กลุ่มช่วยเหลือเกษตรกรและชาวประมง
เรื่อง “การแจ้งเตือนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในการเฝ้าระวังโรคสัตว์น้ำช่วงฤดูแล้ง”
จัดเตรียมข้อมูลโดยกองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ กรมประมง
เนื่องจากในช่วงฤดูแล้งอุณหภูมิของอากาศและน้ำเพิ่มสูงขึ้น ปริมาณน้ำในบ่อเลี้ยงสัตว์และแหล่งน้ำต่างๆ ลดน้อยลง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพสัตว์น้ำเนื่องจากสัตว์น้ำจัดเป็นกลุ่มสัตว์เลือดเย็นอุณหภูมิของร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงตามอุณหภูมิของสภาพแวดล้อม โดยอุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลให้ปลาว่ายน้ำมากกว่าปกติ การทำงานของระบบย่อยอาหารเพิ่มขึ้น และมีการหายใจเร็วขึ้น ทำให้สัตว์น้ำมีความต้องการออกซิเจนในการหายใจเพิ่มมากขึ้น แต่ด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนในแหล่งน้ำมีปริมาณน้อยลง ร่วมกับปริมาณน้ำที่ลดน้อยลงความหนาแน่นในการเลี้ยงสัตว์น้ำและปริมาณของเสียที่เป็นพิษต่อสัตว์น้ำสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้สัตว์น้ำเกิดความเครียด อ่อนแอ และทำให้มีโอกาสติดเชื้อโรคได้ง่าย โดยเฉพาะการเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังในแหล่งน้ำธรรมชาติ
โรคสัตว์น้ำที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เนื่องจากในช่วงฤดูแล้งสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตและเพิ่มจำนวนของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคในสัตว์น้ำหลายชนิด หากสัตว์น้ำมีสุขภาพไม่แข็งแรงอาจทำให้ติดเชื้อและเกิดโรคสัตว์น้ำได้ โดยโรคสัตว์น้ำที่ควรเฝ้าระวังในช่วงฤดูแล้ง ได้แก่
1. โรคที่เกิดจากปรสิต ได้แก่ เห็บระฆัง ปลิงใส เห็บปลา หมัดปลา เป็นต้น สัตว์น้ำที่เป็นโรคที่เกิดจากปรสิตจะมีลักษณะอาการว่ายน้ำผิดปกติ ว่ายน้ำถูตามข้างบ่อ ลอยตัวที่ผิวน้ำ หายใจถี่เร็วกว่าปกติ กินอาหารน้อยลง ผอม ขับเมือกมาก มีจุดแดงหรือมีแผลถลอกตามผิวลำตัว โดยโรคจากปรสิตสามารถควบคุมได้ โดยการตัดวงจรชีวิตของปรสิต (รักษาความสะอาด กำจัดตะกอน เศษอาหาร) ควบคู่กับการควบคุมคุณภาพน้ำ และการใช้สารเคมี (ขึ้นอยู่กับชนิดและลักษณะการก่อให้เกิดโรคของปรสิต)
2. โรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคตัวด่าง โรคแผลตามลำตัว โรคสเตรปโตคอคคัส เป็นต้น ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่มแบคทีเรียฉวยโอกาส ที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำทั่วไป โดยจะเข้าทำอันตรายต่อสัตว์น้ำเมื่อสัตว์น้ำอ่อนแอ
2.1 โรคตัวด่าง มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย Flavobacteriumcolumnareลักษณะอาการที่พบคือ ผิวหนังบวมแดง แผลด่างตามลำตัวและเหลือก มักเกิดกับปลาในช่วงย้ายบ่อ ระหว่างการลำเลียง หรือการขนส่งปลา และช่วงที่อุณหภูมิในรอบวันมีการเปลี่ยนแปลงมาก ถ้าเกิดปลาขนาดเล็กอาจตายภายใน 1 – 2 วัน แนวทางการป้องกันรักษา คือ ปรับปรุงคุณภาพให้เหมาะสม ลดปริมาณสารอินทรีย์ ภายในบ่อเลี้ยง ลดความเครียดระหว่างการขนส่งโดยใช้เกลือแกง 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1 ตัน (0.1 เปอร์เซ็นต์) และการรักษาใช้ด่างทับทิม 1 – 3 กรัมต่อน้ำ 1 ตัน แช่นาน 24 ชั่วโมง หรือฟอร์มาลีน 40 – 50 มิลลิเมตร ต่อน้ำ 1 ตัน แช่นาน 24 ชั่วโมง หรือใช้ยาต้านจุลชีพตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
2.2 โรคแผลตามลำตัว มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย Aeromonassp. หรือ Pseudomonas sp. ลักษณะอาการที่พบ คือ ตกเลือดบริเวณลำตัว/ครีบ ผิวตัวเปื่อย ครีบกร่อน เกล็ดตั้ง ท้องบวม มักพบในบ่อที่มีการจัดการเลี้ยงที่ไม่เหมาะสม เลี้ยงสัตว์น้ำที่ความหนาแน่นสูง แนวทางป้องกันรักษา คือ จัดการการเลี้ยงให้เหมาะสม ลดอัตราความหนาแน่นสัตว์น้ำ หรือใช้ยาต้านจุลชีพในการรักษาตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
2.3 โรคสเตรปโตคอคคัส มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus agalactiaeลักษณะอาการที่พบ คือ ว่ายน้ำควงสว่าน ตาโปน ตาขุ่น ตกเลือดตามลำตัว หากไม่ได้รับการรักษาจะมีอัตราการตาย
50 – 100 เปอร์เซ็นต์ โรคดังกล่าวจะมีความรุนแรงในช่วงฤดูร้อนโดยเฉพาะในปลานิล เกิดกับปลาได้ทุกขนาด แนวทางในการป้องกันรักษา คือ จัดการการเลี้ยงให้เหมาะสม หรือใช้ยาต้านจุลชีพในการรักษาตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
ข้อควรปฏิบัติในการเลี้ยงสัตว์น้ำช่วงฤดูแล้ง มีดังนี้
1. ควรปรับลดปริมาณการผลิต หรืองดเว้นการเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยทำการตากบ่อหรือเตรียมพื้นที่เลี้ยงในช่วงฤดูแล้งแทน เพี่อเตรียมไว้เลี้ยงสัตว์น้ำในรอบต่อไป
2. วางแผนการเลี้ยงและการจับสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และฤดูกาล
3. หากจำเป็นต้องเลี้ยงสัตว์น้ำควรเลือกพันธุ์สัตว์น้ำที่มีความแข็งแรง จากผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐานและเชื่อถือได้
4. มีการจัดการระหว่างการเลี้ยงให้เหมาะสม เช่น ปล่อยสัตว์น้ำในอัตราความหนาแน่นน้อยกว่าปกติปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่เพื่อลดระยะเวลาการเลี้ยง ลดปริมาณอาหารโดยเฉพาะกรณีให้อาหารสดเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย มีการตรวจคุณภาพน้ำอย่างสม่ำเสมอ และเตรียมแหล่งเก็บน้ำสำรองไว้สำหรับการเปลี่ยนถ่ายน้ำ เป็นต้น
5. ควรงดเว้นการเคลื่อนย้ายสัตว์น้ำ หากมีความจำเป็นต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะมีผลกระทบโดยตรงกับการกินอาหารและสุขภาพสัตว์น้ำ
6. กรณีเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง ควรเลือกแหล่งน้ำที่ตั้งกระชังที่มีระดับความลึกเพียงพอ เมื่อตั้งกระชังแล้วพื้นกระชังควรสูงจากพื้นน้ำไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร เพื่อให้น้ำมีการหมุนเวียนถ่ายเทได้สะดวก และควรทำความสะอาดกระชังสม่ำเสมอ เพื่อจำกัดตะกอนและเศษอาหาร ซึ่งเป็นการตัดวงจรชีวิตปรสิตและเชื้อโรคและช่วยให้กระแสน้ำไหลผ่านกระชังได้ดี
7. ควรหมั่นตรวจสุขภาพสัตว์น้ำอย่างสม่ำเสมอ กรณีสัตว์น้ำป่วยตายควรกำจัดโดยการฝังหรือเผา
ไม่ควรทิ้งสัตว์น้ำป่วยไว้ในบริเวณบ่อหรือกระชังที่เลี้ยง เพราะจะเป็นการแพร่กระจายเชื้อโรคทำให้การระบาดของโรคเป็นไปอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตามเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมต่างๆ ของสัตว์น้ำ เช่น การกินอาหาร การว่ายน้ำ ลักษณะอาการภายนอก เพื่อเฝ้าระวังสุขภาพของสัตว์น้ำที่เลี้ยงอยู่เสมอ หากพบความผิดปกติให้รีบหาสาเหตุและแก้ไขโดยทันที หากไม่ทราบสาเหตุหรือไม่สามารถวินิจฉัยโรคด้วยตนเองให้ปรึกษาผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีประสบการณ์ด้านโรคและการจัดการสุขภาพสัตว์น้ำ
หากเกษตรกร พบปัญหาด้านโรคสัตว์น้ำ เกษตรกรสามารถขอรับคำปรึกษาและคำแนะนำได้ที่สำนักงานประมงอำเภอ สำนักงานประมงจังหวัด หรือหน่วยงานอื่นๆ ของกรมประมงทุกแห่งทั่วประเทศ และหากต้องการส่งสัตว์น้ำป่วยเพื่อตรวจวินิจฉัยโรค หรือขอคำแนะนำด้านโรคสัตว์น้ำ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่กองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ กรมประมง หมายเลขโทรศัพท์ 0-2561-3372 หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำสงขลา หมายเลขโทรศัพท์ 0-7433-5244-5