ปลากัดกระบี่ ปลาหายากที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง
สวัสดีครับวันนี้เรามาทำความรู้จักครับปลาชนิดหนึ่งที่มีความสวยงาม แปลกและหายากมากชนิดหนึ่งกันครับ มันคือ ปลากัดกระบี่ ครับ ทำไมถึงชื่อว่า ปลากัดกระบี่....เพราะว่ามันมีแหล่งอาศัยอยู่ในจังหวัดกระบี่ที่เดียวในโลกครับ
ถ้าเห็น ปลากัดกระบี่ ตัวเป็น ๆ หลายคนคงคิดว่าเป็นปลากัดทั่วไปที่ไม่ได้สำคัญอะไร แต่เชื่อมั้ยว่าปลาชนิดนี้เป็นปลาที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็น ชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น (Endemic species) เพราะมีรายงานการแพร่กระจายพันธุ์อยู่ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ที่เดียวในโลก ทำให้มีจำนวนประชากรปลาที่จำกัด เมื่อมีการรุกรานทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย และถูกจับขายเป็นปลาสวยงามจึงมีจำนวนลดลงอย่างมาก ทำให้สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติInternational (Union for Conservation of Nature and Natural Resources ; IUCN) จัดอันดับใน IUCN Red List เป็น ชนิดพันธุ์ที่มีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CriticallyEndangered; CR) คือ มีความเสี่ยงสูงมากที่จะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ จนในปัจจุบันกรมประมงได้กำหนดให้ปลากัดกระบี่เป็น ชนิดพันธุ์สัตว์น้ำที่ห้ามส่งออก เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง ตามมาตรา 65 ของ พรก.การประมง พ.ศ 2558 เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำที่หายาก หรือป้องกันอันตรายมิให้เกิดแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศ และการส่งออกจะต้องเป็นเป็นปลาที่มาจากการเพาะเลี้ยงที่มีหนังสือรับรองจากกรมประมงและมีหนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์จากธรรมชาติทุกครั้งนะครับ
ปลากัดกระบี่ หรือ ปลากัดอมไข่กระบี่ มีชื่อสามัญ Krabi mouth brooding betta และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta simplex (Kottelat, 1994) เป็นปลากัดป่าชนิดหนึ่งมีขนาดเมื่อโตเต็มวัย มีความยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายปลากัดทั่วไปแต่สีสันไม่สวยเท่านะครับ มีลักษณะเด่นที่สำคัญคือปลาเพศผู้ขอบครีบท้องและครีบหางมีสีน้ำเงินเข้มแต่ในปลาเพศเมียจะไม่มี ปลากัดกระบี่เป็นปลากัดอมไข่ชนิดหนึ่งซึ่งมีพฤติกรรมการผสมพันธุ์วางไข่ที่แปลก โดยปลาเพศผู้จะรัดปลาเพศเมียให้วางไข่ออกมาผสมกับน้ำเชื้อแล้ว ปลาเพศผู้จะดูแลไข่โดยวิธีการอมไข่ไว้ในปากประมาณ 12-15 วัน จนไข่ฟักเป็นตัว ซึ่งแตกต่างจากปลากัดทั่วไปที่ปลาเพศผู้จะก่อหวอดที่เป็นกลุ่มฟองอากาศลอยเป็นแพที่ผิวน้ำแล้วนำไข่เก็บไว้ที่หวอด
ปลากัดกระบี่ที่กำลังผสมพันธุ์วางไข่ พ่อพันธุ์ปลากัดกระบี่ที่กำลังอมไข่
ปลากัดกระบี่มีแหล่งอาศัยที่จำเพาะไม่ได้อยู่ในแหล่งน้ำทั่วไป โดยอยู่ในแหล่งน้ำที่ไหลมาจากภูเขาหินปูน หรือแอ่งน้ำที่เกิดจากการยุบตัวของหินปูน ลักษณะของน้ำจึงน้ำใสมากและมีสีเขียวอมฟ้าเพราะมีแคลเซียมคาบอร์เนตที่เกิดจากการละลายของหินปูนอยู่ในน้ำมาก ด้วยเหตุนี้ทำให้พบปลากัดกระบี่ในพื้นที่จังหวัดกระบี่เท่านั้น
แหล่งที่อยู่อาศัยของปลากัดกระบี่
ด้วยความสำคัญที่กล่าวมาแล้วของปลากัดกระบี่ทำให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสตูลกำหนดให้ปลากัดกระบี่เป็นสัตว์น้ำเป้าหมายในโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูและอนุรักษ์สัตว์น้ำหายากใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการสำรวจรวบรวมพันธุ์ปลาจากธรรมชาติมาศึกษาการเพาะเลี้ยงให้ประสบความสำเร็จ แล้วนำลูกพันธุ์ปลาที่ได้ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในแหล่งเดิมเพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์พันธุ์ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยศูนย์ ฯ ได้ดำเนินการรวบรวมพันธุ์ปลามาได้จำนวนหนึ่ง และนำมาเลี้ยงเพื่อศึกษาชีววิทยาและทดลองหาวิธีการเพาะพันธุ์จนประสบผลสำเร็จในปี 2563 ได้ลูกปลากัดกระบี่ รุ่น F1 ซึ่งเป็นลูกปลากัดกระบี่รุ่นแรกที่ได้จากการเพาะพันธุ์โดยใช้พ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติ
ลูกปลากัดกระบี่จากการเพาะพันธุ์ รุ่นแรก F1
จากความสำคัญของปลากัดกระบี่และข้อมูลความรู้ที่ได้จากการศึกษาแล้วในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสตูลจะนำไปพัฒนาการเพาะเลี้ยงปลากัดกระบี่ให้มีประสิทธิภาพ สามารถผลิตพันธุ์ปลาให้ได้มากยิ่งขึ้นเพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์พันธุ์ปลากัดกระบี่ให้อยู่คู่กับแหล่งน้ำในธรรมชาติของจังหวัดกระบี่ตลอดไปครับ
ณัฐชพงศ์ เพชรฤทธิ์
ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสตูล
25 ธ.ค. 2564