ปลาตะโกกปลาประจำจังหวัดอุตรดิตถ์


ปลาตะโกกปลาประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ 

ส่ง email ทวิต Tweeter ส่ง Line แชร์ Facebook

ชื่อสัตว์น้ำ              ปลาตะโกก

ชื่อวิทยาศาสตร์         Cyclocheilichthys enoplus   (Bleeker, 1850)

ชื่อสามัญ                 SOLDIER RIVER BARB

ชื่ออื่น ๆ                  ปลาโจก

 

ความสำคัญ/ประวัติความเป็นมา

          ปลาตะโกก เป็นปลาที่เคยมีมากในแม่น้ำน่าน หลังจากมีการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ แม่น้ำน่านในเขตตอนเหนือเขื่อนกลายเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ ที่มีความชุกชุมและความหลากหลายของสัตว์น้ำ ทั้งชนิดและปริมาณ โดยเฉพาะปลาตะโกก จนเป็นที่กล่าวขานว่า มาเที่ยวเขื่อนสิริกิติ์ ต้องได้กินปลาตะโกก ไม่เช่นนั้นเหมือนมาไม่ถึงเขื่อนสิริกิติ์ จวบจนถึงปัจจุบันปลาตะโกกเป็นปลาที่มีความสำคัญมากโดยเฉพาะในแวดวงกีฬาตกปลา จังหวัดอุตรดิตถ์จึงเห็นว่าปลาชนิดนี้มีความเหมาะสมที่จะเป็นปลาประจำถิ่น และเป็นปลาที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดอุตรดิตถ์

ลักษณะทั่วไป

ปลาตะโกก จัดอยู่ในวงศ์ของปลาตะเพียน มีลำตัวแบนข้าง รูปร่างเพรียว ลำตัวมีสีน้ำเงินอมฟ้า ด้านใต้ลำตัวมีสีเงินอมขาว ครีบหลังและครีบท้องมีจุดประสีดำบาง ๆ ส่วนครีบอื่น ๆ มีสีเทาจาง ส่วนหลังโค้งเล็กน้อยจากบริเวณหลังตา ส่วนใต้ลำตัวโค้งน้อยกว่า มีเยื่อปิดตา ปากอยู่ตรงปลายค่อนมาทางด้านล่าง มีหนวด 2 คู่ จุดเด่นอยู่ที่ครีบหลังโค้ง ก้านครีบใหญ่ แข็งแรงและเป็นซี่ฟันอยู่ด้านหลังของก้านครีบ เส้นข้างตัวตรงและลดต่ำลงเล็กน้อยทางด้านหลัง พบได้ทั่วไปในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบมากในแม่น้ำและอ่างเก็บน้ำในภาคอีสาน ภาคเหนือและภาคกลาง ปลาตะโกกกินอาหารจำพวกหอยสองฝา เศษพืช แพลงค์ตอนสัตว์ สาหร่ายสีเขียว และสาหร่ายสีน้ำตาล เป็นต้น

          นิสัยของปลาชนิดนี้เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำไหลหรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เครื่องมือที่นิยมใช้จับปลาตะโกก ร้อยละ 65 เป็นการใช้เบ็ด (เบ็ดฝรั่งและเบ็ดกระตุก) และอีกร้อยละ 35 เป็นการใช้ข่าย การเลี้ยงปลาตะโกกเพื่อเป็นพ่อแม่พันธุ์ที่ดี ต้องมีอายุประมาณ 3 ปี น้ำหนักประมาณ 750 กรัม จะสามารถนำขึ้นมาเพาะพันธุ์ได้ ช่วงที่มีความสมบรูณ์เพศจะอยู่ระหว่างเดือนกรกฎาคม-ต้นเดือนกันยายน