สำนักงานประมงจังหวัดราชบุรี
วันจันทร์ที่ 19 เมษายน 2561 เวลา 17.30 น. นางสาวรัดเกล้า เรืองขนาบ นักวิชาการประมงชำนาญการ นายพิเชษฐ ไทยประเสริฐ เจ้าหน้าที่สำนักงานประมงจังหวัดราชบุรี นางสาวสุรังษี ทัพพะรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดราชบุรี เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดราชบุรี และนายหฤษฎิ์ อ่อนสว่าง เลขานายกองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำพุ ลงพื้นที่บริเวณห้วยน้ำพุ และบ่อปลาของชาวบ้าน หมู่ที่ 1 ตำบลน้ำพุ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ที่ได้รับแจ้งว่าพบสัตว์น้ำตาย ผลการปฏิบัติงาน ทั้ง 2 แห่ง ไม่พบสัตว์น้ำชนิดใดตาย คุณภาพน้ำเบื้องต้นของลำห้วย แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ลักษณะเหมือนฝายน้ำล้น เป็นน้ำนิ่ง น้ำมีกลิ่นเหม็นเหมือนสารเคมี บริเวณด้านบนของลำห้วยจะมีปริมาณน้ำมากกว่า สีน้ำจะมีสีขาวขุ่น มีฝ้าบริเวณผิวหน้าน้ำ ปริมาณออกซิเจนละลาย (DO) 0.79 มิลลิกรัม/ลิตร ที่อุณหภูมิ 33.4 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณด้านล่างของลำห้วยมีปริมาณน้ำน้อย ตื้นเขิน สีน้ำใส มองเห็นพื้นน้ำซึ่งมีใบไม้ตกสะสมอยู่ปริมาณหนึ่ง บริเวณผิวหน้าน้ำมีขี้แดดปกคลุมเป็นบางส่วน ปริมาณออกซิเจนละลาย (DO) 3.67 มิลลิกรัม/ลิตร ที่อุณหภูมิ 29 องศาเซลเซียส ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ของทั้ง 2 บริเวณ ไม่มีความแตกต่าง มีค่า 7.43 พร้อมกันนี้ได้เก็บน้ำทั้ง 2 บริเวณ และบ่อปลาของชาวบ้าน ให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดราชบุรี นำกลับไปตรวจในห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะรายงานผลให้ทราบต่อไป
ทั้งนี้จากการสอบถามชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลน้ำพุ ได้แจ้งให้ทราบว่าแหล่งน้ำนี้อยู่ใกล้กับโรงงานรับกำจัดขยะมีพิษ และจากการตรวจสอบคุณภาพน้ำของกรมควบคุมมลพิษ พบมีสารพิษ และโลหะหนักหลายชนิดสะสมในแหล่งน้ำ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2561 มีการเก็บตัวอย่างปลา (ปลาช่อน ปลาสลาด) ทั้งในบ่อของชาวบ้านและลำห้วยส่งตรวจ ณ ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเทคโนธานี ตำบลคลอง 5 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี