เผยเเพร่: 2020-10-01 | อ่าน: 476 ครั้ง
เกษตรอัจฉริยะ : ภาคประมง
สุกัญญา พิมมาดี
กลุ่มเศรษฐกิจการประมง
กองนโยบายและแผนพัฒนาการประมง
กันยายน 2563
ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๘๐) เป็นยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรกของประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งจะต้องนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยมีปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้บรรลุเป้าหมาย 6 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านความมั่นคง
(2) ด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน
(3) ด้านพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
(4) ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม
(5) ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ
(6) การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนและการเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน จึงได้มีการสรุปประเด็นสาระสำคัญประกอบด้วย 23
แผนแม่บทหลัก และ 85 แผนแม่บทย่อย
แผนแม่บทด้านการเกษตรเป็นหนึ่งในแผนแม่บทหลัก และมีประเด็นเกษตรอัจฉริยะเป็นหนึ่งใน
แผนแม่บทย่อย ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งขับเคลื่อนโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ภายใต้โครงการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm หรือ Intelligent Farm) เป็นการทำการเกษตรรูปแบบใหม่ ด้วยการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มีความแม่นยำสูง เข้ามาช่วยในการทำงาน โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด ในสถานการณ์ปัจจุบันที่แรงงานในภาคการเกษตรลดลง และส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ทำให้ภาคเกษตรต้องปรับตัวโดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
การดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเกษตรอัจฉริยะอย่างมีประสิทธิภาพจะต้องพิจารณาองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ด้าน คือ
1) การระบุตำแหน่งพื้นที่ทำการเกษตรที่เหมาะสม
2) การแปรวิเคราะห์ข้อมูลที่ตรงกับระยะเวลาของการเพาะปลูกพืช/เลี้ยงสัตว์
3) การบริหารจัดการพื้นที่โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ไม่สิ้นเปลืองทรัพยากร และต้องเข้ากับการเพาะปลูกพืช/เลี้ยงสัตว์ชนิดนั้นๆ
ภาครัฐได้ดำเนินการขับเคลื่อนการทำงานด้านเกษตรอัจฉริยะ ผ่านทางคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ โดยได้ดำเนินการยกร่างแผนแม่บทเกษตรอัจฉริยะแล้วเสร็จในเบื้องต้นตั้งแต่ปลายปี 2562 มีสาระสำคัญประกอบด้วย 6 แนวทาง คือ
1) การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ
2) การสร้างแปลงเรียนรู้ต้นแบบเกษตรอัจฉริยะ แปลงใหญ่เกษตรอัจฉริยะ
3) การสร้างการรับรู้ เข้าถึง ใช้ประโยชน์ และการส่งเสริมขยายผลเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ
4) การพัฒนาการแปรรูปและการตลาดเกษตรอัจฉริยะ
5) การส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการบริหารจัดการเกษตรอัจฉริยะ
6) การพัฒนาบุคลากรและเครือข่ายด้านเกษตรอัจฉริยะ
ภาคประมง ถือเป็นสาขาหนึ่งของภาคเกษตร ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนงานโครงการ เพื่อให้ผลักดันเป้าหมายเกษตรอัจฉริยะ ภายใต้ร่างแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอัจฉริยะ พ.ศ. 2565-2566 ดังนี้
1) โครงการวิจัยและพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยและรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างทันท่วงทีด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำสำคัญให้เหมาะสม สามารถปรับตัวเข้ากับกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องมาจาก
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
2).โครงการวิจัยและพัฒนาระบบฐานข้อมูลการอารักขาพืช สัตว์ และสัตว์น้ำ ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยและรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการอารักขาพืช สัตว์ และสัตว์น้ำเศรษฐกิจสำคัญ พร้อมรับมือกับสถานการณ์ทางด้านโรคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากสภาวะโลกร้อน
3) โครงการวิจัยและพัฒนาระบบประเมินและติดตามสุขภาพพืช สัตว์ และสัตว์น้ำที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยและรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อพัฒนาระบบประเมินและติดตามสุขภาพพืช สัตว์ และสัตว์น้ำเศรษฐกิจสำคัญ พร้อมรองรับกับการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
4) โครงการวิจัยและพัฒนา “Index Library” เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลสำหรับเป็นเครื่องมือช่วยสนับสนุนการตัดสินใจในการติดตามสุขภาพและการอารักขา ของพืชเศรษฐกิจสำคัญ
5) โครงการพัฒนาเกษตรกรผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้เป็น smart farmer / young smart farmer เพื่อสร้าง smart farmer/young smart farmer ด้านเกษตรอัจฉริยะในพื้นที่ เพื่อเป็นต้นแบบ
การทำแปลงใหญ่เกษตรอัจฉริยะ
6) โครงการส่งเสริมเกษตรกรอัจฉริยะให้เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Startup Smart Farmer) เพื่อสนับสนุน smart farmer ที่มีศักยภาพในการเป็นผู้ประกอบการให้บริการด้านเกษตรอัจฉริยะที่เกี่ยวข้องให้กระจายทั่วประเทศ เกษตรกรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีในราคาที่เหมาะสม
7) โครงการพัฒนาฐานข้อมูล smart farmer / young smart farmer เกษตรอัจฉริยะ เพื่อสร้างฐานข้อมูลเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายและเกษตรกรอัจฉริยะเพื่อเป็นผู้ให้บริการ (service provider) สามารถนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรได้โดยตรง
8) โครงการจัดทำและพัฒนาแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ เพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้และการปรับใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจ
9) โครงการส่งเสริมการทำแปลงเกษตรอัจฉริยะ เพื่อสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะสำหรับการผลิตพืช ปศุสัตว์ ประมง หม่อนไหม
10) โครงการส่งเสริมการทำแปลงใหญ่เกษตรอัจฉริยะ เพื่อขยายผลการทำแปลงเกษตรอัจฉริยะ
ในพื้นที่แปลงใหญ่ที่มีศักยภาพด้วยเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะที่เหมาะสมกับพื้นที่ สำหรับการผลิตพืช ปศุสัตว์ ประมง หม่อนไหม
11) โครงการพัฒนาศักยภาพองค์กรการเกษตรสู่การเป็นองค์กรการเกษตรอัจฉริยะ เพื่อพัฒนาสหกรณ์การเกษตรให้มีความเข้มแข็งตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่กระบวนการผลิต การแปรรูป การตลาด ตลอดจนแพลตฟอร์มทางการตลาดออนไลน์ ด้วยเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ IoT (Internet of Things)
12) โครงการบริหารจัดการข้อมูลสินค้าเกษตรที่แม่นยำตั้งแต่ฟาร์มจนถึงผู้บริโภค เพื่อให้ได้ข้อมูลสินค้าเกษตรที่ถูกต้องแม่นยำ สามารถใช้ในการบริหารจัดการได้ตลอดห่วงโซ่ตั้งแต่ผู้ผลิตจนถึงผู้บริโภค
13) โครงการพัฒนาเครือข่ายวงแหวนการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อให้เกิดระบบการใช้ทรัพยากรด้านเครื่องจักรกลการเกษตรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าในการลงทุน เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเครื่องจักรตลอดห่วงโซ่การผลิต รวมถึงการสร้างเครือข่ายธุรกิจของชุมชน
14) โครงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ขนส่งสินค้าเกษตรของชุมชน เพื่อสนับสนุนการใช้ยานพาหนะของชุมชนที่มีอยู่อย่างเต็มประสิทธิภาพและคุ้มค่าการลงทุน ตลอดจนลดการสูญเสียและความเสียหายของผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร รวมถึงการสร้างเครือข่ายธุรกิจขนส่งของชุมชน
15) โครงการบริหารจัดการคลังสินค้าอัจฉริยะ เพื่อให้มีระบบคลังสินค้าและการกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการขนส่ง ลดการสูญเสียและความเสียหายของผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ของชุมชน
16)โครงการพัฒนาระบบติดตามและตรวจสอบย้อนกลับเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการจัดการสินค้าเกษตรตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงจำหน่ายแก่ผู้บริโภคการยกระดับการผลิต และผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร มีระบบฐานข้อมูลที่ดีสามารถติดตามการตรวจรับรองและตรวจสอบย้อนกลับได้
17) โครงการยกระดับการขยายธุรกิจการให้บริการด้านการเกษตร เพื่อยกระดับการให้บริการ
ด้านการเกษตร ให้กับเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกรทั้งในรูปแบบผู้ให้บริการสินค้าเกษตร (Service Provider) และผู้ให้บริการแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานสินค้าและบริการด้านเกษตร (Solution Provider)
18) โครงการสนับสนุนผู้ประกอบการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกษตรอัจฉริยะ เพื่อจำหน่ายให้แก่เกษตรกร ซึ่งเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกษตรอัจฉริยะ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ง่าย
19) โครงการพัฒนานักศึกษาอาชีวะหรือ Young Smart Farmer ให้เป็นผู้ประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกษตรอัจฉริยะ เพื่อพัฒนาทักษะให้กับนักศึกษาอาชีวะ หรือ Young Smart Farmer ให้สามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นผู้ประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกษตรอัจฉริยะได้
20) โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในแปลง/ฟาร์มเกษตรอัจฉริยะ เพื่อส่งเสริมและพัฒนา การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์การเกษตร ในรูปแบบของแปลง และ/หรือ ฟาร์มเกษตรอัจฉริยะ
21) โครงการพัฒนาทักษะการบริหารจัดการแปลง/ฟาร์ม ให้แก่เกษตรกร/ผู้ประกอบการ ไปสู่การเป็นธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตรอัจฉริยะ
22) โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนปลอดดอกเบี้ย/ดอกเบี้ยต่ำ สำหรับพัฒนาแปลง/ฟาร์มให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอัจฉริยะ
23) โครงการพัฒนาหลักสูตรส่งเสริมการเรียนรู้วิธีใช้งานเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับเกษตรกร เพื่อสร้าง smart farmer / young smart farmer ให้มีองค์ความรู้ในการใช้งานเครื่องมือ/เครื่องจักรกลการเกษตรสมัยใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
24) โครงการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และ/หรือ Start Up ในพื้นที่เกษตร
25) โครงการสนับสนุนทุนแก่บุคลากรด้านการเกษตรอัจฉริยะ เพื่อพัฒนาบุคคลากรด้านการเกษตรให้มีความรู้ความสามารถในด้านการเกษตรอัจฉริยะ สามารถขับเคลื่อนและขยายผลการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะให้เหมาะสมกับบริบททางการเกษตรของประเทศไทย
ปัจจุบันเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเริ่มนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการดำเนินการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแล้ว เช่น การใช้แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือเพื่อช่วยในระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น การให้อาหาร การตรวจสอบคุณภาพน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ เกษตรกรยังได้นำแผงโซล่าเซลล์มาติดตั้งเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน รวมทั้งจำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ในส่วนของกรมประมงได้เริ่มพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อนำมาใช้ในระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้ากุ้งทะเล ทำให้ทราบแหล่งที่มาสินค้า
ตลอดห่วงโซ่ ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค
ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ต่าง ๆ ส่งผลให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างมาก ทั้งในด้านการผลิต การตลาด และการบริโภค ทั้งนี้ ภาคประมงไทยจะสามารถอยู่รอดได้ในสภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ มาตรการทางการค้าของประเทศคู่ค้าและคู่แข่งของไทย ระเบียบการค้าของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างมาก รวมถึงปัญหาโรคระบาดต่าง ๆ
ที่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการประมงต้องปรับตัวและเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วยคุณลักษณะ 3 ประการ และเงื่อนไข 2 ประการ หรือที่เรียกว่า 3 ห่วง
2 เงื่อนไข คือ
1) ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีต่อความจำเป็น และเหมาะสมกับฐานะของตนเองสังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป และต้องไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
2) ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจดำเนินการเรื่องต่าง ๆ อย่างมีเหตุผลตามหลักวิชาการ หลักกฎหมาย หลักศีลธรรมจริยธรรม และวัฒนธรรมที่ดีงาม โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบรู้และรอบคอบ
3) ระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับต่อผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม เพื่อให้สามารถปรับตัวและรับมือได้อย่างทันท่วงที
เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การตัดสินใจ และการกระทำเป็นไปอย่างพอเพียง จะต้องอาศัยทั้งคุณธรรมและความรู้ ดังนี้
1) เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องสร้างเสริมให้เป็นพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ ประกอบด้วย
ด้านจิตใจ คือการตระหนักในคุณธรรม รู้ผิดชอบชั่วดี ซื่อสัตย์สุจริต ใช้สติปัญญาอย่างถูกต้องและเหมาะสม
ในการดำเนินชีวิต และด้านการกระทำ คือมีความขยันหมั่นเพียร อดทน ไม่โลภ ไม่ตระหนี้ รู้จักแบ่งปัน และรับผิดชอบในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม
2) เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วยการฝึกตนให้มีความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน มีความรอบคอบ และความระมัดระวังที่จะนำความรู้ต่าง ๆ เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผน และในขั้นปฏิบัติ
ดังนั้น หากผู้ประกอบการประมงไทยสามารถนำความรู้และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพโดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ย่อมส่งผลให้ภาคประมงไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) อย่างแน่นอน
**************
เอกสารอ้างอิง
1. ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580)
2. (ร่าง) แผนงาน/โครงการ พ.ศ. 2565-2566 แผนปฏิบัติการด้านเกษตรอัจฉริยะ โดย คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์