ประวัติเรือสำรวจประมงจุฬาภรณ์ 

 คลังความรู้  ข้อมูลเผยเเพร่  ข้อมูลเผยเเพร่ อื่นๆ

ส่ง email ทวิต Tweeter ส่ง Line แชร์ Facebook
ฟังเสียงบรรยาย
ฟังเสียงบรรยาย

เรือสำรวจประมง "จุฬาภรณ์"

 

ประวัติความเป็นมา

กรมประมงได้ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดซื้อเรือสำรวจประมงลำที่ 3 ของกรมประมง ตั้งแต่ ปี 2517 ด้วยความอุตสาหะการดำเนินการจึงเป็นรูปเป็นร่าง
เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2524 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กรมประมง จัดซื้อเรือสำรวจประมง 3 โดยใช้เงินกู้เยนเครดิต OECF ครั้งที่ 8 ตามโครงการพัฒนาการประมง ให้ซื้อเรือสำรวจและฝึกอบรม 1 ลำ ในวงเงินประมาณ 1,985 ล้านเยน ไม่มีเงินบาทสมทบ

กรรมวิธีในการจัดซื้อ คือ การประกวดราคานานาชาติ ซึ่งมีอู่ต่อเรือจากนานาประเทศสมัครเข้ารับการคัดเลือก จำนวน 18 ราย ปรากฏว่า
บริษัท HAYASHIKANE SHIPBUILDING &ENGINEERING เป็นผู้เสนอ ราคาต่ำสุดและมีรายละเอียดถูกต้องเป็นที่น่าพอใจของคณะกรรมการ
เป็นผู้ชนะการประกวดราคาและได้ลงนาม ในสัญญาซื้อเรือ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2528 เป็นสัญญาที่ 6/2529 ของกรมประมง โดยมีกำหนดส่งมอบเรือ
ที่ท่าเรือกรุงเทพฯ ภายใน 274 วัน แต่กรมประมงได้ขอปรับปรุงคุณสมบัติบางประการ โดยไม่มีการเพิ่มราคาค่าใช้จ่าย แต่ขยายเวลาส่งมอบ รวมระยะเวลาต่อเรือ 352 วัน

ความต้องการแต่เดิมนั้น กรมประมงต้องการเรือที่มีขนาดประมาณ 1,500 ตันกรอส ภายในประกอบด้วยโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ 2 โรง คือ
ทำปลาป่นและทำปลากระป๋องแต่เนื่องจากสถานการณ์การประมงโลกและสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2527 มีนโยบายให้ลดขนาดเรือให้เล็กลงและตัดโรงงานแปรรูปสัตว์ทั้ง 2

ในการนี้ เพื่อเป็นศิริมงคลแก่เรือสำรวจและเป็นมิ่งขวัญแก่กรมประมง กรมประมงจึงมีหนังสือที่ กษ 0508(1) /9193 ลงวันที่ 29 เมษายน 2529
ถึงสำนักราชเลขาธิการสวนจิตรลดา ขอให้นำข้อความกราบบังคมทูล สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ขอพระราชทานพระอนุญาตอัญเชิญพระนาม “จุฬาภรณ์” เป็นชื่อเรือสำรวจประมง 3 ของกรมประมง และทรงพระราชทานพระอนุญาต ตามหนังสือของสำนักราชเลขาธิการ
ที่ รล. 0007/4888 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2529

พิธีวางกระดูกงู เป็นพิธีที่นิยมกระทำอย่างแพร่หลาย เพราะถือกันว่าเป็นการจุติมาบนโลกของเรือ แต่ละลำ "เรือจุฬาภรณ์” ได้ผ่านพิธีวางกระดูกงู
เมื่อวันอังคารที่ 25 มีนาคม 2529 ณ. NAGASAKI SHIPYARD ประเทศญี่ปุ่น โดยมี ฯพณฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
(นายบรม ตันเถียร) เป็นประธานในพิธี ตรงกับเวลา 11 นาฬิกา 16 นาที 35 วินาที ตามวลาในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตรงกับเวลา 09 นาฬิกา 16 นาที 35 วินาที ตามเวลาในประเทศไทย

                      

พิธีปล่อยเรือลงน้ำ หมายถึง เปลือกเรือส่วนนอกทั้งหมดได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว เรือสามารถลอยอยู่ในน้ำได้ จึงปล่อยเรือลงจากคาน ประธานในพิธี
คือ อธิบดีกรมประมง (นายวนิช วารีกุล) ส่วนสุภาพสตรีผู้ทำหน้าที่ตัดเชือกปล่อยเรือลงน้ำ คือ ภริยาท่านปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
(นางนวลนารถ ธำรงนาวาสวัสดิ์) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2529

การส่งมอบเรือ มีขึ้นในวันที่ 2 ธันวาคม 2529 และเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2530 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ได้เสด็จทรงประกอบ
พิธีขึ้นระวางเรือสำรวจประมง “จุฬาภรณ์” ณ ท่าเทียบเรือโรงเรียนนายเรือ จังหวัดสมุทรปราการ

                                                               

 

 

 

 

 

 

 

                                                                               

 

 

 

 

 

 

 

 

คุณลักษณะและสมรรถนะของเรือ

ความยาวตลอดลำ 67.25 เมตร
ความกว้าง 12.00 เมตร
ความลึก 6.90 เมตร
กินน้ำลึก 4.40 เมตร
ขนาดตันกรอส 1,424 ตัน
น้ำหนักเรือ 428 ตัน
ความเร็วสูงสุด 15.385 นอต
ความเร็วปกติ 13.00 นอต
ระยะทำการ 12,000 ไมล์ทะเล
ความจุถังน้ำมันเชื้อเพลิง 450 ลบ.เมตร
ความจุถังน้ำจืด 140 ลบ.เมตร
ห้องเย็นเก็บปลา 137.64 ลบ.เมตร

 

เครื่องมือหลักในเรือ

เครื่องจักรใหญ่: เครื่องดีเซล รอบช้า 4 จังหวะ ของอันชินขนาด 2,800 แรงม้า 240 รอบ/นาที

ระบบใบจักร: 4 ใบจักร แรงบิดสูง ปรับมุมในจักรได้

เครื่องกำเนิดไฟฟ้าหลัก: ขนาด 420 แรงม้า หมุน 1,000 รอบ/นาที จำนวน 2 เครื่อง

เครื่องกำเนิดไฟฟ้าช่วย: ใช้ระบบไทริสเตอร์ 350 กิโลโวลท์แอมป์ (280 กิโลวัตต์) จำนวน 1 เครื่อง

เครื่องช่วยผลักหัวเรือ: ขนาด 3 ตัน

เครื่องมือและอุปกรณ์วิจัยการประมง

เครื่องมือทำการประมง :

  • อวนล้อม (PURSE SEINE)
  • อวนลากแผ่นตะเฆ่ (OTTER BOARD TRAWL)
  • อวนลากกลางน้ำ (MIDWATER TRAWL)
  • เบ็ดราวทูน่า (TUNA LONG LINE)
  • อวนลอย (DRIFT GILL NET)

อุปกรณ์การวิจัย

  • กว้านสมุทรศาสตร์และอุปกรณ์ (OCEANOGRAPHIC WINCH AND ACCESSORIES)

  • ห้องปฏิบัติการเคมี-ฟิกส์ (DRY LABORATORY)

  • ห้องปฏิบัติการชีวประมง (VET LABORATORY)

  • เครื่องอะคูสติก (ACOUSTIC EQUIPMENT)

อุปกรณ์แปรรูปสัตว์น้ำ

  • อุปกรณ์การแปรรูปแช่แข็ง (FROZEN FISH PROCESSING EQUIPMENT)
  • เครื่องบดปลา (MINCED FISH PRODUCT)


คุยกับน้องมัจฉา Add Friends คุยกับน้องมัจฉา