ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดนครราชสีมา
ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดนครราชสีมา
ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดนครราชสีมา เดิมคือสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดนครราชสีมาก่อสร้างเมื่อ ปี พ.ศ. 2496 ที่บริเวณหนองจะบก ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา มีเนื้อที่ 30-3-61 ไร่ โดยมีอาณาเขตด้านหน้าติดกับถนนมุขมนตรี ด้านหลังติดกับสถานีรถไฟจังหวัดนครราชสีมา ด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออกติดเขตชุมชน
เนื่องจากสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดนครราชสีมา (หนองจะบก) มีพื้นที่น้อยทำให้ไม่สามารถผลิตพันธุ์ปลาได้อย่างเพียงพอ อีกทั้งยังตั้งอยู่ในบริเวณชุมชนกลางใจเมืองจึงไม่สามารถขยายพื้นที่เพิ่มได้อีก กรมประมงจึงขออนุมัติงบประมาณก่อสร้างสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดนครราชสีมา (อ่างเก็บน้ำห้วยบ้านยาง) เป็นสถานีฯ แห่งที่ 2 ตั้งอยู่ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยบ้านยาง หมู่ที่ 5 ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา มีเนื้อที่ 100-1-52 ไร่ โดยมีอาณาเขตบ้านเรือนราษฎร หมู่ 5 หมู่บ้านอ่างห้วยยาง ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่บ้านอ่างห้วยยาง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อ่างเก็บน้ำห้วยบ้านยาง
- ทิศตะวันออกและทิศใต้ ติดต่อกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดนครราชสีมา (อ่างเก็บน้ำห้วยบ้านยาง) เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2536 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2538 และเปิดดำเนินการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2538 โดยจัดสรรอัตรากำลังบางส่วนจากสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดนครราชสีมา (หนองจะบก) มาปฏิบัติงานในระยะแรกจนกระทั่งในเดือนมกราคม 2544 จึงได้ขนย้ายพัสดุครุภัณฑ์และโยกย้ายอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ทั้งหมด มาปฏิบัติงานที่สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดนครราชสีมา (อ่างเก็บน้ำห้วยบ้านยาง) เพียงแห่งเดียวพร้อมทั้งได้ดำเนินการรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ของสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดนครราชสีมา (หนองจะบก) ในส่วนที่จะมอบให้เทศบาลนครนครราชสีมาออก ก่อนมอบพื้นที่ดังกล่าวให้ทางเทศบาลเข้าไปดำเนินการปรับปรุงเพื่อจัดสร้าง “สวนภูมิรักษ์” ต่อไป (จังหวัดนครราชสีมาโดยเทศบาลนครนครราชสีมาร่วมกับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้แจ้งความประสงค์ขอใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของสถานีฯ เพื่อทำการปรับปรุงและพัฒนาให้เป็นสวนสาธารณะของเมือง ตามโครงการจัดสร้าง “สวนภูมิรักษ์” ทูลเกล้าถวายเป็นราชสักการะแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ซึ่งกรมประมงพิจารณาแล้วไม่ขัดข้องยินดีให้เทศบาลใช้พื้นที่บางส่วนของสถานีฯ ในการจัดสร้างสวนภูมิรักษ์ โดยกันพื้นที่ส่วนหนึ่งประมาณ 9–3–98 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 30-3–61 ไร่ ไว้เป็นสำนักงานประมงจังหวัดนครราชสีมา)
ต่อมาในเดือนธันวาคม 2545 สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดนครราชสีมาจึงได้ปรับฐานะเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดนครราชสีมา ขึ้นกับสำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2545