ประวัติเรือสำรวจประมงมหิดล 

 คลังความรู้  ข้อมูลเผยเเพร่  ข้อมูลเผยเเพร่ อื่นๆ

ส่ง email ทวิต Tweeter ส่ง Line แชร์ Facebook
ฟังเสียงบรรยาย
ฟังเสียงบรรยาย

เรือสำรวจประมง "มหิดล"

 

ประวัติความเป็นมา

สืบเนื่องมาจากการที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกปลาทูน่ากระป๋อง อันดับหนึ่งของโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา ซึ่งนำเงินตราเข้าประเทศเฉลี่ยปีละกว่า 16,000 ล้านบาท แต่ประเทศไทยต้องนำเข้าปลาทูน่าถึงปีละ 5 แสนตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 15,000 ล้านบาท ดังนั้นกรมประมงจึงเห็นสมควรให้ทำการสำรวจ ศึกษา ค้นคว้าและวิจัยแหล่งทรัพยากรปลาทูน่า เพื่อหาแนวทางในการลดการสั่งนำเข้าวัตถุดิบ และเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถรักษาการเป็นผู้นำในการส่งออกของโลกได้ต่อไปในอนาคต รัฐบาลจึงได้จัดสรรงบประมาณ ปี พ.ศ. 2535 จำนวน 410 ล้านบาท ให้กรมประมงต่อเรือสำรวจวิจัยปลาทูน่า เป็นลำที่ 2 ซึ่งปรากฏว่าบริษัทต่อเรือ ฮายาชิกาเนะ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้ประกวดราคาได้ และได้ลงนามในสัญญาจ้าง เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2537
โดยใช้เวลาในการจ้างเหมาต่อเรือทั้งสิ้น 276 วัน

เรือลำนี้เป็นเรือสำรวจทรัพยากรทางทะเลที่ทันสมัยของโลกอีกลำหนึ่ง ซึ่งกรมประมงจะใช้ในการสำรวจแหล่งชีววิทยาของปลาทูน่า
ในบริเวณทะเลลึก และยังจะใช้เป็นเรือต้นแบบเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ชาวประมงไทยหันมาทำการประมงทูน่า และเป็นเจ้าของกองเรือประมงปลาทูน่าที่ทันสมัยมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดการนำเข้าปลาทูน่าไม่ต่ำกว่าปีละ 5,000 ล้านบาท นอกเหนือจากภารกิจ
ดังกล่าวแล้ว เรือลำนี้ยังจะใช้ในภารกิจพิเศษ ดังเช่น การฝึกอบรมนิสิต นักศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล การสำรวจร่วม
พร้อมทั้งสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลทั้งในน่านน้ำไทยและน่านน้ำต่างประเทศ

การที่การประมงไทยได้พัฒนาก้าวหน้าขึ้นจนเป็นผู้นำของโลก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จ
พระมหิตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก ที่ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนให้กระทรวงเกษตราธิการจัดส่งข้าราชการหรือนักเรียนไทยไปศึกษาวิชาการประมง ในนาม "มหิดล" เมื่อ พ.ศ. 2496 ตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระยศสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ซึ่งผู้ได้รับทุนสำเร็จการศึกษาได้กลับมารับราชการและได้สร้างความก้าวหน้า ยังให้เกิดประโยชน์
แก่ชาวประมงไทยปรากฏมาจนทุกวันนี้

ข้าราชการกรมประมงและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทุกคน ได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระมหิตลาเบศอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ได้ทรงพระกรุณาให้การสนับสนุนและสนพระทัยในกิจการประมงไทยมาตลอดพระชนม์ชีพ จึงเห็นพ้องต้องกันว่าสมควรที่จะได้เทิดพระเกียรติให้ปรากฏในพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าวข้างต้น โดยขอพระราชทานพระนาม "มหิดล" เป็นชื่อเรือสำรวจวิจัยประมงปลาทูน่าลำนี้ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม พระราชทานบรมราชานุญาตให้เชิญพระนาม "มหิดล"
เป็นชื่อเรือเพื่อความเป็นสิริมงคลนาม และเป็นขวัญกำลังใจแก่ข้าราชการของกรมประมงและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมทั้ง
ชาวประมงไทยสืบไป

พิธีวางกระดูกงู เป็นพิธีที่ถือกันว่าเป็นการจุติมาบนโลกของเรือแต่ละลำ "เรือมหิดล” ได้ผ่านพิธีวางกระดูกงู เมื่อวันอังคารที่ 24 มิถุนายน 2537 ณ HAYASHIKANE DOCKYARD ประเทศญี่ปุ่น โดยมี ฯพณฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
(นายสวัสดิ์ สืบสายพรหม) เป็นประธานในพิธี

พิธีปล่อยเรือลงน้ำ หมายถึง เปลือกเรือส่วนนอกทั้งหมดได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว เรือสามารถอยู่ในน้ำได้ จึงปล่อยเรือลงจากคาน เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2537 ณ. HAYASHIKANE DOCKYARD ประเทศญี่ปุ่น ประธานในพิธี คือ อธิบดีกรมประมง (ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี)

การส่งมอบเรือ ได้ส่งมอบเรือ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2537 และขึ้นระวางเรือเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2538 โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เสด็จทรงประกอบพิธีขึ้นระวางเรือสำรวจประมง “มหิดล” ณ ท่าเทียบเรือโรงเรียนนายเรือ จังหวัดสมุทรปราการ

    

คุณลักษณะเรือ

   
ความยาวตลอดลำ    62.53 เมตร
ความกว้าง        12.50 เมตร
ความลึก          7.80 เมตร
กินน้ำลึก        4.80 เมตร
ขนาดตันกรอส      1,276 ตัน
น้ำหนักเรือ      383 ตัน
ความเร็วสูงสุด   16.20 นอต
ความเร็วปกติ     15.00 นอต
ระยะทำการ        10,000 ไมล์ทะเล
ความจุถังน้ำมันเชื้อเพลิง 370 ลบ.ม.
ความจุถังน้ำจืด 80 ลบ.ม.
ห้องเย็นเก็บปลา  570 ลบ.ม.

เครื่องมือทางการประมง

อวนล้อมปลาทูน่าขนาดความยาว 1,630 เมตร ลึก 230 เมตร เป็นอวนไนลอนแบบไม่มีปม ห่วงมานแบบ snaper purse rings

อุปกรณ์การวิจัย

อุปกรณ์เครื่องช่วยอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ กว้านสมุทรศาสตร์ ห้องปฏิบัติการ

เครื่องจักรใหญ่

เครื่องดีเซล รอบปานกลาง 4 จังหวะ ของยันมาร์ ขนาด 3,200 แรงม้า 720 รอบ/นาที

ระบบใบจักร

1 เพลา 4 ใบจักร แรงบิดสูง ปรับมุมใบจักรได้

เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ยันมาร์ ขนาด 600 แรงม้า หมุน 1,000 รอบ/นาที จำนวน 3 เครื่อง

เครื่องช่วยผลักหัวเรือ ขนาด 3 ตัน จำนวน 4 ใบจักร


คุยกับน้องมัจฉา Add Friends คุยกับน้องมัจฉา