กุ้งแชบ๊วย 

 คลังความรู้  ความรู้ด้านการประมง


กุ้งแชบ๊วย

ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ : Banana prawn

  ชื่อวิทยาศาสตร์ : Penaeus merguiensis

 

 

 

 

กุ้งแชบ๊วย มีลำตัวค่อนข้างเรียวยาว   หัวค่อนข้างเล็กความยาวของหัวประมาณครึ่งหนึ่งของลำตัว  นัยน์ตาโต  กรีมีปลายเรียวแหลมโคนกรีมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายกรีจะยาวเลยปลายก้านหนวดคู่ที่ 1 เล็กน้อย ขอบบนและล่างหยักเป็นฟันเลื่อย ขอบด้านบนมีฟัน  7-8 ซี่  ขอบด้านล่างมีฟัน 4-5 ซี่   ลำตัวมีสีขาวอมเหลืองอ่อน   และมีจุดสีน้ำตาล  สีเขียวแก่และเขียวอ่อน กระจายอยู่ทั่วไปสันบนปล้องท้องและกรีมีสีน้ำตาลปนแดง โคนกรีมีสีดำ  หนวดคู่ที่ 2   มีสีน้ำตาลแดงไม่มีลาย    ขาเดินและรยางค์ว่ายน้ำมีสีเหลืองออกน้ำตาล ปลายของขาว่ายน้ำสีแดงเรื่อๆ  แพนหางใหญ่มีสีแดง แหล่งอาศัยมักอยู่บริเวณพื้นทะเลที่เป็นดินโคลน ความลึกของน้ำระหว่าง 16-25 เมตร

 

กุ้งแชบ๊วยตัวผู้ มีขนาดความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร มีอวัยวะที่เรียกว่า Petasma (A) ลักษณะเป็นติ่งอยู่ระหว่างโคนขาว่ายน้ำคู่ที่ 1 ซึ่งเป็นอวัยวะที่ช่วยในการถ่ายถุงน้ำเชื้อ (B) ไปใส่ในอวัยวะเพศเมีย ส่วนช่องออกของน้ำเชื้อ จะอยู่ที่โคนขาเดินคู่ที่ 5 

 

 

กุ้งแชบ๊วยตัวเมีย มีขนาดความยาวประมาณ 24 เซนติเมตร มีอวัยวะที่เรียกว่า Thelycum (A) มีลักษณะเป็นกระเปาะอยู่ระหว่างโคนขาเดินคู่ที่ 4-5 อวัยวะนี้มีไว้สำหรับเก็บถุงน้ำเชื้อ (Sperm sac) ของเพศผู้หลังจากผสมพันธุ์ ส่วนช่องออกของไข่ (B) จะอยู่ที่โคนขาเดินคู่ที่ 3 (Oviduct)

 

การพัฒนารังไข่ของกุ้งแชบ๊วย

ภายหลังผสมพันธุ์สามารถมองเห็นการพัฒนารังไข่ได้จากด้านหลังของแม่กุ้ง แบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ

ระยะที่ 1 : เป็นระยะที่ไข่ยังไม่พัฒนา สีของรังไข่เมื่อมองจากด้านหลังจะเห็นเพียงเส้นจาง ๆ ขนานไปกับลำไส้

ระยะที่ 2 : เป็นระยะที่ไข่กำลังพัฒนา สีของไข่จะเข้มขึ้นมองเห็นเป็นแถบใหญ่ขึ้น

ระยะที่ 3 : ระยะไข่เกือบแก่หรือเกือบสุก แถบของรังไข่จะขยายใหญ่ขึ้นมองเห็นชัดเจน โดยเฉพาะที่ปล้องแรกของ ลำตัวเริ่มแผ่ออก

ระยะที่ 4 : ระยะไข่แก่หรือไข่สุก รังไข่จะขยายใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะที่ปล้องแรกของลำตัว จะขยายแผ่ลงถึงด้านข้างตัว สีของไข่จะเข้มขึ้น พร้อมที่จะวางไข่ในคืนนั้น

 

วงจรชีวิตและระยะของกุ้งแชบ๊วย

 

การเจริญพัฒนาของลูกกุ้งแชบ๊วยตั้งแต่แม่กุ้งวางไข่จนถึงระยะโพสต์ลาวา  (First postlarva) ใช้ระยะเวลาประมาณ 10 วัน ประกอบด้วย 4 ระยะใหญ่ คือ นอเพลียส (Nuaplius) ซูเอีย (Zoea) ไมซิส (Mysis)  และโพสต์ลาวา (Postlarva)   จะย้ายเข้ามาอาศัยอยู่บริเวณป่าชายเลนประมาณ 1-2 เดือน ขึ้นกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่จนถึงระยะวัยรุ่น (Juvenile)   อายุประมาณ 2-3 เดือน จะเคลื่อนย้ายออกสู่บริเวณชายฝั่งน้ำตื้นจนเจริญเข้าสู่ระยะก่อนวัยเจริญพันธุ์ (Subadult) ซึ่งมีอายุประมาณ 3-4 เดือน จึงเคลื่อนย้ายออกสู่ทะเลเปิด และเจริญเติบโตเข้าสู่ระยะเจริญพันธุ์ (Mature adult) เพื่อแพร่ขยายพันธุ์ต่อไป