เผยเเพร่: 2021-03-11 | อ่าน: 520 ครั้ง
ผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID – 19 ต่อการค้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ
ในสาธารณรัฐประชาชนจีน
สุทธสินี สนธิรัตน
กลุ่มเศรษฐกิจการประมง
กองนโยบายและพัฒนายุทธศาสตร์การประมง
ในสภาวะที่ไวรัส COVID – 19 กำลังระบาด เป็นช่วงที่ปลานิลที่เกษตรกรจีนเพาะเลี้ยงถึงเวลาที่จับขายพอดีการระบาดของไวรัสดังกล่าว ส่งผลให้คำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด
ผลกระทบที่สำคัญของ COVID – 19 คือ งานแสดงนิทรรศการและงานสัมมนาทางวิชาการที่สำคัญ 2 งาน ได้ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด ได้แก่ Seafood Expo North America ณ เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงกลางเดือนมีนาคมของทุกปี และ Seafood Expo Global ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี
ผู้ค้า/บริษัทจีนโดยปกติจะได้รับคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าในงาน Seafood Expo North America ถึง ร้อยละ 40 – 50 ซึ่งในปี 2562 บริษัทจากประเทศจีน 200 บริษัท ได้เข้าร่วมในงานดังกล่าวเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดที่มีอยู่และต่อรองราคากับลูกค้าที่เปลี่ยนไปซื้อกับประเทศคู่แข่ง การเลื่อนคำสั่งซื้อออกไปทำให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลานิลไม่ต้องตอบคำถามเกี่ยวกับสุขอนามัยและเสถียรภาพด้านอุปทานจากคู่ค้าต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ปัญหาด้านการส่งออก เนื่องจากระบบการขนส่งของประเทศจีนถูกตัดขาดชั่วคราว พื้นที่สาธารณะถูกปิด และประชาชนต้องอยู่ในบ้านของตนเพื่อกำจัดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส มีเพียงผู้ซื้อสัตว์น้ำภายในประเทศ 2 – 3 ราย เท่านั้น ที่เปิดให้บริการ และแทบไม่มีคนทานอาหารในร้านอาหาร เป็นเวลา 1 เดือนครึ่ง ซึ่งหลังจากที่มีการปิดเมือง อู่ฮั่น ได้มีการสำรวจตลาดที่สำคัญ 55 ตลาด ในกรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ และเมืองกว่างโจว ผลการสำรวจ พบว่า การค้าสินค้าสัตว์น้ำฟื้นตัวเพียงครึ่งเดียวจากระดับปกติ ผลกระทบนี้เริ่มต้นจากโรงเพาะฟัก ฟาร์มเพาะเลี้ยง ผู้แปรรูป ผู้ขายปลีก และผู้ส่งออก ตามห่วงโซ่อุปทานการผลิตทั้งหมด
ร้อยละ 60 ของผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำในโลกผลิตจากประเทศจีน ปลานิลมีการเพาะเลี้ยงในประเทศจีนมา กว่า 30 ปี โดยเฉพาะทางใต้ของมณฑลไห่หนาน มณฑลกวางตุ้ง และเขตปกครองตนเองกวางสี บริษัทเพาะเลี้ยงปลานิลขนาดใหญ่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับเกษตรกรรายย่อย โดยให้บริการลูกพันธุ์และคำแนะนำทางเทคนิค และรับซื้อปลาที่โตเต็มวัยจากเกษตรกรเพื่อขายต่อไป
ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสดังกล่าวทำให้ผู้ซื้อมากกว่าร้อยละ 40 เลื่อนคำสั่งซื้อของเดือนมีนาคมออกไปอีก 2 เดือน ซึ่งคำสั่งซื้อส่วนใหญ่มาจากสหรัฐอเมริกา แคนาดา และฟิลิปปินส์ โดยสหรัฐอเมริกา
เป็นคู่ค้ารายใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศที่นำเข้าปลานิลจากประเทศจีน ปลานิลที่นำเข้าจากจีนในช่วงต้นเดือนมีนาคม สหรัฐอเมริกาจะกักสินค้าที่ด่านศุลกากรเพื่อตรวจสอบอย่างน้อย 14 วัน (ระยะเวลานานพอสมควรเพื่อให้เชื้อไวรัส COVID – 19 ตายไปเองตามธรรมชาติ) แต่ในช่วงกลางเดือนมีนาคม องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (the US Food and Drug Administration : FDA) ได้เปลี่ยนการตรวจสอบสินค้าที่จะนำเข้ามาในสหรัฐอเมริกา เป็นการสุ่มตัวอย่าง ณ ด่านศุลกากรสหรัฐอเมริกา เพื่อตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดร่วมกับรัฐบาลต่างประเทศ การตรวจสอบนี้คาดว่าจะมีผลปฏิบัติถึงเดือนเมษายน และจะทำให้การค้าชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง
สำหรับลูกจ้างในบริษัทผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของจีนได้เริ่มกลับมาทำงานอีกครั้งตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เนื่องจาก รัฐบาลจีนใช้มาตรการป้องกันการติดเชื้ออย่างเข้มข้น อย่างไรก็ตาม ผู้ซื้อยังไม่สามารถยืนยันคำสั่งซื้อได้จนกว่าเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน
ปลานิลสามารถผลิตได้ 2 รุ่นต่อปี จากการสำรวจในมณฑลไห่หนาน พบว่า 1 ใน 10 ของเกษตรกร ผู้เลี้ยงปลานิลไม่สามารถจับปลาที่โตเต็มวัยได้ทั้งหมดก่อนที่จะลงลูกพันธุ์รุ่นใหม่ หากยังถูกเลื่อนคำสั่งซื้อไปอีก 2 – 3 เดือน ผู้ประกอบการแปรรูปและผู้ส่งออกจะได้รับผลกระทบในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ เนื่องจากมีผลผลิตล้นตลาด ปริมาณสินค้าส่วนใหญ่จะถูกขายให้กับผู้ประกอบการแปรรูปในราคาที่ถูกลง จึงต้องมีการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากการแปรรูปและการส่งออกเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญใน ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสินค้าสัตว์น้ำ
-----------------------------------------------------------
13 เมษายน 2563