ประวัติหน่วยงาน 


        สืบเนื่องจากในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนซึ่งประกอบด้วย 7 จังหวัด คือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา ภูเก็ต และนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรสัตว์น้ำ ประกอบกับกรมประมงได้ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงกุ้งน้ำกร่อย ในเขตพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีผลผลิตเข้าสู่สถานประกอบการมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2534 กรมประมงจึงได้จัดตั้งศูนย์ควบคุมตรวจสอบสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ สุราษฎร์ธานี ขึ้นเป็นการภายในกรมประมง เพื่อให้บริการด้านการตรวจและควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเพื่อการส่งออกแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ในระยะแรกสำนักงานชั่วคราวของศูนย์ฯ ตั้งอยู่ในอาคารที่ทำการของศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืด สุราษฎร์ธานี ต่อมาปีงบประมาณ 2537 ได้รับงบประมาณเพื่อก่อสร้างที่ทำการและห้องปฏิบัติการ เป็นอาคาร 2 ชั้น พื้นที่ใช้งาน 857.5 ตารางเมตร รวมทั้งระบบประปาและถนนลาดยาง จากงบประมาณ 10,499,000 บาท โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2537 แล้วเสร็จในวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 
        ในปี พ.ศ. 2540 กรมประมงได้รับอนุมัติจากสำนักงาน ก.พ. ในการกำหนดตำแหน่งแผนอัตรากำลัง 3 ปี (2539 – 2541) โดยได้รับอนุมัติให้เป็นหน่วยงานมีฐานะระดับงาน ชื่อ งานควบคุมตรวจสอบสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ สุราษฎร์ธานี สังกัดฝ่ายตรวจสอบรับรองคุณภาพสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ กองพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง
        ต่อมาเมื่อมีการปฏิรูประบบข้าราชการ พ.ศ. 2545 จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์วิจัยและตรวจสอบคุณภาพสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ สุราษฎร์ธานี  สังกัดกองตรวจรับรองมาตรฐานคุณภาพสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ กรมประมง 
        พ.ศ. 2559 มีการปรับโครงสร้างกรมประมง จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์วิจัยและตรวจสอบคุณภาพสินค้าประมงสุราษฎร์ธานี สังกัดกองตรวจสอบคุณภาพสินค้าประมง จนถึงปัจจุบัน