ประวัติหน่วยงาน

ประวัติหน่วยงาน 


การพัฒนาสถิติการประมงของประเทศไทย

ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับแรก (ปี 2504-2509) การประมงทะเลของประเทศได้เริ่มขยายตัวอย่างรวดเร็วตั้งแต่มีการพัฒนาการใช้เครื่องมือประมงอวนลากในการจับสัตว์น้ำ ทำให้ผลผลิตทางการประมงซึ่งมีประมาณ 200,000 ตัน ในช่วงก่อนปี 2504 เพิ่มเป็น720,000 ตัน ในปี 2509 ในจำนวนนี้ร้อยละเกือบ 90 เป็นผลผลิตทางการประมงทะเล ที่เหลือเพียงร้อยละ 10 เป็นผลผลิตทางการทำประมงน้ำจืด ทำให้รัฐบาลวางแผนในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงทะเลอย่างจริงจัง โดยตั้งเป้าหมายให้เพิ่มผลผลิตร้อยละ 10 ต่อปี เพื่อให้สามารถผลิตสัตว์น้ำให้เพียงพอต่อความต้องการใช้บริโภคภายใน และสามารถเป็นสินค้าส่งออกเพื่อทำรายได้ให้กับประเทศอย่างไรก็ดีข้อมูลสถิติผลผลิตทางการประมงในขณะนั้น เป็นข้อมูลสถิติที่ได้จากการประมาณการซึ่งจัดทำโดยสำนักงานประมงจังหวัดโดยไม่ได้จัดทำการสำรวจตามรูปแบบของวิชาการสถิติ เมื่อรัฐบาลมีเป้าหมายในการเพิ่มผลผลิตร้อยละ 10 ต่อปี ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ในฉบับต่อมา จำเป็นต้องปรับปรุงวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติ เพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงที่แท้จริง ซึ่งในระยะแรกได้ดำเนินการจัดทำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงทะเลก่อน เนื่องจากเป็นกิจการทำประมงที่ให้ผลผลิตสูงสุดถึงเกือบเป็นร้อยละ 90 ของผลผลิตทางการประมงทั้งหมด รัฐบาลไทยได้ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่น ให้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นมาให้ คำแนะนำและวางแผนการจัดทำข้อมูลสถิติร่วมกับข้าราชการกรมประมงเป็นครั้งแรก โดยเริ่มวางแผนในการจัดเก็บข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ครอบคลุมกิจการทำประมงทะเลทั้งหมดซึ่งต่อไปได้มีโครงการจัดทำ สำมะโนประมงทะเลครั้งแรกในปี พ.ศ. 2510 โดยการดำเนินการร่วมกันระหว่างกรมประมงและสำนักงานสถิติแห่งชาติ ข้อมูลพื้นฐานจากการทำสำมะโนครั้งนี้สามารถนำมาเป็นกรอบตัวอย่าง (Frame) สำหรับใช้ในการวางแผนการสำรวจผลผลิตทางการประมง ซึ่งโครงสร้างหรือรูปแบบการจัดทำการสำรวจได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐบาลญี่ปุ่นอีกครั้งที่ได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติมาช่วย ร่วมกันวางแผนการสำรวจสถิติการประมงของประเทศไทย ต่อมากรมประมงได้ปรับปรุงและพัฒนาวิธีการสำรวจให้ครอบคลุมผลผลิตทางการประมงทุกประเภท และได้ดำเนินการมาถึงปัจจุบัน

 

 

แผนการจัดทำการสำรวจข้อมูลสถิติได้เริ่มดำเนินการเป็นระยะดังนี้

1. การจัดทำสำมะโนประมงทะเล กรมประมงและสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกันจัดทำสำมะโนประมงทะเลครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ. 2510 เพื่อศึกษาข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงทะเล เช่น จำนวนครัวเรือนประมง จำนวนชาวประมง จำนวนเรือประมง เป็นต้น และได้จัดทำสำมะโนย่อย (Inventory survey) ทุก ๆ 3 ปี เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของการทำประมงทะเลก่อนที่จะจัดทำสำมะโนประมงทะเลในครั้งต่อไป ซึ่งจัดทำครั้งที่ 2 ในปี 2528 และครั้งที่ 3 ในปี 2538 และสำรวจการเปลี่ยนแปลงทางประมงทะเลในปี 2533 และปี 2543

2. การสำรวจสถิติผลผลิตทางการประมงทะเล จากข้อมูลพื้นฐานที่ได้จากการจัดทำสำมะโนประมงทะเลครั้งที่ 1 ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นและกรมประมงได้วางแผนการสำรวจผลผลิตทางการประมงทะเล โดยแบ่งการสำรวจทำการประมงทะเลเป็น 2 การสำรวจตามโครงสร้างของการทำประมงทะเล คือ

2.1 การสำรวจสถิติผลผลิตปริมาณการจับสัตว์น้ำจากเครื่องมือทำการประมงที่สำคัญ ซึ่งจะครอบคลุมกิจการทำประมงทะเลที่มีขนาดใหญ่ โดยวิธีการสุ่มตัวอย่าง (Fish Production based on sampling survey) โดยใช้วิธีของ Neyman,s Optimum allocation) ซึ่งเริ่มได้ดำเนินการในปี 2512 และ ปี 2513 สามารถดำเนินการได้เพียงครึ่งปี เนื่องจากมีงบประมาณจำกัดแต่ตั้งแต่ ปี 2514 เป็นต้นมาได้จัดตั้งงบประมาณในการสำรวจและได้ดำเนินการต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

2.2 การสำรวจสถิติผลผลิตหมู่บ้านประมงทะเล ซึ่งจะครอบคลุมกิจการประมงทะเลที่มีขนาดเล็กหรือพื้นบ้านทุกเครื่องมือ ยกเว้นเครื่องมือที่สำคัญในงานสำรวจที่ 1 โดยใช้วิธีการของ Neyman,s optimum allocation เช่นกัน แต่ได้จัดชั้นของหมู่บ้านประมง เป็น 2 strala โดยใช้จำนวนเรือเป็นตัวถ่วงน้ำหนักในการแบ่งขนาดของหมู่บ้าน แล้วใช้วิธีการสุ่มเลือกตัวอย่างเป็น 2 Stage โดยเลือกหมู่บ้านตัวอย่างเป็น Stage ที่ 1 และเลือกครัวเรือนที่ทำการประมงด้วยเครื่องมือทำการประมงแต่ละชนิด เป็น Stage ที่ 2

3. การสำรวจผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จากข้อมูลสำมะโนประมงครั้งแรก ได้จัดทำกรอบตัวอย่าง (Frame) ของผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งมาใช้ในการวางแผนการสำรวจผลผลิต โดยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2515 เป็นต้นมา ต่อมาเพื่อในครอบคลุมทุกกิจกรรมการเพาะเลี้ยง จึงได้กำหนดการสำรวจตามชนิดสัตว์น้ำที่เลี้ยงคือ

3.1 การสำรวจผลผลิตการเลี้ยงกุ้งทะเล

3.2 การสำรวจผลผลิตการเลี้ยงปลาน้ำกร่อย

3.3 การสำรวจการเลี้ยงหอยทะเล

4. การสำรวจผลผลิตการทำประมงน้ำจืด เนื่องจากข้อมูลโครงสร้างทางพื้นฐานของการทำประมงน้ำจืด ไม่ได้มีการจัดทำสำมะโน และเพื่อให้ได้ข้อมูลผลผลิตทางการทำประมงน้ำจืด จึงได้วางแผนการสำรวจผลิตเพื่อให้ครอบคลุมกิจกรรมการทำประมงน้ำจืดทั้งหมดของประเทศ โดยแบ่งการสำรวจเป็น 2 การสำรวจด้วยกันคือ

4.1 การสำรวจผลผลิตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด โดยเริ่มการจัดทำทะเบียนผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ตามชนิดสัตว์น้ำ และเนื้อที่การเลี้ยงในปี 2517 และใช้วิธีการสุ่มเลือกตัวย่างเพื่อประเมินผลผลิตจากการเพาะเลี้ยง

4.2 การสำรวจผลผลิตจากการจับสัตว์น้ำจืดจากแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยเริ่มดำเนินการจัดทำทะเบียนแหล่งน้ำธรรมชาติ และเพื่อแหล่งน้ำ แล้วดำเนินการสุ่มเลือกตัวอย่างเพื่อประเมินผลการจับสัตว์น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ

4.3 การสำรวจปริมาณสัตว์น้ำที่นำมาขึ้นที่ท่าขึ้นปลาที่สำคัญ เพื่อให้ได้ข้อมูลปริมาณสัตว์น้ำที่ผ่านท่าขึ้นปลาในจังหวัดต่าง ๆ จึงได้เริ่มดำเนิน การสำรวจตั้งแต่ปี 2516 เป็นต้นมา โดยวิธีการสำรวจโดยสุ่มเลือกท่าขึ้นปลาตัวอย่างและวันตัวอย่าง เพื่อประเมินปริมาณสัตว์น้ำที่ผ่านท่าเป็นรายเดือน

5. การสำรวจสถิติหน่วยธุรกิจการประมง เพื่อให้ทราบจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำประมง และโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ รวมทั้งปริมาณการใช้สัตว์น้ำในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ และการแปรรูปสัตว์น้ำ จึงได้ดำเนินการสำรวจตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา

 

 

การพัฒนา

ข้อมูลสถิติการประมงที่ถูกต้องแม่นยำนับได้ว่ามีความจำเป็นและสำคัญต่อการบริหารจัดการ การกำหนดนโยบาย รวมทั้งมาตรการต่าง ๆ ตลอดจนแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาการอาชีพประมงของผู้บริหารระดับสูง เพื่อใช้ประกอบในการตัดสินใจ ซึ่งยังมีข้อมูลในภาคประมงบางส่วนที่สำคัญแต่ยังไม่มีผู้ทำการศึกษาหรือสำรวจ กลุ่มฯ จึงมีแนวคิดในการเสนอผลงานวิจัยในอนาคตดังนี้

1. โครงการวิจัยในเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นสนใจในช่วงเวลานั้นๆ โดยทำการศึกษาวางแผนการวิจัยให้ถูกต้องตามหลักสถิติและนำข้อมูลมาวิเคราะห์รวมทั้งสรุปผล เพื่อจะได้นำไปใช้ในการบริหารจัดการต่อไป

2. ผลงานวิจัยในลักษณะอื่น ซึ่งอาจเป็นการพัฒนาแผนการสำรวจ การเลือกตัวอย่าง การกำหนดขนาดตัวอย่างที่เหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะการประมงในปัจจุบัน เช่น การใช้ครัวเรือนประมงมาใช้เป็นกรอบตัวอย่างในการสำรวจสถิติประมงน้ำจืดจากธรรมชาติ การใช้พื้นที่เลี้ยงจากแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม (GIS) มาเป็นกรอบตัวอย่างในการสำรวจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น

ความร่วมมือระหว่างประเทศ

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกขององค์กรระหว่างประเทศ มีภารกิจที่ต้องดำเนินการจัดทำข้อมูลสถิติของประเทศไทยที่ประกอบด้วยข้อมูลทางด้านภูมิศาสตร์เศรษฐกิจการประมง ข้อมูลพื้นฐานทางด้านการประมง รวมทั้งข้อมูลด้านการผลิตทางการประมงของประเทศ ให้แก่องค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำหนังสือสถิติการประมง ดังรายการต่อไปนี้

1. จัดทำข้อมูลสถิติการประมงของประเทศไทยให้แก่ศูนย์พัฒนาการประมงแห่ง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia Development Center – SEAFDEC) เพื่อจัดทำหนังสือ FISHERY STATISTICAL BULLETIN FOR THE SOUTH CHINA SEA AREA และ THE CATCH EFFORT STATISTICS FOR THE SOUTH CHINA SEA AREA เป็นประจำปี

2. จัดทำข้อมูลสถิติการประมงของประเทศไทยให้แก่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of United Nation – FAO) เพื่อจัดทำ FAO YEARBOOK จำนวน 3 ฉบับ คือ FISHERY ATATISTICS CAPTURE PRODUCT, FISHERY STATISTICS AQUACULTURE PRODUCT และ EXPORT AND IMPORT FISHERY COMMODITY เป็นประจำปี

3. จัดส่งข้อมูลปริมาณการจับปลาโอดำ ปลาโอลาย และการลงแรงทำการประมงใน แหล่งทำการประมงฝั่งมหาสมุทรอินเดีย และข้อมูลปลาทูน่าที่เรือประมงต่างชาติมาขนถ่ายที่ท่าเทียบเรือที่จังหวัดภูเก็ต ให้แก่องค์กร คณะกรรมาธิการบริหารและจัดการทรัพยากรปลาทูน่าในมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ccean Commission-IOTC)

4. นอกจากนี้ยังได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมฝึกอบรม ประชุมสัมมนาที่จัดโดย FAO และ SEAFDEC ในหัวข้อเกี่ยวกับ FISHERY STATISTICS เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำข้อมูลสถิติ และวางระบบการจัดทำสถิติให้เป็นมาตรฐานเดียวในกลุ่มประเทศสมาชิก