กรมประมง”สร้างการรับรู้เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากภัยแล้งด้านประมง ปี 2565”

 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมหาสารคาม




กรมประมง”สร้างการรับรู้เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากภัยแล้งด้านประมง ปี 2565”

กรมประมง”สร้างการรับรู้เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากภัยแล้งด้านประมง ปี 2565”

****************************

ประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นฤดูที่มีความเสี่ยง และส่งผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งในส่วนของปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ และแหล่งน้ำชลประทานที่จะไม่เพียงพอต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึงสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่สูงขึ้น อาจเป็นสาเหตุทำให้สัตว์น้ำที่เกษตรกรเลี้ยงไว้เกิดความเสียหายได้

 กรมประมงจึงขอให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

?1. ข้อควรปฏิบัติในการเลี้ยงสัตว์น้ำในช่วงฤดูแล้ง

กรณีที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อดินดังนี้

1. ควรปรับลดขนาดการผลิต หรืองดเว้นการเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยทำการตากบ่อและตกแต่งบ่อเลี้ยงในช่วงฤดูแล้งแทน เพื่อเตรียมไว้เลี้ยงสัตว์น้ำในรอบต่อไป

2. วางแผนการเลี้ยงสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และฤดูกาล

3. ทยอยจับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดขึ้นมาจำหน่ายหรือบริโภค เพื่อลดปริมาณสัตว์น้ำภายในบ่อ

4. หากจำเป็นต้องเลี้ยงสัตว์น้ำควรคัดเลือกพันธุ์สัตว์น้ำที่มีความแข็งแรง จากฟาร์มผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้

5. ควบคุมการใช้น้ำและรักษาปริมาณน้ำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีการสูญเสียน้อยที่สุด ป้องกันการรั่วซึม หรือจัดทำร่มเงาให้กับบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ

6. จัดเตรียมหาแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้เพิ่มเติม

7. ควรปล่อยสัตว์น้ำลงเลี้ยงในปริมาณหนาแน่นน้อยกว่าปกติ และควรปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่เพื่อลดระยะเวลาการเลี้ยงให้น้อยลง

8. ควรเลือกใช้อาหารสัตว์น้ำที่มีคุณภาพดีและให้ในปริมาณที่เหมาะสม

9. ลดปริมาณอาหารสัตว์น้ำลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นอาหารสดเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย

10. ควรเพิ่มความสนใจ สังเกตอาการต่าง ๆ ของสัตว์น้ำที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติจะได้แก้ไขและให้การรักษาได้ทันท่วงที

11. ควรงดเว้นการขนถ่ายสัตว์น้ำ ถ้าจำเป็นต้องระมัดระวังให้มากเนื่องจากจะมีผลกระทบกับการกินอาหารและการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำโดยตรง

12. ควรหมั่นตรวจสุขภาพสัตว์น้ำอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบสิ่งผิดปกติ ให้รีบหาสาเหตุและแก้ไขได้ทันที

ในขณะเดียวกันควรแจ้งให้ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงทราบ เพื่อที่จะได้หามาตรการป้องกันการแพร่กระจายโรค กรณีที่มีสัตว์น้ำป่วยตายควรกำจัดโดยการฝังหรือเผา ไม่ควรทิ้งสัตว์น้ำป่วยในบริเวณบ่อที่เลี้ยงเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการแพร่กระจายเชื้อโรคทำให้การระบาดของโรคเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว

กรณีที่เลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังดังนี้

1. ควรปรับลดขนาดการผลิต หรืองดเว้นการเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยทำความสะอาดและซ่อมแซมกระชังในช่วงฤดูแล้งแทน เพื่อเตรียมไว้เลี้ยงสัตว์น้ำในรอบต่อไป

2. วางแผนการเลี้ยงสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และฤดูกาล

3. ทยอยจับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดขึ้นมาจำหน่ายหรือบริโภค เพื่อลดปริมาณสัตว์น้ำภายในกระชัง

4. หากจำเป็นต้องเลี้ยงสัตว์น้ำควรคัดเลือกพันธุ์สัตว์น้ำที่มีความแข็งแรง จากฟาร์มผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้

5. ควรเลือกแหล่งน้ำที่ตั้งกระชังที่มีระดับความลึกเพียงพอ เมื่อตั้งกระชังแล้วพื้นกระชังควรสูงจากพื้นน้ำไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร เพื่อให้น้ำมีการหมุนเวียนถ่ายเทได้สะดวก

6. ควรจัดวางกระชังให้เหมาะสม ไม่วางชิดกันจนหนาแน่นมากเกินไป เพราะจะไปขัดขวางการไหลของ

กระแสน้ำ

7. ควรปล่อยสัตว์น้ำลงเลี้ยงในปริมาณหนาแน่นน้อยกว่าปกติ และควรปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่เพื่อลดระยะเวลาการเลี้ยงให้น้อยลง ก่อนปล่อยสัตว์น้ำลงเลี้ยงในกระชัง ควรปรับสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะคุณสมบัติของน้ำในภาชนะลำเลียงสัตว์น้ำ ควรมีคุณสมบัติใกล้เคียงกันกับน้ำที่ต้องการปล่อยสัตว์น้ำ เช่น อุณหภูมิ ค่าความเป็นกรดด่าง เป็นต้น

8. ควรเลือกใช้อาหารสัตว์น้ำที่มีคุณภาพดีและให้ในปริมาณที่เหมาะสม

9. ลดปริมาณอาหารสัตว์น้ำลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นอาหารสดเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย

10. ควรเพิ่มความสนใจ สังเกตอาการต่าง ๆ ของสัตว์น้ำที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติจะได้แก้ไขและให้การรักษาได้ทันท่วงที

11. ควรทำความสะอาดกระชังสม่ำเสมอ เพื่อกำจัดตะกอนและเศษอาหาร ซึ่งเป็นการตัดวงจรชีวิต
ปรสิตและเชื้อโรค นอกจากนี้ช่วยให้กระแสน้ำไหลผ่านกระชังได้ดี มีผลต่อการเจริญเติบโตและสุขภาพสัตว์น้ำ

12. ควรงดเว้นการขนถ่ายสัตว์น้ำ ถ้าจำเป็นต้องระมัดระวังให้มากเนื่องจากจะมีผลกระทบกับการกินอาหารและการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำโดยตรง

13. ควรหมั่นตรวจสุขภาพสัตว์น้ำอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบสิ่งผิดปกติ ให้รีบหาสาเหตุและแก้ไขได้ทันที
ในขณะเดียวกันควรแจ้งให้ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงทราบ เพื่อที่จะได้หามาตรการป้องกันการแพร่กระจายโรค กรณีที่มีสัตว์น้ำป่วยตายควรกำจัดโดยการฝังหรือเผา ไม่ควรทิ้งสัตว์น้ำป่วยในบริเวณแม่น้ำ
ที่เลี้ยงเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการแพร่กระจายเชื้อโรคทำให้การระบาดของโรคเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว         

          ทั้งนี้ เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควรติดตามข่าวสารการพยากรณ์อากาศและสถานการณ์น้ำจากทางราชการอย่างใกล้ชิด หากประสบปัญหาในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ  สามารถแจ้งหรือขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมหาสารคาม โทรศัพท์ 0 4377 7439 และ E-mail : ifmahasarakham@gmail.com

 

****************************

 

  •   หน่วยงาน: ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมหาสารคาม
  •   ประกาศวันที่: 2022-01-06
  •   ประกาศสิ้นสุดเเล้วเมื่อวันที่: 2022-12-31 

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2568 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมหาสารคาม

รายละเอียด ๒๐  หมู่ ๑๓  ต.แก่งเลิงจาน  อ.เมือง  จ.มหาสารคาม  ๔๔๐๐๐  email  ifmahasarakham@gmail.com  โทรศัพท์ ๐๔๓ ๗๗๗๔๓๙  FAX ๐๔๓ ๗๗๗๔๓๙
CreativeCommons Valid CSS! Explanation of WCAG 2.1 Level Triple-AA Conformance SSL Labs ipv6