ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งพังงา
ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งพังงา เลขที่ 164 หมู่ 9 ตำบลท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ตั้งอยู่บนแนวถนนเลียบชายทะเลหาดท้ายเหมือง ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 4 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 97 ไร่ 2 งาน 96.2 ตารางวา
เป็นหน่วยงานราชการส่วนกลาง ในสังกัดกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2528 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อการเพาะพันธุ์หอยแครง หอยนางรม และกุ้ง ใช้งบประมาณจากโครงการกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร และกองทุนความช่วยเหลือเพื่อเพิ่มผลผลิตอาหารจากประเทศญี่ปุ่น เป็นเงินรวม 15 ล้านบาท โดยแยกเป็นเงินยืมไม่เสียดอกเบี้ย จำนวน 11 ล้านบาท กำหนดชำระคืนใน 8 ปี ระยะปลอดหนี้ 3 ปี และเงินจ่ายขาดจำนวน 4 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้าง ในระยะแรกได้รับการตั้งชื่อเป็น "สถานีพัฒนาการเพาะเลี้ยงหอยจังหวัดพังงา" ซึ่งเริ่มดำเนินการผลิตสัตว์น้ำในปี พ.ศ. 2532 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สถานีประมงน้ำกร่อยจังหวัดพังงา" แล้วยกระดับเป็น "ศูนย์พัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งพังงา" และในปี พ.ศ. 2545 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นปัจจุบันตามการปรับโครงสร้างในการปฏิรูประบบราชการของประเทศ
หน้าที่รับผิดชอบ
ศึกษา ค้นคว้า วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ทดสอบงานวิจัยเพื่อเชื่อมโยงกับสถาบันวิจัยกุ้งทะเล สถาบันวิจัยอาหารสัตว์น้ำชายฝั่งและสถาบันวิจัยโรคสัตว์น้ำชายฝั่ง และใช้เทคโนโลยีเพื่อขยายผลในเชิงพาณิชย์ การจัดการระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเชิงอุตสาหกรรมแบบยั่งยืน และแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในด้านชีววิทยาและสมดุลของระบบนิเวศน์ กำหนดมาตรฐานการตรวจสอบผลผลิตจากการทำการประมงชายฝั่ง และตรวจรับรองกระบวนการผลิตสัตว์น้ำชายฝั่งให้ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เช่น ตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบ (ตรวจยาปฏิชีวนะตกค้าง ตรวจวิเคราะห์การติดเชื้อไวรัสโดยวิธี PCR) ตรวจสอบคุณภาพในแหล่งผลิตตามมาตรฐาน GAP และ CoC ผลิตและขยายพันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่งที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ พัฒนาการผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำ บริหารระบบชลประทานน้ำเค็มเพื่อการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล
คำจำกัดความ
GAP (Good Aquaculture Practice) หมายถึง ระบบการผลิตที่มีการจัดการด้านสุขอนามัยที่ดี ส่งผลให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค
CoC (Code of Conduct) หมายถึง ระบบการผลิตที่มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี โดยมีจุดมุ่งหมายให้เกิดอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลอย่างยั่งยืน เป็นกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และปลอดภัยต่อผู้บริโภค
ทำเนียบผู้บริหาร |
|
1. นายถาวร ธรรมเศวต | พ.ศ. 2529-2533 |
2. นายสมชาติ สุขวงศ์ | พ.ศ. 2533-2537 |
3. นายสมยศ สิทธิโชคพันธ์ | พ.ศ. 2538-2539 |
4. นายทวี จินดามัยกุล | พ.ศ. 2540-2544 |
5. นางเรณู ยาชิโร | พ.ศ. 2545-ม.ค.2546 |
6. นายทวี โรจนสารัมภกิจ | ม.ค.-ก.ย.2546 |
7. นายวุฒิ คุปตะวาทิน | ต.ค.2546-ธ.ค.2549 |
8. นายคมน์ ศิลปาจารย์ | ธ.ค.2549-ธ.ค.2551 |
9. นายสุทธิชัย ฤทธิธรรม | ธ.ค.2551- ม.ค.2553 |
10.นายสุภาพ ไพรพนาพงศ์ | ม.ค.2553 - เม.ย.2560 |
11. นางพิชญา ชัยนาค มิ.ย.2560-ม.ค.2562
12.นางฉันทนา แก้วตาปี ม.ค.2562 - ปัจจุบัน