ประวัติ
ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดนครสวรรค์
(สถานีประมงแห่งแรกของประเทศไทย)
๒๕๐๒ สถานีประมง (บึงบอระเพ็ด) จังหวัดนครสวรรค์ สังกัดกองบํารุงพันธุ์สัตว์น้ำ
๒๕๑๒ สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดนครสวรรค์ สังกัดกองบํารุงพันธุ์สัตว์น้ำ
๒๕๑๘ สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดนครสวรรค์ สังกัดกองประมงน้ำจืด
๒๕๓๐ สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดนครสวรรค์ อยู่ในแผนการปรับโครงสร้างโดยยกฐานะขึ้นเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด และมีสถานีประมงน้ำจืดภายใต้สังกัดดังนี้
ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดนครสวรรค์เขต 2 (นครสวรรค์)
- สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพิจิตร
- สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดกำแพงเพชร
- สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดอุทัยธานี
๒๕๓๓ กรมประมงได้แบ่งสวนราชการตามกรอบอัตรากําลัง ๓ ปีจึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น ศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดเขต 2 (นครสวรรค์) และมีสถานีประมงน้ำจืดภายใต้สังกัดดังนี้
ศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดนครสวรรค์เขต 2 (นครสวรรค์)
- สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพิจิตร
- สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดกำแพงเพชร
- สถานีประมงน้ำจ้ืดจังหวัดอุทัยธานี
๒๕๔๕ ได้มีกฎกระทรวงแบ่งสวนราชการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มีการปรับโครงสร้างของกรมประมงเพื่อความสะดวกต่อการปฏิบัติงานและเพิ่มประสิทธิภาพการทํางาน ภายใต้สังกัดสำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด และเปลี่ยนชื่อหน่วยงานเป็น ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเขต 2 (นครสวรรค์) และมีสถานีประมงน้ำจืดภายใต้สังกัดดังนี้
ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดนครสวรรค์เขต 2 (นครสวรรค์)
- สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดกำแพงเพชร
- สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพิจิตร
- สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดอุทัยธานี
***** พ.ศ.2563 มีการปรับโครงสร้างของกรมประมงเพื่อความสะดวกต่อการปฏิบัติงานและเพิ่มประสิทธิภาพการทํางาน ภายใต้สังกัดกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด และเปลี่ยนชื่อหน่วยงานเป็น ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดนครสวรรค์
ประวัติความเป็นมาและการพัฒนา
|
|
ประตูระบายน้ำบึงบอระเพ็ด |
ฝายน้ำล้นบึงบอระเพ็ด |
กระทรวงพระคลังมหาสมบัติในเวลานั้นได้ประกาศกำหนดเขตบึงบอระเพ็ดไว้เป็นที่รักษาพืชพันธุ์ปลาน้ำจืด ในปี พ.ศ. 2471 และพิจารณาแก้ไข ในปี พ.ศ. 2473 โดยกำหนดเนื้อที่ประกาศเป็นเขตหวงห้ามไว้ประมาณ 250,000 ไร่
ต่อมารัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกา ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2480 ถอนการหวงห้ามเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน 132,737 ไร่ 56 ตารางวา โดยมีอาณาเขตติดต่อกัน 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอชุมแสง และอำเภอท่าตะโก
ปี พ.ศ. 2490 กระทรวงเกษตราธิการได้แบ่งเขตรักษาพืชพันธุ์ออกเป็น 2 เขต คือ
เขตที่ 1 เป็นเขตหวงห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมง โดยเด็ดขาด มีเนื้อที่ 38,850 ไร่
เขตที่ 2 เป็นเขตหวงห้ามที่อนุญาตให้ราษฎรทำการประมง โดยใช้เครื่องมือบางชนิดที่กำหนดให้ใช้ได้ มีเนื้อที่ 93,887 ไร่ 56 ตารางวา
บึงบอระเพ็ดตั้งอยู่ ณ. ตำแหน่งภูมิศาสตร์ที่ละติจูด 15 องศา 40 ลิปดา ถึง 15 องศา 45 ลิปดาเหนือ และ ลองจิจูด 100 องศา 10 ลิปดา ถึง 100 องศา 23 ลิปดาตะวันออก มีพื้นที่ประมาณ 132, 737 ไร่ หรือ 212.3792 ตารางกิโลเมตร อยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดนครสวรรค์ รวม 3 อำเภอ คือ อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอชุมแสง และอำเภอท่าตะโก ซึ่งทั้ง 3 อำเภอได้แบ่งเขตที่กลางบึงบอระเพ็ด โดยมีอาณาเขต ดังนี้
ทิศเหนือ ขนานไปกับคลองปลากดในเขต อำเภอชุมแสง ท้องที่ตำบล ทับกฤช มีถนนสายทับกฤช – ท่าตะโก โดยได้แบ่งพื้นที่บึงบอระเพ็ดไปส่วนหนึ่งซึ่งพื้นที่ในด้านนี้จะมีความตื้นเขินมาก และมีราษฎร บุกรุกจับจองมากที่สุด
ทิศตะวันออก จากปากคลองปลากดใน ถึงบ้านแหลมจันทร์ ในเขตอำเภอชุมแสงผ่านบ้านคลองบอน บ้านกระทุ่มเจ้า บ้านปากง่ามเหนือ ในเขตอำเภอท่าตะโก รวมถึงพื้นที่เขาพนมเศษ
ทิศใต้ อยู่ในเขตอำเภอท่าตะโก และอำเภอเมือง ซึ่งจะขนานไปกับถนนสายนครสวรรค์ – ท่าตะโก
ทิศตะวันตก อยู่ในเขตตำบลแควใหญ่ ตำบลเกรียงไกร อำเภอเมือง และ ตำบล ทับกฤช ในเขตอำเภอชุมแสงใช้ทางรถไฟเป็นขอบเขตจากสถานีรถไฟนครสวรรค์ (สถานีหนองปลิงเดิม) ถึงสถานีคลองปลากด
ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง(Flood Plain) ทางด้านเหนือของบึงฯ มีแม่น้ำน่านไหลผ่าน ทางด้านใต้มีลำห้วยเล็กๆ ไหลสู่บึง คือ คลองวังมหากร และคลองขุด ทางด้านตะวันออกของบึงมีพื้นที่น้ำจดเขาพนมเศษ น้ำไหลเข้าทางคลองใยไหม และคลองตะโก น้ำไหลออกจากบึงฯทางคลองบอระเพ็ดผ่านประตูระบายน้ำภายในศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดลงสู่แม่น้ำน่าน และมีฝายกั้นน้ำทางทิศตะวันตกของบึง
บึงบอระเพ็ดตั้งอยู่ในเขตภูมิอากาศร้อนชื้นแบบสะวันนา มีช่วงฤดูฝนและฤดูแล้งชัดเจน ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จึงมีฝนตกชุกในฤดูฝนและได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จึงหนาวเย็นและแห้งแล้งในฤดูหนาว ชึ่งฤดูร้อนมีอากาศร้อนจัด อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี 28.4 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ย 69.6 % ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,081.9 มม./ปี บึงบอระเพ็ดมีพื้นที่รับน้ำประมาณ 2.75 ล้านไร่ หรือ 4,400 ตร.กม. ระดับความลึกเฉลี่ยของน้ำในบึงประมาณ 1.6 เมตร บริเวณที่ลึกที่สุดประมาณ 5 เมตร ระดับน้ำต่ำสุดในเดือนสิงหาคม และสูงสุดในเดือนตุลาคม มีเนื้อที่ผิวน้ำประมาณ 62,500 ไร่ (100 ตร.กม.) ในบึงมีเกาะเล็กๆ อยู่ราว 10 เกาะ เนื้อที่ประมาณ 900 ไร่ (1.44 ตร.กม.) เกิดจากการทับถมรวมตัวของพันธุ์ไม้น้ำ
บึงบอระเพ็ดเป็นระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ ประกอบด้วยพื้นที่น้ำขังซึ่งในฤดูน้ำหลากเป็นบึงน้ำใหญ่ผิวน้ำเปิดโล่ง บริเวณที่มีระดับความลึกของน้ำไม่มากนักมีพืชลอยน้ำเกาะกลุ่มอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะทางตะวันตกเฉียงเหนือ พืชลอยน้ำเกาะกลุ่มใหญ่จนมองดูคล้ายเกาะลอย มีทุ่งบัว มีบริเวณที่เป็นเกาะซึ่งเดิมเป็นเนินดิน เมื่อสร้างประตูน้ำแล้วน้ำท่วมไม่มิด บริเวณที่ลุ่มชื้นแฉะ ป่าพรุและป่าละเมาะริมบึง ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างระบบนิเวศน้ำและบก น้ำท่วมเฉพาะในช่วงน้ำมาก มีพืชยืนน้ำขึ้นอยู่หนาแน่น และโดยรอบบึงเป็นทุ่งนาและทุ่งหญ้า เนื่องจากมีลำน้ำลำห้วยไหลลงสู่บึง พัดพาตะกอนและธาตุอาหารสะสมอยู่ จึงอุดมด้วยพืชและสัตว์นานาชนิด ที่สำคัญคือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนให้กับแม่น้ำเจ้าพระยา และ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยหากินสร้างรังวางไข่ของนกนานาชนิด ทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพย้ายถิ่น
พันธุ์ปลาน้ำจืด
บึงบอระเพ็ดเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ซึ่งเคยสำรวจพบว่า มีพันธุ์ปลามากมายหลายชนิด ประกอบด้วยพันธุ์ปลาน้ำจืด 31 ครอบครัว 148 ชนิด แพลงค์ตอนพืช 44 ชนิด แพลงค์ตอนสัตว์ 22 ชนิด (ปลอดประสพ และคณะ, 2525) ซึ่งเป็นปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาแดง ปลาเค้า และปลาเสือตอ รวมทั้งปลาสวยงามอีกหลายชนิด ปลาที่มีชื่อเสียงที่สุดของบึงบอระเพ็ด คือ ปลาเสือตอเนื่องจากมีราคาสูงมาก เดิมเป็นปลาที่คนนิยมบริโภคเพราะว่าเนื้อปลาชนิดนี้มีรสดี เป็นที่เลื่องลือกันว่าถ้าใครมาจังหวัดนครสวรรค์ แล้วไม่ได้บริโภคปลาเสือตอถือว่ายังมาไม่ถึงจังหวัดนครสวรรค์ แต่ในปัจจุบันนี้ปลาเสือตอกลายเป็นปลาสวยงามที่เลี้ยงดูเล่น ไม่สามารถนำมาบริโภคได้ เพราะว่าเป็นปลาที่หายาก และมีราคาแพงมาก ราคาปลาเสือตอเมื่อประมาณ 15 ปี มาแล้วราคากิโลกรัมละ 300 บาท และปัจจุบันปลาเสือตอที่มีน้ำหนักประมาณ ครึ่งกิโลกรัมมีราคาซื้อขายในประเทศประมาณ 2-3 หมื่นบาท
ปัจจุบันนี้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมในบึงเสื่อมสภาพลง เช่นมีวัชพืชมากมาย บางส่วนของวัชพืชเน่าตาย และจมลง ทำให้บึงบอระเพ็ดตื้นเขิน ทำให้เสียสภาพเหมาะสมแก่สัตว์น้ำ จึงทำให้พันธุ์ปลาน้ำจืดมีจำนวนลดลงทั้งชนิดและปริมาณ โดยพบเพียง 13 ครอบครัว 30 ชนิด แพลงค์ตอนพืช 19 ชนิด และแพลงค์ตอนสัตว์ 9 ชนิด (สุอินทร์และกาญจนรี, 2538) จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาบึงบอระเพ็ดให้มีสภาพที่เหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง
|
|
ปลาเสือตอ |
พันธุ์ไม้น้ำ
บึงบอระเพ็ดเป็นแหล่งที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชน้ำนานาชนิด มีรายงานการพบพันธุ์ไม้น้ำในช่วงปี 2522 – 2537 อย่างน้อย 32 ชนิด ถึงมากกว่า 73 ชนิด จำแนกได้เป็น 6 บริเวณ คือ บริเวณผืนน้ำเปิดโล่ง มีพืชใต้น้ำและพืชปริ่มน้ำ กระจายอยู่ในน้ำลึกรอบๆ บริเวณที่มีบัว พบประมาณร้อยละ 10-15 ของพื้นที่น้ำ ชนิดเด่น ได้แก่ ดีปลีน้ำ, สาหร่ายไฟ , สาหร่ายข้าวเหนียว, สาหร่ายหางกระรอก, สาหร่ายฉัตร, สาหร่ายเส้นด้าย, สาหร่ายพุงชะโด และสันตะวา บริเวณพืชลอยน้ำ มีทั้งที่มีใบลอยน้ำ กระจายเป็นหย่อมๆ ประมาณร้อยละ 20 ของพื้นที่น้ำ และลอยน้ำทั้งต้น ชนิดเด่น ได้แก่ จอกหูหนู, ผักตบชวา, แหน, แหนแดง, แพงพวยน้ำ, กระจับ, ผักบุ้ง บริเวณพืชโผล่พ้นน้ำหรือพืชยืนน้ำ แพร่กระจายอยูทั่วไป จากฝั่งลงไปในบึงประมาณ 0.5-1 กม. รอบๆ บึง และกระจายเป็นหย่อมๆ ประมาณร้อยละ 40 ของพื้นที่น้ำ พืชเด่น ได้แก่ กกสามเหลี่ยมเล็ก, ธูปฤาษี, เอื้องเพ็ดม้า, บัวหลวง, บัวสายหรือบัวแดง, บัวกินสาย, หญ้าแพรกน้ำ, เทียนนา, แห้วทรงกระเทียม บริเวณเกาะ กลางบึงและใกล้ฝั่ง ซึ่งน้ำอาจท่วมในฤดูที่น้ำมาก และไม่ท่วมในฤดูน้ำปกติ พืชเด่น ได้แก่ ลำเจียก, อ้อ, หญ้าไซ, หญ้าขน, หญ้าแขม, หญ้าปล้อง, หญ้าข้าวนก บริเวณป่าพรุ ริมบึง น้ำท่วมบางฤดู พืชเด่น ได้แก่ สนุ่น, จิกนา, ก้านเหลือง, ทองกวาว บริเวณทุ่งนา ปลูกข้าว บางฤดูปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง มีไม้พุ่มขนาดเล็กขึ้นอยู่ริมบึงเป็นหย่อมๆ
![]() |
![]() |
![]() |
บัวแดง | บัวหลวง | บัวหลวง |
จระเข้
เมื่ออดีต จระเข้เป็นสัตว์ที่ชุกชุมมากในบึงบอระเพ็ด และจระเข้พันธุ์บึงบอระเพ็ด เป็นจระเข้ที่มีราคาแพง เพราะมีหนังสีเหลืองสวย ในบึงบอระเพ็ดมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะแก่การอาศัยของจระเข้ เพราะจระเข้เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ จระเข้ที่มีอายุเกิน 7 ปี สามารถผสมพันธุ์กันได้ จะผสมพันธุ์ในน้ำมักจะเป็นช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธุ์ ในฤดูกาลผสมพันธุ์ตัวผู้จะครางและส่งเสียงร้องได้ยินไปไกล เพื่อเป็นสัญญาณเรียกตัวเมีย หลังจากจับคู่ผสมพันธุ์กันแล้ว จระเข้จะวางไข่ในราวเดือน มีนาคม ถึงเมษายน จระเข้สร้างรังวางไข่โดยใช้หางกวาดใบไม้หญ้ามาคลุมรังไข่ จระเข้จะวางไข่ครั้งละ 20 – 40 ฟอง และจะฟักเป็นตัวโดยใช้เวลา 65-80 วัน แต่เป็นที่เสียดายว่าจระเข้ในบึงบอระเพ็ดได้ถูกจับไปหมดแล้ว แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ ทางราชการจะได้นำจระเข้มาปล่อยในบึงอีกครั้งหนึ่ง
|
![]() |
![]() |
จระเข้ |
นก
บึงบอระเพ็ดมีนกจำนวนมากอาศัยอยู่มากมายหลายชนิด จากฐานข้อมูลของศูนย์ชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ ยืนยันการพบนก 182 ชนิด และปี 2541 มีบัญชีรายชื่อนกที่พบในบึงบอระเพ็ด 187 ชนิด บึงบอระเพ็ดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญอยู่ในเส้นทางอพยพของนกซึ่งหนีความหนาวเย็นในฤดูหนาวมาจากทางตอนเหนือของโลก ทุกฤดูหนาวพบ นกนางแอ่นบ้าน จำนวนมากอพยพมาอาศัยอยู่รอบบึง นกแอ่นทุ่งใหญ่ จำนวนมากตามทุ่งโล่งหรือทุ่งหญ้าใกล้น้ำ และสร้างรังวางไข่บนพื้นดินที่เป็นโคลนแห้งหลังน้ำลด บึงนี้เป็นแหล่งน้ำในภาคกลางที่มีรายงานว่าพบนกเป็ดน้ำอพยพจำนวนมากที่สุด นกน้ำอื่นๆที่พบ ได้แก่ เป็ดหอม, เป็ดดำหัวดำ, เป็ดปากสั้น, เป็ดปีกเขียว, เป็ดปากพลั่ว, เป็ดดำหัวสีน้ำตาล, เป็ดเปีย, เป็ดหงส์, เป็ดคับแค และพบนกคู้ทในฤดูหนาว นกอื่นๆ ที่พบมากในหน้าหนาวเช่นกัน ได้แก่ นกยางชนิดต่างๆ, นกกระสานวล, นกกระสาแดง, นกปากห่าง, เหยี่ยวทุ่ง, เหยี่ยวด่างดำขาว, บางครั้งพบนกอินทรีปีกลายด้วย เคยมีรายงานว่าพบเหยี่ยวปลาหางขาว บริเวณริมบึงมีนกเด้าลม และนกกระจาบอาศัยอยู่จำนวนมาก รวมทั้งนกกระจาบปีกอ่อนอกเหลือง, นกจาบสีทอง, นกนางแอ่นบ้าน, ในฤดูผสมพันธุ์มีนกยางไฟหัวดำ และนกยางไฟธรรมดาจำนวนมาก รวมทั้งนกกระสาแดง, เป็ดแดง, นกอัญชันคิ้วขาว, นกอีโก้ง, นกอีแจว ส่วนนกขนาดใหญ่เช่นนกกระทุง, นกตะกราม, มีรายงานว่าพบบินผ่านเป็นครั้งคราว สำหรับนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร ที่เป็นชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่นของไทย บึงบอระเพ็ดเป็นแหล่งเดียวของโลกที่พบนกชนิดนี้ มีรายการพบเห็นเมื่อปี พ.ศ. 2511 ปัจจุบันไม่มีรายงานการค้นพบมานานแล้วนับว่าบึงบอระเพ็ดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำหนึ่งซึ่งจัดว่าเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับนกในเมืองไทย โดยเป็นแหล่งที่มีนกน้ำชุมนุมรวมกันอยู่มากกว่า 20,000 ตัว และเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของนกที่อยู่ในสถานภาพถูกคุกคามของโลก อย่างน้อย 5 ชนิด ได้แก่ นกตะกราม, นกกระทุง, เป็ดดำหัวดำ, นกอินทรีปีกลาย, นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร นอกจากนั้นยังเป็นถิ่นที่อยู่ของนกที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งของไทย ได้แก่ นกอ้ายงั่ว, นกนางนวล, นกกระสาแดง, นกกาบบัว, นกช้อนหอยขาว, เป็ดหงส์, เหยี่ยวดำ และนกที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์อีกหลายชนิด
สัตว์อีกชนิดหนึ่งที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง คือ จระเข้น้ำจืด ซึ่งเมื่อก่อนมีจำนวนมากแต่ถูกล่าจนไม่มีเหลืออยู่ในธรรมชาติของบึงแล้ว สัตว์เลื้อยคลานอื่นๆ ที่พบ ได้แก่ งูสายรุ้งดำ ซึ่งเป็นสัตว์เฉพาะถิ่น เต่านา เต่าบึงหัวเหลือง ตะพาบน้ำ งูก้นขบ งูเหลือม งูสามเหลี่ยม เหี้ย สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่พบได้แก่ เขียดนา เขียดบัว กบนา อึ่งอ่างบ้าน อึ่งน้ำเต้า เขียด งู ส่วนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมพบ 3 ชนิด คือ ลิงแสม, กระรอกปลายหางดำ, หนูพุกใหญ่
สำหรับการทำการประมงในบึงบอระเพ็ดนั้น มีทั้งทำการประมงเพื่อดำรงชีพและเพื่อการค้า ดังนั้นเครื่องมือที่ชาวประมงนิยมใช้ทำการประมงจึงมีความหลากหลาย ตั้งแต่ การใช้ข่ายขนาดตา 4.5-12 เซนติเมตร ลอบขนาดช่องตา 0.5-1.5 เซนติเมตร ซึ่งมีทั้งลอบนอนและลอบยืน ลอบโง่ เบ็ดราว เบ็ดคัน ไซ ยอยก อีจู้ แห ฉมวก สวิง ปืน ดำจับ และเครื่องช็อตไฟฟ้า ในส่วนของสัตว์น้ำที่จับขึ้นมาได้นั้น บางส่วนนำไปขายในตลาดโดยตรง บางส่วนมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อภายในหมู่บ้าน และบางส่วนนำขึ้นมายังท่าขึ้นปลาที่อยู่รอบบึงบอระเพ็ด
บริเวณรอบบึงบอระเพ็ดมีท่าขึ้นปลาจำนวนทั้ง 9 แห่ง ได้แก่
1. ท่าปลาปากคลองบึงบอระเพ็ด (ปัจจุบันตื้นเขินไม่สามารถขึ้นปลาได้)
2. ท่าปลาหนองดุก (ปัจจุบันตื้นเขินไม่สามารถขึ้นปลาได้)
3. ท่าปลาดินแดง
4. ท่าปลาทับกฤช
5. ท่าปลาอุทยานนกน้ำ
6. ท่าปลาเขาพนมเศษ
7. ท่าปลารางบัว
8. ท่าปลาคลองขุด
9. ท่าปลาปลวกสูง
ชนิดสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมงในบึงบอระเพ็ด ได้แก่ กุ้งก้ามกราม ปลาสวาย ปลากด ปลากาดำ ปลาเค้า ปลาเนื้ออ่อน ปลาช่อน ปลานิล ปลากราย ปลาสร้อย ปลาตะเพียน ปลายี่สก ปลาแขยง ปลากระทิง ปลานวลจันทร์ ปลาบู่ ปลากระสูบ ปลาแดง ปลาดุก ปลาแรด ปลาสลิด ปลาชะโด ปลาตะโกก และปลาไหล
ในส่วนของเรือหาปลารอบบึงบอระเพ็ด พบว่ามี เรื่อตะเฆ่ 70 ลำ เรื่อหัวดาบ 200 ลำ และเรือพาย 26 ลำ มีชาวประมงทำการประมงเป็นอาชีพหลักและชาวประมงทำการประมงเป็นอาชีพเสริมประมาณ 5,100 คน โดยปกติจะมีชาวประมงทำการประมงวันละ 76 ราย จับปลาได้วันละ 24.75 ก.ก./ราย รายได้วันละ 428.90 บาท ทำการประมงเฉลี่ยเดือนละ 25 วัน โดยใช้ข่ายขนาดช่องตา 4.5 – 12 ซม. โดยสรุปมีรายได้เฉลี่ยจากการประมง 11,460 บาท/ครัวเรือน/ปี
ผลประโยชน์ด้านอื่นๆ
ด้านเศรษฐกิจ
บึงบอระเพ็ด เป็นแหล่งน้ำ แหล่งเพาะปลูกพืชน้ำ แหล่งน้ำสำหรับสัตว์เลี้ยง มีประโยชน์ต่อการคมนาคม และมีคุณค่าทางนันทนาการและการท่องเที่ยว แต่ที่สำคัญที่สุด คือ เป็นแหล่งผลิตทรัพยากรประมงที่สำคัญแหล่งหนึ่งของประเทศ นำรายได้มาสู่ประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบบึงที่ประกอบอาชีพการประมงตลอดมา คาดประมาณว่ามีปริมาณการจับปลาโดยเฉลี่ย 1,200-1,500 ตัน/ปี และมีปลาเลี้ยงจากบ่อและกระชังอีกประมาณ 2,000 ตัน/ปี ช่วงปี 2513-19 การสำรวจทางชีวประมงพบว่าบึงบอระเพ็ดมีผลผลิตประมง 15-22 กก/ไร่ ใกล้เคียงกับปี 2531 ปลาที่จับได้จากบึงบอระเพ็ดมีปริมาณเฉลี่ย 15.10 กก/ไร่ ปี 2535 ปริมาณประชากรปลา 3.47-13.98 กก/ไร่ ปลาที่มีชื่อเสียงที่สุดของบึง คือ ปลาเสือตอ มีราคาสูงมาก เดิมเป็นปลาที่คนนิยมบริโภค เพราะเนื้อปลามีรสดีขึ้นชื่อ ปัจจุบันเป็นปลาสวยงามเลี้ยงไว้ดูเล่น ไม่บริโภค เพราะหาได้ยาก ราคาแพงมาก
ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ในบึงบอระเพ็ด ปี 2536 – 2543
ปี |
ปริมาณการจับ (กิโลกรัม) |
มูลค่าการจับ (บาท) |
2536 |
36,911 |
922,775 |
2537 |
243,364 |
6,084,100 |
2538 |
162,321 |
4,058,025 |
2539 |
386,882 |
9,672,050 |
2540 |
606,362 |
15,159,050 |
2541 |
613,571 |
15,339,275 |
2542 |
605,536 |
15,138,400 |
2543 |
609,500 |
15,237,500 |
รวม |
3,264,447 |
81,611,175 |
ด้านสังคมและวัฒนธรรม
พื้นที่บึงบอระเพ็ด แต่เดิมเรียกว่า ป่าบึงบอระเพ็ด เป็นป่าที่เต็มไปด้วยหนองน้ำนับพันแห่ง มีปลาและจระเข้มากมาย บนบกมีป่าดงดิบ ป่าโปร่ง ทุ่งป่าแฝก ว่ากันว่ามีควายป่าที่เรียกว่า มหิงสา จำนวนมาก รวมทั้งเสือและละมั่งด้วย เนื่องจากเป็นป่ารก ไม่มีชุมชนตั้งถิ่นฐาน พวกโจรผู้ร้ายเมื่อปล้นตลาดปากน้ำโพแล้ว มักหนีเข้าหลบซ่อนตัวในบริเวณนี้ ปัจจุบันเป็นแหล่งน้ำและแหล่งประมงที่สำคัญสำหรับชุมชนท้องถิ่น และเป็นแหล่งวิทยาการเกี่ยวกับวิวัฒนาการของการทำการประมงพื้นบ้านซึ่งสืบทอดกันมาเป็นวิถีชีวิตหลายชั่วคน
ด้านสันทนาการ
บึงบอระเพ็ดมีธรรมชาติที่สวยงาม และความหลากหลายทางทรัพยากรชีวภาพที่โดดเด่นเป็นที่ดึงดูดความสนใจของสาธารณชน และนักท่องเที่ยว ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทั้งที่อยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดอื่นๆ ภายในประเทศ รวมทั้งชาวต่างประเทศก็นิยมมาท่องเที่ยวและชมนกซึ่งมีหลากชนิด โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวซึ่งมีนกอพยพย้ายถิ่นมา มีผู้เดินทางมาเยี่ยมเยือนบึงบอระเพ็ดเป็นจำนวนมาก
ด้านวิชาการ
บึงบอระเพ็ดเป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์ปลาน้ำจืดที่ใหญ่ และอุดมสมบูรณ์ในภาคกลางของประเทศ จึงจัดได้ว่าเป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้าวิจัยที่สำคัญ ซึ่งผลจากงานวิจัยที่ได้ ทำให้ทราบถึงชนิดและปริมาณของประชากรปลา, ชนิดและปริมาณของแพลงค์ตอนและสัตว์หน้าดิน, ชนิดและการแพร่กระจายของพันธุ์ไม้น้ำ, อุปนิสัยการกินอาหารของปลาที่สำคัญทางเศรษฐกิจ, ภาวะเศรษฐกิจและสังคมของชาวประมงในบึงบอระเพ็ด ตลอดจนปัญหาที่พบในบึงบอระเพ็ด เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงบึงบอระเพ็ดให้มีพันธุ์ปลาหลายชนิดชุกชุม เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอแก่ความต้องการในการทำการประมง และการบริโภคของประชาชน และป้องกันมิให้สัตว์น้ำทุกชนิดที่อาศัยในบึงบอระเพ็ดมีปริมาณลดน้อยลงมาก จนกระทั่งสูญพันธุ์ไปในที่สุด
งานวิจัยค้นคว้าที่เกี่ยวข้องกับบึงบอระเพ็ด
ปี | เรื่อง | ผู้ดำเนินการ |
2502 | แสดงภาพปลาน้ำจืดชนิดต่างๆ แทบทุกชนิดที่ปรากฏพบในบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ | หลวงมัศยา จิตรการ และโชติ สุวัตถิ |
2512 | ปริมาณปลาในบึงบอระเพ็ด | สุจิต ภิญโญยิ่ง |
2512 | การประมงบึงบอระเพ็ด | เข็มชาติ นิ่มสมบูรณ์ |
2513 | การสำรวจชีวประมงในบึงบอระเพ็ด | เข็มชาติ นิ่มสมบูรณ ์และ สุชิน ทองมี |
2513 |
การศึกษานิสัยการกินอาหารของปลาชนิดที่สำคัญในบึงบอระเพ็ดโดยพิจารณาจากส่วนประกอบของอาหารที่พบในกระเพาะและตอนต้นของลำไส้ |
คำรณ โพธิพิทักษ์ |
2513 | การศึกษาชีวประวัติปลาเสือตอ | สุจิต ภิญโญยิ่ง |
2514 | การสำรวจชนิดและปริมาณปลาที่จับขึ้นมาจากบึงบอระเพ็ด | เข็มชาติ นิ่มสมบูรณ์ |
2515 | การสำรวจชนิดและปริมาณปลาที่จับขึ้นมาจากบึงบอระเพ็ดที่ท่าขึ้นปลาท่าดินแดง หนองดุก ทับกฤช และเขาพนมเศษ | เข็มชาติ นิ่มสมบูรณ์ |
2515 | การศึกษาที่อยู่อาศัยและการแพร่กระจายของปลา | เข็มชาติ นิ่มสมบูรณ์ |
2515 | พันธุ์ไม้น้ำและแผนที่พันธุ์ไม้น้ำในบึงบอระเพ็ด | สุชิน ทองมี และ สืบพงษ์ ฉัตรมาลัย |
2515 | การศึกษาขนาดและการเปลี่ยนแปลงของประชากรปลาในบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ในระยะที่มีการระบายน้ำและเปิดจับปลาโดยเสรี โดยการติดเครื่องหมาย | ปลอดประสพ สุรัสวดี และ คณะ |
2515 | การศึกษาชีวประวัติปลาเสือตอ | สุชิน ทองมี |
2515 | นิเวศน์วิทยาของสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ที่รากผักตบชวาในบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ | สันทนา สังขกุล |
2516 | การสำรวจชนิดและปริมาณปลาในบึงบอระเพ็ด | วิเชียร เปล่งฉวี |
2516 | Limmological studies in Bung Boraped | June, W.G. |
2518 | ชนิดของแมลงที่กัดกินวัชพืชน้ำในบึงบอระเพ็ด | วิชัย ก้องรัตนโกศล และ ปราโมทย์ สุวรรณศาสตร์ |
2518 | การศึกษาความดกของไข่ปลาเสือตอในบึงบอระเพ็ด | ปราโมทย์ สุวรรณศาสตร์ |
2519 | การศึกษาถึงชีวประวัติของแมลงใน Order Lepidoptera ที่กัดกินวัชพืชน้ำในบึงบอระเพ็ด | ปราโมทย์ สุวรรณศาสตร ์และ วิชัย ก้องรัตนโกศล |
1976 | Newly covered Grass As a Habitat for fish in Bung Boraped, Thailand | Suraswadi, P. |
2519 | การทดลองทำปุ๋ยหมักด้วยวัชพืชน้ำในบึงบอระเพ็ด |
พิมพร บุญญกาศ วิรุณ บุญมั่น และ วิเชียร เปล่งฉวี |
2519 | การสำรวจปริมาณปลาที่จับขึ้นจากบึงบอระเพ็ด(2519) | ไพศาล ต้นโพธิ์ วิรุณ บุญมั่น และ วิเชียร เปล่งฉวี |
2519 | ชีวประวัติของปลาแดง | วิเชียร เปล่งฉวี วิรุณ บุญมั่น และ วิชัย ก้องรัตนโกศล |
2523 | การศึกษาชนิดและลักษณะทางอนุกรมวิธานของพรรณไม้น้ำในบริเวณบึงบอระเพ็ด และอาณาเขตข้างเคียงจังหวัดนครสวรรค์ | จีรวรรณ รัตนทวี |
2525 | การศึกษาชนิดและปริมาณสัตว์น้ำที่จับขึ้นจากบึงบอระเพ็ด | จิตต์ เพชรเจริญ และ เดโช อินชนะ |
2525 | ผลการสำรวจทางชลชีววิทยาและการประมงในบึงบอระเพ็ด | ปลอดประสพ สุรัสวดีและคณะ |
2525 | การสำรวจชนิดและปริมาณปลาในบึงบอระเพ็ด | จิตต์ เพชรเจริญ |
2526 | การศึกษาชนิด ปริมาณของแพลงค์ตอน และคุณสมบัติของน้ำในบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ | วราภรณ์ พรหมพจน์ |
2528 | การศึกษาพันธุ์ไม้น้ำในบึงบอระเพ็ด | บุญยืน โชคคีรีและยงยุทธ ทักษิณ |
2535 | ศึกษาอุปนิสัยการกินอาหารและสัดส่วนความสัมพันธ์ระหว่างความยาวและน้ำหนักของปลา ที่มีความสัมพันธุ์ทางเศรษฐกิจในบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ | สุวีณา บานเย็น เพียงใจ แก้วจรูญ และ ฐาปกรณ์ ลิ่มบรรจง |
2535 | การสำรวจชีวประมงในบึงบอระเพ็ด ระยะหลังการลดน้ำเพื่อการปรับปรุง | ชนินทร ศรีทองสุข และ คณะ |
2535 | การสำรวจชีวประมงในบึงบอระเพ็ด ระหว่างกักเก็บน้ำ | ชนินทร ศรีทองสุข และคณะ |
2536 | การศึกษาผลผลิตทางการประมงในบึงบอระเพ็ด | สุอินทร์ ฤทธิ์จรุง |
2537 | การสำรวจประชากรปลาในบึงบอระเพ็ด | สุอินทร์ ฤทธิ์จรุง |
2537 | การเปรียบเทียบชนิดและปริมาณสัตว์น้ำที่อาศัยในกร่ำและนอกกร่ำในบึงบอระเพ็ด | สุอินทร์ ฤทธิ์จรุง |
2538 | การสำรวจทางชลชีววิทยาบางประการและ ทรัพยากรประมงในบึงบอระเพ็ด หลังการบูรณะปรับปรุง | สุอินทร์ ฤทธิ์จรุง และ กาญจนรี พงษ์ฉวี |
2539 | ประเมินผลการปล่อยกุ้งก้ามกรามในบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ | สุอินทร์ ฤทธิ์จรุง และ บุญส่ง ศรีเจริญธรรม |
2540 | ฤดูวางไข่ของปลาเศรษฐกิจบางชนิดในบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ | สุอินทร์ ฤทธิ์จรุง และ คณะ*** |
2541 | การสำรวจชนิดและปริมาณปลาในบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ | สุอินทร์ ฤทธิ์จรุง และ คณะ*** |
2541 | ชีววิทยาบางประการของปลากระสูบขีดในบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ | ประภาส สุตันติราษฎร์*** |
2543 | ชีววิทยาบางประการของปลาไส้ตันตาแดงในบึงบอระเพ็ด จังหวัด นครสวรรค์ | ประภาส สุตันติราษฎร์** |
หมายเหตุ : | ** กำลังดำเนินการทดลอง |
*** ยังไม่ได้ตีพิมพ์ |