพอด และอาร์ทีเมียวัยอ่อน ชนิดของอาหารที่ให้จะขึ้นอยู่กับอายุของม้าน้ำ ดังนี้

 

อาหารของลูกม้าน้ำ

ชนิดของอาหาร

1 - 5 วัน

5 - 8 วัน

8 - 12 วัน

12 วันขึ้นไป

โรติเฟอร์

โรติเฟอร์ + โคพีพอด

โคพีพอด + อาร์ทีเมียวัยอ่อน

อาร์ทีเมียวัยอ่อน

 

 

                                              โรติเฟอร์                                              โคพีพอด                               อาร์ทีเมียวัยอ่อน