>>https://youtu.be/dmi36t9e89U<<
" การเพาะและอนุบาลปลาดุก "
การเพาะผสมเทียมปลาดุกบิ๊กอุย
1.การเลี้ยงพ่อ – แม่พันธุ์ ควรเลี้ยงในบ่อดินที่มีขนาดตั้งแต่ 100 ตารางเมตร ขึ้นไป โดยปล่อยในอัตรา 20-30 ตัว/ ตารางเมตร ที่ระดับความลึกของน้ำ ประมาณ 1.0-1.5 เมตร ควรถ่ายเทน้ำบ่อยๆ เพื่อกระตุ้นให้ปลากินอาหารได้ดี และพัฒนาระบบสืบพันธุ์ของปลาให้มีไข่และน้ำเชื้อดียิ่งขึ้นจะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน ฤดูกาลผสมพันธุ์ปลาดุก จะอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม - ตุลาคม ก่อนฤดูกาลผสมพันธุ์ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ควรเริ่มคัดปลาที่มีไข่แก่สมบูรณ์บางส่วนมาเริ่มดำเนินการผสมเทียม
2.การคัดเลือกพ่อ – แม่พันธุ์ พ่อแม่พันธุ์ปลาดุกที่นำมาใช้ควรเป็นปลาที่สมบูรณ์ไม่บอบช้ำ และควรมีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป การสังเกตลักษณะปลาเพศเมียที่ดีในการเพาะพันธุ์ดูได้จากส่วนท้องจะอูมเป่งไม่นิ่มหรือแข็งจนเกินไป ติ่งเพศจะมีลักษณะกลมมีสีแดง หรือชมพูอมแดง ถ้าเอามือบีบเบาๆ ที่ท้องจะมีไข่ลักษณะเป็นเม็ดกลมสีน้ำตาลอ่อนใสไหลออกมา ส่วนปลาดุกเพศผู้จะมีติ่งเพศยาวเรียว
3.การรีดไข่ผสมน้ำเชื้อ การรีดไข่ของปลาดุกเพื่อผสมกับน้ำเชื้อนั้นใช้วิธี กึ่งเปียก เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด นำแม่ปลาที่ได้รับการฉีดฮอร์โมนและมีไข่แก่เต็มที่แล้วมารีดไข่ใส่ในภาชนะผิวเรียบ เช่น กะละมังเคลือบ พร้อมกันนี้ผ่าเอาถุงน้ำชื้อจากพ่อปลา นำมาวางบนผ้ามุ้งเขียวแล้วขยี้ให้ละเอียด พร้อมกับเทน้ำเกลือเข้มข้นประมาณ 0.7 % หรือน้ำสะอาดลงบนผ้ามุ้งเขียวที่ขยี้ถุงน้ำเชื้อให้น้ำไหลผ่าน เพื่อให้น้ำเชื้อลงไปผสมกับไข่ ผสมไข่กับน้ำเชื้อให้เข้ากันโดยการคนเบาๆ ด้วยขนไก่ประมาณ 2-3 นาที จึงนำไข่ที่ได้รับการผสมไปล้างน้ำสะอาด 1 ครั้งแล้วนำไปฟัก (น้ำเชื้อจากปลาตัวผู้หนึ่งตัวสามารถผสมกับไข่ที่ได้จากการรีดปลาเพศเมียประมาณ 10 ตัว)
4.การฟักไข่ ไข่ปลาดุกอุย เป็นไข่ติด ไข่ที่ดีควรมีลักษณะกลม มีสีน้ำตาลเข้ม ไข่ของปลาดุกเทศก็เป็นไข่ติด เช่นเดียวกับปลาดุกอุย ไข่ที่ดีควรมีลักษณะกลม และมีสีเขียวเข้ม นำไข่ปลาดุกที่ได้รับการผสมกับ น้ำเชื้อแล้วไปฟัก โดยโรยไข่บนผ้ามุ้งเขียวเบอร์ 20 ที่ขึงตึงที่ระดับต่ำกว่าผิวน้ำประมาณ 5-10 เซนติเมตร โดยระดับน้ำในบ่อที่ขึงผ้ามุ้งเขียวนั้นมีระดับน้ำลึกประมาณ 20-30 เซนติเมตร เปิดน้ำไหลผ่านตลอดเวลา และควรมีเครื่องเพิ่มอากาศใส่ไว้ในบ่อฟักไข่ปลาด้วย ไข่ปลาดุกที่ได้รับการผสมจะพัฒนาและฟักเป็นตัว โดยใช้เวลาประมาณ 21-26 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิของน้ำ 28-30 องศาเซลเซียส ลูกปลาดุกที่ฟักออกเป็นตัวจะหลุดลอดตาของมุ้งเขียวลงสู่พื้นก้นบ่อด้านล่าง หลังจากลูกปลาหลุดลอดลงสู่พื้นก้นบ่อหมดแล้วจึงย้าย ผ้ามุ้งเขียวที่ใช้ฟักไข่ออกจากบ่อฟักจะใช้เวลา 6-8 ชั่วโมง ลูกปลาจะค่อยๆ พัฒนาเจริญขึ้นเป็นลำดับจนมีอายุประมาณ 48 ชั่วโมง จึงเริ่มกินอาหารบ่อเพาะฟักลูกปลาดุกควรมีหลังคาปกคลุมป้องกันแสงแดดและ น้ำฝนได้แม่ปลาขนาดประมาณ 1 กิโลกรัม จะได้ลูกปลาประมาณ 5,000 -20,000 ตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและขนาดแม่ปลา
การอนุบาลลูกปลา
ลูกปลาดุกที่ฟักออกเป็นตัวใหม่ๆ จะใช้อาหารในถุงไข่แดงที่ติดมากับตัวเมื่อถุงไข่แดงที่ติดมากับลูกปลายุบ ให้ไข่ไก่ต้มสุกเอาเฉพาะไข่แดงบดผ่านผ้าขาวบางละเอียดให้ลูกปลากิน 1-2 ครั้ง หลังจากนั้นจึงให้ลูกไรแดงเป็นอาหาร
1. การอนุบาลลูกปลาดุกในบ่อซีเมนต์ สามารถดูแลรักษาได้ง่าย ขนาดของบ่อซีเมนต์ควรมีขนาดประมาณ 2-5 ตารางเมตร ระดับความลึกของน้ำทีใช้อนุบาลลึกประมาณ 15-30 เซนติเมตร การอนุบาลลูกปลาดุกที่มีขนาดเล็ก (อายุ 3 วัน) ระยะแรกควรใส่น้ำในบ่ออนุบาลลึกประมาณ 10 -15 เซนติเมตร เมื่อลูกปลามีขนาดใหญ่ขึ้นจึงค่อยๆ เพิ่มระดับน้ำให้สูงขึ้น การอนุบาลให้ลูกปลาดุกมีขนาด 2-3 เซนติเมตรจะใช้เวลาประมาณ 10-14 วัน น้ำที่ใช้ในการอนุบาลจะต้องเปลี่ยนถ่ายทุกวัน เพื่อเร่งให้ลูกปลาดุกกินอาหารและมีการเจริญเติบโตดี อีกทั้งเป็นการป้องกันการเน่าเสียของน้ำด้วย การอนุบาลลูกปลาดุกจะปล่อยในอัตรา 3,000-5,000 ตัว/ตรม. อาหารที่ใช้คือไรแดงเป็น หลัก ในบางครั้งอาจให้อาหารเสริมบ้าง เช่น ไข่ตุ๋น บดละเอียด เต้าหู้อ่อนบดละเอียด หรืออาจให้อาหารเร่งการเจริญเติบโต ซึ่งหากให้อาหารเสริมจะต้องระวังเกี่ยวกับการย่อยของลุกปลาและการเน่าเสียของน้ำในบ่ออนุบาลให้ดีด้วย
2. การอนุบาลลูกปลาดุกในบ่อดิน บ่อดินที่ใช้อนุบาลลุกปลาดุกควรมีขนาด 200 - 800 ตรม. บ่อดินที่จะใช้อนุบาลจะต้องมีการกำจัดศัตรูของลูกปลาก่อน และพื้นก้นบ่อควรเรียบ สะอาดปราศจากพืชพรรณไม้น้ำต่างๆ ควรมีร่องขนาดกว้างประมาณ 0.5 -1 เมตร ยาวจากหัวบ่อจรดท้ายบ่อ และลึกจากระดับพื้นก้น บ่อประมาณ 20 เซนติเมตร เพื่อความสะดวกในการรวบรวมลูกปลา และ ตรงปลายร่องควรมีแอ่งลึก มีพื้นที่ประมาณ 2 - 4 ตรม. เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมลูกปลาการอนุบาลลูกปลาดุกในบ่อจะต้องเตรียมอาหารสำหรับลูกปลา โดยการเพาะไรแดงไว้ล่วงหน้าเพื่อเป็นอาหารให้แก่ลูกปลาก่อนที่จะปล่อยลูกปลาดุกลงอนุบาลในบ่อ การอนุบาลในบ่อดินจะปล่อยในอัตรา 300 - 500 ตัว/ตรม. การอนุบาลลูกปลาให้เติบโตได้ขนาด 3 - 4 เซนติเมตร ใช้เวลาประมาณ 14 วัน แต่การอนุบาลลูกปลาดุกในบ่อดินนั้นสามารถควบคุมอัตราการเจริญเติบโตและอัตรารอดได้ยากกว่าการอนุบาลในบ่อซีเมนต์