ประวัติ กองนโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาการประมง
สืบเนื่องจากการประกาศบังคับใช้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งมุ่งหวังให้มีการบริหารจัดการการประมงของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถป้องกันการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพื่อรักษาคงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำให้คงอยู่ตลอดไป..อีกทั้งมีกระบวนการผลิตที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม..ผลผลิตมีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่นานาประเทศยอมรับ..สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของผลผลิตได้.อันจะก่อให้เกิดความยั่งยืนต่ออาชีพประมง..รวมทั้งอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่งมีมูลค่ากว่าแสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 9–10 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมด้านการเกษตรในแต่ละปี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา เป็นผลให้มีภารกิจใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรของกรมประมงใหม่(Re–engineering) เพื่อให้สอดคล้องและรองรับกับภารกิจ บทบาท และองค์ประกอบสภาพแวดล้อม ความต้องการของผู้บริโภคและประเทศคู่ค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนกระแสโลกาภิวัตน์ทั่วโลก (Globalization) อาทิ ความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหาร(Food Security & Food safety) การใช้แรงงานผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์(Illegal.labour&Human Trafficking) ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental impact) การใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่าบนพื้นฐานของความยั่งยืน (Sustainable Use of Natural Resources) ตลอดจนความร่วมมือด้านการค้า (Trade Cooperation) ความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ (International Organization) และนานาประเทศทั่วโลก ฯลฯ
ซึ่งต่อมาได้มีการประกาศกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมประมง พ.ศ. 2559 ขึ้นใหม่ เพื่อให้มีโครงสร้าง ภารกิจ บทบาทหน้าที่ และอัตรากำลังสอดคล้องกับภารกิจเดิมที่มีการปรับเปลี่ยน และภารกิจใหม่ที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เป็นผลให้มีหน่วยงานระดับกองเพิ่มขึ้นจากเดิม 14 หน่วยงาน เป็น 24 หน่วยงาน และได้เริ่มปฏิบัติงานตามโครงสร้างใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 เป็นต้นมา โดยกองนโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาการประมง เป็นหน่วยงานที่ปรับเปลี่ยนมาจากกองพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการประมงเดิม มีภารกิจหน้าที่หลักในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาการประมงของประเทศอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นส่วนร่วมในการผลักดันการพัฒนาการประมงสู่ประเทศไทย 4.0 ครอบคลุมการรวบรวม จัดทำข้อมูลสถิติ การทำประมงของประเทศ การวิเคราะห์ข้อมูลด้านเศรษฐกิจการประมงทั้งในและต่างประเทศ การรวบรวมและวิเคราะห์ยุทธศาสตร์การประมงจากคณะกรรมการนโยบายประมงประจำจังหวัด 76 จังหวัด เพื่อสรุปเป็นข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการการประมงของประเทศ ตลอดจนการผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาประมงไปสู่การจัดทำแผนประจำปี เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการ/ดำเนินการตามยุทธศาสตร์
โครงสร้างของกองนโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาการประมง ประกอบด้วย หน่วยงานระดับกลุ่ม 5 กลุ่ม 1 ฝ่าย ได้แก่
1. ฝ่ายบริหารทั่วไป (ฝบท.)
2. กลุ่มเศรษฐกิจการประมง (กศป.)
3. กลุ่มเลขานุการคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ (กลน.)
4. กลุ่มวิเคราะห์การค้าสินค้าประมงระหว่างประเทศ (กวค.)
5. กลุ่มวิจัยและวิเคราะห์สถิติการประมง (กวส.)
6. กลุ่มแผนและติดตามยุทธศาสตร์การประมง (กผย.)